“เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” รหัสประจำเรือ 471 ประเภท “เรือฟริเกต” ถือเป็นเรือรบไทยปัจจุบันที่มีสมรรถนะสูง มีขีดความสามารถที่หลากหลาย โดยกองทัพเรือ ได้สั่งสร้างเรือฟริเกตจากบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD. (DSME) จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี ในวงเงิน 14,600 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการสร้าง 4 ปี 6 เดือน โดยเพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือที่ถูกสร้างขึ้นมาทดแทน “เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ซึ่งได้ปลดประจำการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2560 หลังปฏิบัติภารกิจมาเป็นระยะเวลานานถึง 23 ปี แต่ถ้านับอายุการใช้งานตัวเรือตั้งแต่เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อ 1 มิ.ย. 2517 เรือจะมีอายุการใช้งานถึง 43 ปี ซึ่งเก่าและมีระบบอาวุธและอุปกรณ์ที่ล้าสมัยแล้วในปัจจุบัน
สำหรับเรือฟริเกตลำนี้ มีความยาว 124.1 เมตร ความกว้าง 14.40 เมตร มีระวางขับน้ำ 3,700 ตัน สามารถปฏิบัติการทางทะเลได้ 21 วัน โดยที่ไม่ต้องรับการส่งบำรุงเลย สามารถทนต่อคลื่นลมรุนแรงได้ในระดับ 8 ความสูงคลื่น 12 เมตร ความเร็วลม 60 นอต เครื่องยนต์ 2 เครื่องยนต์ดีเซล MTU รุ่น 16V1163 M94 กำลัง 8,000 แรงม้า 1 เครื่องยนต์กังหันก๊าซ General Electric รุ่น LM2500 กำลัง 29,000 แรงม้า ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต พิสัยปฏิบัติการ 4,000 ไมล์ทะเล ลูกเรือ 141 นาย
...
นาวาเอก สมิทนัท คุณวัฒน์ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยถึงเขี้ยวเล็บสำคัญของเรือหลวงลำนี้ ว่า เป็นเรื่องของการตรวจจับเป้าอากาศ เป้าพื้นน้ำ หรือเป้าใต้น้ำ ในระยะไกล นำมาสู่เรื่องของการพิสูจน์ทราบที่ทันสมัย มีความน่าเชื่อถือได้
และความสามารถในการโจมตีที่สามารถปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำด้วยตอร์ปิโด และอาวุธระยะไกล การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ รวมถึงสามารถบังคับสนับสนุนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในทะเล ทำให้ปัจจุบันเรือหลวงภูมิพลฯ ถือเป็นเรือที่มีสมรรถนะสูงที่สุดของกองทัพเรือไทย เป็นเรือฟริเกตที่มีขีดความสามารถเทียบเท่ากับเรือรบของนานาชาติ
รองรับ ฮ.ซีฮอว์ก 1 ลำ ดัดแปลงโรงเก็บ ฮ. เป็นที่พักผู้ประสบภัย 100 คน
นอกจากนี้ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรือลำดังกล่าวยังมีขีดความสามารถในเรื่องของ “การบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล” โดยเรือลำนี้สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์นำ้หนักไม่เกิน 10 ตัน เป็น “ฮ.ซีฮอว์ก” และมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ สามารถนำส่งผู้ป่วยจากบนฝั่งมายังเรือ หรือจากเรือไปยังฝั่ง โดยในเรือมีห้องพยาบาลและสามารถดัดแปลงโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ เป็นที่พักผู้ประสบภัยชั่วคราวได้ประมาณ 100 คน
เรียนรู้จากผู้ผลิต ตั้งเป้า ทร.ไทยต่อเรือฟริเกตใช้เอง
นาวาเอก สมิทนัท เผยต่อว่า ตั้งแต่เริ่มต่อเรือเมื่อ 4 ปีกว่าๆ นั้น กองทัพเรือได้ส่งกำลังพลชุดหนึ่งไปเรียนรู้เทคโนโลยีในการต่อเรือ เพราะว่าการต่อเรือรบขนาดใหญ่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และประเทศไทยก็มีขีดความสามารถในการสร้างเรือได้ ดังนั้น จึงส่งกำลังพลไปเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายว่า อนาคตจะสามารถต่อเรือฟริเกตที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างซับซ้อนได้เองภายในประเทศ
...
นอกจากนี้ กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการซ่อมเรือขนาดใหญ่อยู่แล้ว โดยมีอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ที่ จ.สมุทรปราการ มีอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ที่สัตหีบ เป็นอู่ขนาดใหญ่ สามารถซ่อมได้ถึงเรือหลวงจักรีนฤเบศร ส่วนเรือหลวงภูมิพลฯ นั้น ทางกองทัพเรือได้ทำแผนการซ่อมแล้ว โดยจะนำไปซ่อมที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช เนื่องจากมีอู่แห้งขนาดใหญ่สามารถนำเรือฟริเกตลำนี้เข้าไปซ่อมได้ โดยใช้กำลังพลไทย เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการส่งกำลังพลไปเรียนรู้ยังบริษัทผู้ผลิตมาก่อนแล้ว
Mission ต่อไป! ลาดตระเวนคุ้มครองน่านน้ำไทย
นาวาเอก สมิทนัท กล่าวว่า สำหรับภารกิจของเรือหลวงภูมิพลฯ ที่ผ่านมา เป็นเรื่องของการฝึกกำลังพลให้มีความชำนาญในเรื่องของการใช้เรือ รวมถึงฝึกให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการร่วมกับเรือรบลำอื่นๆ และอากาศยานของกองทัพเรือด้วย
...
ส่วนภารกิจต่อไป จะเป็นการปฏิบัติราชการของทัพเรือภาค การลาดตระเวนคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การคุ้มครองรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล หรือการฝึกร่วมกับต่างชาติ
เปิดโปรไฟล์ไม่ธรรมดา ผู้การ ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช คนแรก!
ขณะที่ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชคนแรก โปรไฟล์ไม่ธรรมดา เนื่องจากที่ผ่านมากว่า 20 ปี ได้ปฏิบัติการบนเรือมาแล้วหลายลำ ทั้งเรือหลวงหนองสาหร่าย เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน ศึกษาเรื่องการรบผิวน้ำในประเทศสหรัฐฯ ครูฝึกกองการฝึกที่กองเรือยุทธการ ก่อนจะเข้ามาเป็นผู้บังคับการเรือตรวจการชายฝั่ง 101 ผู้บังคับการเรือหลวงมกุฎราชกุมาร และหัวหน้ายุทธการและข่าว ฐานทัพเรือกรุงเทพ
นาวาเอก สมิทนัท กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างเรือรบยุคเก่ากับเรือรบยุคใหม่นั้น เรือรบยุคใหม่จะมีขีดความสามารถที่ทันสมัยกว่า ใช้ระบบเน็ตเวิร์กมากขึ้น ในเรือมีอุปกรณ์เทคนิคมากมาย กำลังพลต้องมีความรู้ ความชำนาญ เพราะอุปกรณ์ระบบ Manual ต่างๆ ลดน้อยลง ซึ่งคนที่จะมาเป็นผู้การเรือได้นั้น จะต้องรู้และเข้าใจอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเรือ สามารถใช้งานได้ แต่ไม่ถึงขนาดที่ว่าชำนาญในอุปกรณ์ทุกอย่างบนเรือ เนื่องจากมีกำลังพลที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่แล้ว
...
“ทหารเรือทุกนายอยากจะมีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตมาเป็นกำลังพลรับเรือ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือกมาเป็นกำลังพลรับเรือ ส่วนผู้บังคับการเรือเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบค่อนข้างมาก ทั้งยุทโธปกรณ์ กำลังพล และภารกิจ เหนือสิ่งอื่นใด เรือลำนี้ได้รับพระราชทานชื่อเรือ สร้างความปลื้มปีติสู่กำลังพลทุกคนอย่างหาที่สุดมิได้” ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชคนแรก กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
2 คนก็ออกเรือได้! ส่องห้อง CCS ควบคุมระบบเครื่องจักรสุดไฮเทค
นาวาโท กำชัย เจริญพงศ์ชัย ต้นกลเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการแผนกช่างกล ทั้งเครื่องจักรขับเคลื่อน เครื่องจักรช่วย ระบบป้องกันความเสียหายต่างๆ ของเรือ รวมถึงเรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง และไฟฟ้ากำลัง
ความสำคัญของต้นกลเรือนั้น จะดูแลอุปกรณ์ทุกชนิดที่เกี่ยวกับการเดินเรือ การขับเคลื่อนเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ภายในเรือ ความเป็นอยู่ของกำลังพลในเรือ ไม่ว่าจะเป็นระบบเครื่องปรับอากาศ ห้องเสบียง ระบบไฟฟ้า น้ำกินน้ำใช้
นาวาโท กำชัย อธิบายว่า ภายในห้องทำงานของต้นกลเรือ มีชื่อเรียกว่า ห้องควบคุมเครื่องจักร หรือ Central Control Station (CCS) เปรียบเสมือนหัวใจหลักของระบบเครื่องจักรเรือ ควบคุมระบบทั้งหมด 4 ระบบ คือ ระบบขับเคลื่อนเรือ ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องจักรช่วย ระบบป้องกันความเสียหาย โดยไฮไลต์ของห้องนี้ คือ สามารถที่จะสั่งการทุกอย่างได้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เป็นสาเหตุที่เรือลำนี้ใช้กำลังพลน้อยกว่าเรือฟริเกตทั่วไป โดยประจำการปกติ 5 นาย แต่หากมีกำลังพลแค่ 2 นายก็สามารถออกเรือได้แล้ว
ต้นกลเรือหลวงภูมิพลฯ เผยด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ประจำการบนเรือมาแล้วหลายลำ ทั้งเรือฟริเกตและเรือคอร์เวต โดยเป็นนายช่างกลและรองต้นกลเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย รองต้นกลเรือหลวงสุโขทัย ต้นกลเรือหลวงรัตนโกสินทร์
“ผมอยู่ในเรือยุคหลังสงครามเย็นเป็นเรือรุ่นเก่า เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังเป็นเรือที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบไอน้ำ ใช้ความร้อนจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ เพื่อไปต้มน้ำให้เดือด และใช้ไอน้ำไปหมุนเครื่องกังหันที่จะให้เรือแล่นไปข้างหน้า ซึ่งระบบต่างๆ จะเป็นระบบที่ควบคุมด้วยคน มีการเปิดวาล์วต่างๆ ด้วยมือ ส่วนลำนี้ทุกอย่างจะควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม สามารถสั่งการจากหน้าจอได้ทันที ซึ่งตรงนี้ได้ไปรับการอบรมที่บริษัทผู้ผลิต โดยจะสอนเกี่ยวกับเรื่องเครื่องจักรแต่ละชนิดทำอะไร ต้องดูแลแบบไหนบ้างครับ” นาวาโท กำชัย อธิบายถึงความแตกต่าง
ชีวิตความเป็นอยู่บนเรือหลวงฯ กำลังพลต้องมี “สุขอนามัย” ที่ดี
การปฏิบัติภารกิจแต่ละครั้ง ระยะเวลา 3 วันบ้าง 1 เดือนบ้าง ต้องกิน นอนอยู่บนเรือตลอด ดังนั้น สิ่งที่สำคัญของชีวิตกำลังพล คือ สุขอนามัย นาวาโท กำชัย เผยว่า เรือลำนี้ความเป็นอยู่ค่อนข้างสะดวกสบาย มีเครื่องปรับอากาศ มีน้ำอุ่น ห้องนอนมีอยู่แล้วสำหรับกำลังพลที่ออกเวร ทุกคนจะกินนอนบนเรือ มีความสะดวกสบายพอสมควร
เมื่อถามว่า แตกต่างจากเรือลำอื่นหรือไม่นั้น นาวาโท กำชัย เผยว่า ในแต่ละลำพื้นที่ของห้องนอนก็จะแตกต่างกันตามขนาดของเรือ ซึ่งเรือลำนี้ต่อด้วยขนาดมาตรฐาน จะมีขนาดของห้องพักอาศัยตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้กำลังพลรู้สึกสบาย ไม่เกิดความเครียด ถูกสุขลักษณะ
“เป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสไปรับเรือที่ประเทศผู้ผลิต เป็นความใฝ่ฝันของทหารเรือทุกคนเลยก็ว่าได้ และเรือลำนี้เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ถือเป็นเรือที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพเรือขณะนี้ สามารถเทียบเคียงกองทัพเรือชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ และนามของเรือที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้กำลังพลทุกคนเกิดความภาคภูมิใจครับ” ต้นกลเรือหลวงภูมิพลฯ กล่าวถึงความภาคภูมิใจ
สุดยอดเขี้ยวเล็บ “ร.ล.ภูมิพลฯ” รบแบบ 3 มิติ ยุทโธปกรณ์ล้ำสมัย
ด้าน นาวาตรี เทพรัตน์ โตบาง นายทหารการอาวุธเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีหน้าที่ในการบังคับบัญชากำลังพลในแผนกอาวุธและการเรือ ในการใช้อาวุธของเรือและการดูแลรักษาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ตลอดเวลา
สำหรับเขี้ยวเล็บที่สำคัญของเรือหลวงภูมิพลฯ นั้น แบ่งเป็นภัยคุกคาม 3 มิติ คือ...
ภัยคุกคามผิวน้ำ
อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น Surface to Surface Missile แบบ Harpoon มีอำนาจการทำลายล้างในระยะยิงที่ไกล
ภัยคุกคามทางอากาศ
อาวุธปล่อยนำวิถีจากพื้นสู่อากาศ Evolved Sea Sparrow Missile หรือ ESSM ใช้สำหรับยิงเครื่องบินศัตรู หรืออาวุธปล่อยนำวิถีของศัตรูที่ยิงเข้าหาเรือ
ภัยคุกคามใต้น้ำ
อาวุธในการปราบเรือดำน้ำ ประกอบด้วย ตอร์ปิโด Mk.54 เป็นตอร์ปิโดใหม่ล่าสุดที่ใช้ในภูมิภาคนี้ ใช้สำหรับโจมตีเรือดำน้ำแบบดีเซลไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังมีอาวุธปืนประจำเรือ 76/62 mm Super Rapid Multifeed มีอัตราความเร็วสูง สามารถยิงได้ทั้งเรือรบผิวน้ำและอากาศยาน รวมทั้งอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) หรือที่รู้จักในชื่อฟาลังซ์ และระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์
“เรือหลวงภูมิพลฯ เป็นเรือที่มีอาวุธ เทคโนโลยี ขีดความสามารถสูงที่สุดในประเทศไทย อาวุธแต่ละอย่างที่ใช้เป็นอาวุธที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการทหารเรือทุกชนิด รวมทั้งในภูมิภาคนี้ยังไม่มีใครใช้อาวุธที่เรามี ซึ่งทันสมัยที่สุด นอกจากนี้ อาวุธทุกชนิดที่ติดตั้งนั้นได้มีการทดลองใช้แล้วที่สาธารณรัฐเกาหลี เป็นการทดสอบเรือตามเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละอาวุธต่างๆ อยู่แล้ว” นายทหารการอาวุธ อธิบาย
สำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ได้เข้าประจำการอยู่เรือต่างๆ เริ่มตั้งแต่กองเรือทุ่นระเบิด การล่าทำลายทุ่นระเบิด ต่อมา ได้มีโอกาสทำงานที่กองเรือตรวจอ่าว เคยไปประจำอยู่ที่กองเรือดำน้ำ และได้รับการคัดเลือกให้มารับเรือประจำเรือหลวงภูมิพลฯ ลำนี้
“เป็นความภาคภูมิใจของทหารเรือทุกนายที่ได้รับคัดเลือกเป็นกำลังพลชุดแรกของเรือลำใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรือที่มีประสิทธิภาพ สมรรถนะสูง และเป็นเรือที่ต่อจากต่างประเทศ สามารถเดินทางไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ ได้นำความรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยเข้ามาใช้กับกองทัพเรือไทย สามารถมาเผยแพร่ให้กับกำลังพลรุ่นหลังๆ ในการปฏิบัติงานป้องกันประเทศ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง” นายทหารการอาวุธ กล่าว
ทำไม “ประเทศไทย” จำเป็นต้องมี “เรือรบ”?
กองทัพเรือไทยได้มีการเสริมทัพอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีขีดความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ โดยผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช อธิบายว่า ในทะเลไทยมีพื้นที่มากกว่า 300,000 ตร.กม. ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่ามากมาย ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
ขณะที่ เรือรบเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่อยู่ในท้องทะเล มีขีดความสามารถมากมายทั้งการลาดตระเวน ตรวจการ คุ้มครอง และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ถ้าไม่มีเรือใครจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีต่างชาติเข้ามาริดรอนผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะฉะนั้น เรือรบจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และกำลังพลของไทยก็มีขีดความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน