กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดชี้ "รถหัดเดิน" ทำเด็กเดินได้ช้ากว่าพัฒนาการ แนะใช้ "คอกกั้น" ให้ลูกฝึกคลาน ปลอดภัยที่สุด แต่ควรระวัง ห้ามทิ้งลูกเพียงลำพังใน “คอกกั้น” เกิน 30 นาที ต่อวัน ....
จากกรณีข่าวน่าสลดใจ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 62 เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสิบล้อทับเด็กน้อยวัย 8 เดือนเสียชีวิต ในจ.สมุทรปราการ สาเหตุจาก “รถหัดเดิน” ไหลจากบ้านมาบนถนน สร้างความเสียใจแก่ครอบครัวอย่างมาก โดยเฉพาะ “แม่” ร่ำไห้ใจจะขาด เพราะไม่ทันระวัง มัวแต่พิมพ์ไลน์ คลาดสายตาจากลูกเพียงนิดเดียว ต้องพรากจากลูกไปตลอดชีวิต
ฟังชัดๆ “รถหัดเดิน” แฝงอันตรายอื่นๆ ที่ไม่คาดคิด
น้อยคนจะรู้ว่า "รถหัดเดิน" มีอันตรายต่อพัฒนาการของลูก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด เผยข้อมูลกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า รถหัดเดิน ส่งผลให้เดินช้าและเดินผิดวิธี
...
นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอันตรายอื่นๆ ที่ไม่คาดคิด อาทิ ลูกเขย่งและเอียงตัวพยายามเอื้อมหยิบของที่อยู่สูง หรือหากไถรถเร็วๆ สะดุดพื้น หรือพื้นต่างระดับ จะทำให้รถเอียงพลิกคว่ำได้ง่าย หรืออาจไถลจนพลัดตกบันได หรือ รถวิ่งพุ่งไปชนกระจกตู้ตกมาแตก ชนโต๊ะ โดนน้ำร้อนลวก เป็นต้น
“พ่อแม่มักเข้าใจผิดคิดว่าลูกอยู่ในรถหัดเดินจะเดินเก่งขึ้น แต่จริงๆ แล้วเวลาลูกอยู่ในรถหัดเดิน จะเดินเขย่งด้วยปลายเท้า ไม่ลงน้ำหนักเต็มเท้า เพราะความเร็วของรถ ส่งผลให้ลูกไม่เรียนรู้วิธีรักษาสมดุลของร่างกาย เวลาอยากให้รถเคลื่อน ลูกจะเอาหัวพุ่งไปก่อน ซึ่งเวลาเดินจริง ถ้าหัวพุ่งไปก่อน จะทรงตัวไม่ได้ อาจเดินเองได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ แต่หากพ่อแม่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เวลาทำงานบ้าน ไม่สามารถอุ้มลูกไว้ตลอดเวลา ต้องจัดสถานที่รอบๆ ให้ปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวาง ทางต่างระดับ ข้าวของเครื่องใช้ที่ก่ออันตราย หรือกั้นบันไดเพื่อความปลอดภัย หรือถอดล้อออก เพื่อไม่ให้รถเคลื่อนที่ ใช้เป็นที่นั่งเล่นของลูก ฝึกการทรงตัวได้” พญ.สุธีราอธิบาย
3 ข้อพิจารณา “คอกกั้น” Safe Zone ที่ดีต่อ “ลูก”
เพื่อความปลอดภัย และเหมาะสมกับพัฒนาการของลูกในการฝึกคืบ คลาน เกาะเดิน กุมารแพทย์ แนะใช้ “คอกกั้น” (playpen) แทนการให้ลูกนั่งอยู่กับที่บน “รถเข็น” วิธีเลือกคอกกั้นมีข้อพิจารณา ดังนี้
1. ขนาดเหมาะสม ไม่เล็กกว่าเตียงนอน เพราะต้องใช้เป็นทั้งที่นั่งเล่น ฝึกคืบ คลาน เดิน นอน มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือทรงกลมก็ได้ การให้ลูกอยู่ในคอกกั้นขนาดเล็ก อาจจำกัดพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกที่ไม่แตกต่างจากการให้อยู่ในเก้าอี้ หรือรถเข็น
...
2. คอกกั้นอาจเลือกเป็นตาข่าย เบาะ หรือซี่กรงทำจากไม้ หรือ PVC ที่บุให้นิ่ม กันการกระแทก
3. พื้นผิววัสดุควรเป็นชนิดทำความสะอาดง่าย ปลอดภัยได้มาตรฐานการผลิต ปลอดสารพิษ เช่น สารปิโตรเลียมซึ่งมีอยู่ในโฟม สารธาเลตที่มีอยู่ในหนังเทียม PVC เพราะลูกมีโอกาสเลีย หรือกัดวัสดุเหล่านี้
“ถ้าไม่ได้ให้ลูกอยู่ในคอกกั้น พื้นอาจสกปรกเพราะคนเดินไปเดินมา สิ่งของต่างๆ ที่วางในบ้านอาจเป็นอันตราย ลูกอาจหยิบเข้าปาก ถ้ามีเด็กโตเล่นแถวนั้นก็อาจไปทับลูก คอกกั้นจะเป็นเหมือน Safe Zone ให้ลูกได้ในระดับหนึ่ง คอกกั้นแบบตาข่าย ข้อดีคือพับเก็บง่าย ราคาไม่แพง แต่มักมีขนาดเล็ก ทำให้มีพื้นที่การเคลื่อนไหวของลูกได้ไม่เต็มที่ และตาข่ายไม่มั่นคง เวลาเกาะทำได้ยากกว่า ถ้าเป็น PvC ก็ต้องระวัง เพราะทำมาจากสารปิโตรเลียม เพราะบางทีเด็กก็จะมีการเลีย ถ้าเป็นซี่กรงก็ต้องระวังว่าหัวไปติดได้” พญ.สุธีราชี้แนะ
...
30 นาที ต่อวัน ข้อควรระวัง “คอกกั้น” ท่องจำขึ้นใจ
หากพ่อ แม่ บางคนกลัวว่าการให้ลูกเล่นอยู่ในคอกกั้น จะเกิดผลเสียให้ขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว เพราะถุกจำกัดบริเวณ สำหรับข้อกังวลนี้ พญ.สุธีรา แนะว่า ถ้าให้ลูกอยู่ในคอกกั้นตามลำพัง ไม่ควรนานเกิน 30 นาทีต่อวัน จะทำให้ลูก “ขาดปฏิสัมพันธ์” กับคนรอบข้าง ส่งผลต่อพัฒนาการ รู้สึกถูกทอดทิ้ง ถ้ามีพ่อแม่เล่นอยู่ด้วย จะอยู่ในนั้นนานเท่าไรก็ได้
แต่ไม่ควรให้ลูกอยู่ในคอกกั้นตลอดเวลา จะทำให้ลูก “ขาดการเรียนรู้” ในชีวิตจริงว่ามีอะไรที่ต้องระวังบ้าง และห้ามใช้คอกกั้นเป็นลงโทษกักบริเวณเวลาลูกทำผิด จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับคอกกั้น ควรทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่ได้เล่นในคอกกั้นอย่างมีความสุข โดยเฉพาะช่วงเวลาได้เล่นด้วยกันกับพ่อ แม่
...
“บางคนอาจคิดว่าไม่ต้องมีคอกกั้น ให้ลูกอยู่ในรถเข็นก็พอ ถ้าลูกอยู่แต่ในรถเข็นก็จะอยู่ในอิริยาบถนั่งอย่างเดียว พัฒนาการถูกกีดกั้น ถ้าคอกกั้นมีขนาดใหญ่พอ พ่อแม่เข้าไปเล่นกับลูกได้ ทำให้ลูกไม่รู้สึกว้าเหว่ หรือถูกทอดทิ้ง หลังพ่อแม่ไปทำกับข้าว อาบน้ำ ทำธุระส่วนตัว กลับมาก็มีปฏิสัมพันธ์กับลูกในคอกกั้น จะนานแค่ไหนก็ได้ ” กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดชี้แนะ
เริ่ม เลิก ถูกที่ ถูกเวลา ลูกไม่งอแง หากอยู่ใน “คอก”
สำหรับอีกข้อกังวลนี้ที่พ่อแม่มือใหม่กังวล พญ.สุธีรา อธิบายว่า อายุของลูกที่เหมาะสมในการฝีกใช้ “คอก” คือตั้งแต่ 3 เดือน จนถึงอายุประมาณ 2 ขวบ แต่ควรระวังห้ามใช้ในกรณีที่ลูกปีนคอกได้แล้ว เพราะอาจพลัดตกจนเกิดอุบัติเหตุได้ และควรให้ลูกออกนอกคอกเวลาที่เริ่มเบื่อ แต่ไม่ต้องรีบให้ลูกออกมาจากคอกตั้งแต่ลูกส่งสัญญาณครั้งแรก ให้ใช้วิธีหาของเล่นชิ้นใหม่ให้ลูกเล่น เพื่อให้ชินและสนุกกับการอยู่ในคอก และอาจเล่นต่อได้อีก 1 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี ควรให้ลูกมีช่วงเวลาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมนอกคอกด้วย เพื่อฝึกพัฒนาการ เช่น ปีนป่าย จับสิ่งของ โดยต้องมีพ่อแม่ประกบตลอดเวลา เพื่อคอยรับ บอก สอน ถึงอันตราย วิธีเดินโดยต้องระวังอันตราย เช่น มุมโต๊ะ สอนไม่ให้หยิบของเข้าปาก อาจสำลักลงหลอดลม
“เวลาเหมาะสมให้ลูกชินกับการเล่นอยู่ในคอก ทำได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน หากเริ่มช้ากว่านี้เด็กอาจไม่ยอมอยู่ในคอก เพราะเหมือนถูกกักขัง ถ้าลูกอายุเกิน 2 ปี เวลาอยู่ในคอกกั้น ต้องคอยดู ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย เพราะเริ่มปีนป่ายได้ การทำความสะอาดคอก ต้องระวังฝุ่น คราบน้ำลาย อุจจาระ ปัสสาวะ เพราะลูกต้องเลียอยู่แล้ว” พญ.สุธีรากล่าวทิ้งท้าย
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ