จากกรณีที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศปรับลดน้ำหนักสัมภาระ(ค่าโหลดกระเป๋า) ที่ผู้โดยสารนำขึ้นเครื่องโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายลง สำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารชั้นประหยัด Economy Class ซึ่งเป็นตั๋วราคาพิเศษ หรือตั๋วโปร ที่มีรหัส L, W และ V จะได้รับอนุญาตน้ำหนักขึ้นเครื่องเหลือ 20 กิโลกรัม จากเดิม 30 กิโลกรัม หรือปรับลดลง 10 กิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.62 เป็นต้นไปนั้น
การปรับลดน้ำหนักกระเป๋าในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเกี่ยวกับอัตราพิกัดน้ำหนักสัมภาระที่ผู้โดยสารนำขึ้นเครื่อง โดยหวังลดต้นทุนน้ำมัน เพราะยิ่งเครื่องหนัก ก็ยิ่งเปลืองน้ำมัน
เราลองมาดูกันว่าในแต่ละสายการบินนั้น จะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
จากข้อมูลที่บริษัททั้ง 4 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส แอร์เอเชีย และนกแอร์ ได้ยื่นให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มีต้นทุนต่างๆ ดังนี้
- ค่าน้ำมัน
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับนักบินและลูกเรือ
- ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน
- ค่าเช่าเครื่องบินและเครื่องยนต์
- ค่าใช้บริการในสนามบินและลานจอด
- ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา
- ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ
- ค่าใช้บริการภาคพื้นและจัดจำหน่าย
- ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ในแต่ละสายการบิน "ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน" ถือเป็นต้นทุนสูงสุดของต้นทุนรวมทั้งหมด
...
ยิ่งเครื่องบินแบกน้ำหนักมาก จะยิ่งเปลืองน้ำมันจริงหรือ?
กัปตันมากประสบการณ์รายหนึ่ง ได้ยกตัวอย่างกรณีที่เครื่องบินต้องแบกรับน้ำหนักเพิ่ม จะต้องเสียค่าน้ำมันเท่าไรนั้น
โดยทั่วไป น้ำหนักบรรทุกเพิ่มขึ้น 1 ตัน (1,000 กก.) เครื่องบินจะกินน้ำมันเพิ่มขึ้น 20-40 กก./ชม. (ขึ้นอยู่กับแบบเครื่องบิน)
ตัวอย่าง
"เที่ยวบิน A ใช้เครื่องบิน บินจากกรุงเทพฯ ไป ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาบิน 6 ชั่วโมง
ถ้าน้ำหนักบรรทุก เพิ่มขึ้น 2 ตัน จะกินน้ำมันเท่ากับ 240-480 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน
ถ้าน้ำมันตันละ 30,000 บาท คิดเป็นต้นทุน 7,200-14,400 บาทต่อเที่ยวบิน"
ขณะที่ ภาพรวมสถานการณ์ธุรกิจการบินของ 4 สายการบินหลักนั้น จะเป็นอย่างไรกันบ้าง และแต่ละสายการบินอนุญาตน้ำหนักกระเป๋าได้เท่าไร...
การบินไทย
สำหรับผลการดำเนินงานของ บมจ.การบินไทย และบริษัทย่อย ในปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสาร 24.32 ล้านคน อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร 77.6% มีฝูงบินให้บริการ จำนวน 103 ลำ อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ส่วนค่าน้ำมันเครื่องบิน จำนวน 60,096 ล้านบาท หรือ 28.8% ของค่าใช้จ่ายรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,881 ล้านบาท หรือ 19.7% สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเครื่องบินเฉลี่ยสูงกว่าปีก่อน 30.1% ถึงแม้ว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่า ทำให้ค่าน้ำมันเมื่อคำนวณเป็นเงินบาทลดลง
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงงบการเงินของ บมจ.การบินไทย ปี 2561 มีรายได้รวม 200,585 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 207,684 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท
สัมภาระถือขึ้นเครื่องฟรี : 5 กก.
สัมภาระที่โหลดใต้เครื่องฟรี : ในประเทศ ชั้นประหยัด 20 กก. เริ่ม 1 เม.ย.62 เป็นต้นไป ชั้นธุรกิจ 40 กก. ระหว่างประเทศ ชั้นประหยัด 20 กก. ชั้นธุรกิจ 40 กก. ชั้น First Class 50 กก.
ยกเว้น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ค่าธรรมเนียมน้ำหนักสัมภาระ : ในประเทศ 55-125 บาทต่อกิโลกรัม ระหว่างประเทศ 12-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม
* ข้อมูลจาก www.thaiairways.com, รายงานประจำปี 2560, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บางกอก แอร์เวย์ส
สำหรับผลการดำเนินงานของ บมจ.การบินกรุงเทพ ในปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสาร 5.95 ล้านคน อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร 68.6% มีฝูงบินให้บริการ จำนวน 40 ลำ จำนวนเที่ยวบิน 71,379 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 47,313 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 24,066 เที่ยวบิน อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 8.8 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 4,934 ล้านบาท คิดเป็น 18.6% ของต้นทุนรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับตัวที่สูงขึ้นของราคาน้ำมันเฉลี่ยตามราคาตลาด และภาษีสรรพสามิตสำหรับเส้นทางภายในประเทศ
...
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงงบการเงินของ บมจ.การบินกรุงเทพ ปี 2561 มีรายได้รวม 28,746 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 26,515 ล้านบาท กำไรสุทธิ 263 ล้านบาท
สัมภาระถือขึ้นเครื่องฟรี : 7 กก.
สัมภาระที่โหลดใต้เครื่องฟรี : ในประเทศ ชั้นประหยัด 20 กก. ชั้นธุรกิจ 40 กก.
ค่าธรรมเนียมน้ำหนักสัมภาระ : ในประเทศ 90 บาทต่อกิโลกรัม ระหว่างประเทศ 8-56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม
* ข้อมูลจาก www.bangkokair.com, รายงานประจำปี 2560, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แอร์เอเชีย
สำหรับผลการดำเนินงานของ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ในปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสาร 21.57 ล้านคน อัตราการขนส่งผู้โดยสาร 85% มีฝูงบินให้บริการ จำนวน 62 ลำ ส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 14,635 ล้านบาท คิดเป็น 37% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
...
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงงบการเงินของ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ปี 2561 มีรายได้รวม 40,200 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 39,540 ล้านบาท กำไรสุทธิ 127 ล้านบาท
สัมภาระถือขึ้นเครื่องฟรี : 2 ชิ้น ไม่เกิน 7 กก.
สัมภาระที่โหลดใต้เครื่องฟรี : ในประเทศ ชั้นประหยัด 20 กก. ชั้นธุรกิจ 40 กก.
ค่าธรรมเนียมน้ำหนักสัมภาระ :
ในประเทศ 15 กก. = 388.5 บาท, 20 กก. = 409.5 บาท, 25 กก. = 504 บาท, 30 กก. = 829.6 บาท, 40 กก. = 1,092 บาท
ระหว่างประเทศ 20 กก. = 650 - 1,365 บาท, 25 กก. = 710 - 1,575 บาท, 30 กก. = 1,150 - 1,890 บาท, 40 กก. = 1,816 - 3,045 บาท
* ข้อมูลจาก www.airasia.com, รายงานประจำปี 2560, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นกแอร์
สำหรับผลการดำเนินงานของ บมจ.สายการบินนกแอร์ และบริษัทย่อย ในปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสาร 8.86 ล้านคน อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร 88.65% มีฝูงบินให้บริการ จำนวน 25 ลำ อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเฉลี่ย 9.36 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน
...
มีรายได้จากค่าโดยสาร 12,014.19 ล้านบาท หรือ 86.53% ของรายได้รวม แต่ลดลงจากปีก่อน 854.19 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินโดยรวมลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการบินแบบเช่าเหมาลำไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยโดยรวมลดลง จากสภาวะการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากรายได้จากการโหลดสัมภาระ และรายได้จากการให้บริการ ที่บริษัทได้เพิ่มกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บสัมภาระ การให้บริการขึ้นเครื่องก่อนใคร หรือ นกเฟิร์ส และบริการบนเครื่องบินที่ให้กับผู้โดยสาร ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
* ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงงบการเงินของ บมจ.สายการบินนกแอร ปี 2561 มีรายได้รวม 19,740 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 23,671 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,975 ล้านบาท
สัมภาระถือขึ้นเครื่องฟรี : 7 กก.
สัมภาระที่โหลดใต้เครื่องฟรี :
บินเบาๆ ในประเทศ 0 กก. ระหว่างประเทศ 0 กก. (ลูกค้านกสไมล์พลัส 10 กก.)
บินสบาย, บินเพลิดเพลิน ในประเทศ 20 กก. (ลูกค้านกสไมล์พลัส 25 กก.) ระหว่างประเทศ 20 กก. (ลูกค้านกสไมล์พลัส 30 กก.)
ค่าธรรมเนียมน้ำหนักสัมภาระ :
บินเบาๆ
ในประเทศ
ซื้อพร้อมตั๋ว : 15 กก. = 350 บาท, 20 กก. = 450 บาท, 25 กก. = 565 บาท, 30 กก. = 740 บาท, 35 กก. = 1,040 บาท, 40 กก.= 1,340 บาท
ซื้อเพิ่มหลังจากซื้อตั๋ว : 15 กก. = 400 บาท, 20 กก. = 625 บาท, 25 กก. = 865 บาท, 30 กก. = 1,075 บาท, 35 กก. = 1,410 บาท, 40 กก.,= 1,740 บาท
ระหว่างประเทศ
ซื้อพร้อมตั๋ว : 20 กก. = 600 บาท, 25 กก. = 710 บาท, 30 กก. = 960 บาท, 35 กก. = 1,210 บาท, 40 กก. = 1,485 บาท
ซื้อเพิ่มหลังจากซื้อตั๋ว : 20 กก. 990 บาท, 25 กก. 1,060 บาท, 30 กก. 1,110 บาท, 35 กก. 1,310 บาท, 40 กก. 1,585 บาท
บินสบาย บินเพลิดเพลิน
ในประเทศ
ซื้อพร้อมตั๋ว : 5 กก. = 100 บาท, 10 กก. = 200 บาท, 15 กก. 375 บาท, 20 กก. 550 บาท, 25 กก. 725 บาท
ซื้อเพิ่มหลังจากซื้อตั๋ว : 5 กก. = 220 บาท, 10 กก. = 545 บาท, 15 กก. 745 บาท, 20 กก. 1,080 บาท, 25 กก. 1,405 บาท
ระหว่างประเทศ
ซื้อพร้อมตั๋ว : 5 กก. = 110 บาท, 10 กก. = 360 บาท, 15 กก. = 610 บาท, 20 กก. = 885 บาท
ซื้อเพิ่มหลังจากซื้อตั๋ว : 5 กก. = 210 บาท, 10 กก. = 460 บาท, 15 กก. = 710 บาท, 20 กก. = 985 บาท
น้ำหนักสัมภาระลงทะเบียนที่สนามบินแบบเหมาจ่าย 15 กก. สำหรับบัตรโดยสารไม่มีน้ำหนักสัมภาระ (บินเบาๆ / Nok Lite ที่ไม่มีการซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม) ในประเทศ 900 บาท ระหว่างประเทศ 1,100 บาท
ค่าธรรมเนียมสัมภาระที่มีน้ำหนักเกิน : ในประเทศ 300 บาทต่อกิโลกรัม ระหว่างประเทศ 400 บาทต่อกิโลกรัม
น้ำหนักที่ได้รับมาพร้อมบัตรโดยสารและน้ำหนักที่ซื้อกระเป๋าเพิ่ม รวมกันทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 40 กิโลกรัม โดยน้ำหนักสัมภาระแต่ละใบจะต้องไม่เกิน 30 กิโลกรัม
*ข้อมูลจาก www.nokair.com, รายงานประจำปี 2560, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน