เมื่อพูดถึงทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ นั้น ก็คือ การบริจาคร่างกายให้กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็น “ครูใหญ่” ตามเจตจำนงที่ระบุไว้ในพินัยกรรม

ที่ผ่านมา มีหลายคนสงสัยว่าเพราะเหตุใดทำไมหลวงพ่อคูณ ถึงต้องบริจาคร่างกายให้กับทาง มข. ทั้งที่การบริจาคร่างกายนั้นสามารถทำได้หลายแห่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้เดินทางไปที่ “หอจดหมายเหตุ”

...

หลวงพ่อคูณกับ มข. บารมีที่ยิ่งใหญ่เพื่อชาวอีสาน

นายวันชาติ ภูมี นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ สำนักหอสมุด มข. คนที่เก็บเรื่องราวของหลวงพ่อคูณ ในห้องสมุด มข. ระบุว่า ความผูกพันของหลวงพ่อคูณกับจังหวัดขอนแก่นนั้น เท่าที่มีการเก็บข้อมูล เราทราบแต่เพียงว่า หลวงพ่อคูณ ได้เดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น หลักๆ คือ 2 ครั้ง (ไม่รวมกิจนิมนต์) ซึ่งครั้งแรกนั้น คือ การเดินทางมาบริจาคร่างกาย เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2536

นายวันชาติ ภูมี หัวหน้ากลุ่มภารกิจพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
นายวันชาติ ภูมี หัวหน้ากลุ่มภารกิจพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ

นายวันชาติ บอกว่า ก่อนที่หลวงพ่อคูณ จะเดินทางเข้ามา ท่านได้รับกิจนิมนต์ที่จังหวัดหนองคาย และผ่านทางที่ จ.ขอนแก่น ท่านได้ให้ลูกศิษย์ติดต่อกับทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่องที่จะเข้ามาบริจาคร่างกาย

จากนั้น วันที่ 6 ท่านก็เดินทางเข้ามาพร้อมกับลูกศิษย์ และได้มีความเมตตาอุทิศร่างกายให้ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้นำร่างมาเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นักศึกษาวิชาแพทย์ได้ศึกษาค้นคว้า อวัยวะในร่างกาย เพื่อเป็นประโยชน์ให้นักศึกษาแพทย์โดยวันนั้น ท่านได้เดินทางมาศึกษาข้อมูลด้วยตัวเองก่อน ได้มีการเดินดูศพ การผ่าศพของนักเรียนแพทย์ด้วยตัวเอง

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใด ท่านจึงเลือกที่ มข. แทนที่จะเลือกโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อาจารย์ประจำหอจดหมายเหตุ มข. เชื่อว่า ท่านมีความเมตตาต่อคนอีสาน การที่ท่านเลือกที่ มข. ส่วนหนึ่งมาจาก มข. เองเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์แห่งเดียวในภาคอีสาน ซึ่งการจะเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ได้ต้องมีมาตรฐาน ซึ่งที่นี่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการผ่าศพ

“เชื่อว่าส่วนหนึ่งท่านเลือกที่นี่เพราะต้องการพัฒนาความรู้ในแถบอีสาน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ หากท่านมรณภาพไป ร่างท่านอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายแน่ เพราะมีลูกศิษย์หลากหลายจำพวกที่เข้ามา ท่านจะเลือกทำพินัยกรรม เพื่อบริจาคร่างกาย และทำพิธีต่างๆ อย่างเรียบง่าย เหมือนกับท่านพุทธทาสภิกขุ แต่ถ้าจะเผาไปเลยอย่างท่านพุทธทาสฯ ก็จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากร่าง”นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ สำนักหอสมุด มข. กล่าว 

...

"เดี๋ยวกูจะไปอยู่กับมึงแล้ว" ครูใหญ่หลวงพ่อคูณ บอกกับชาว มข.

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า วันนั้นที่หลวงพ่อคูณ เดินทางมา ท่านได้สอบถามว่า ที่นี่มีการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง เราก็เลยบอกว่าเรามีการเรียนการสอนเรื่องครูใหญ่ ท่านเองจึงรู้สึกสนใจ เราจึงพาท่านไปดูที่ห้องประชุมของกายวิภาคศาสตร์ เมื่อท่านได้เห็นแล้ว ท่านจึงแสดงเจตนาว่าอยากเป็นครูใหญ่

...

“วันที่ท่านมาบริจาคร่างกายเมื่อปี 2536 วันนั้นผมไม่อยู่ ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ แต่โดยส่วนตัวผมเคยกราบกับท่าน 2 ครั้ง ซึ่งตอนนั้นท่านเริ่มอาพาธ แต่ก็ยังพูดได้ ท่านก็จะบอกเราว่า “เดี๋ยวกูก็จะไปอยู่กับมึงแล้ว” นี่คือประโยคที่ได้ยิน ส่วนการบริจาคร่างกายนั้น เดิมทีแต่ละปีจะมีประมาณ 400-500 ราย แต่เมื่อหลวงพ่อคูณบริจาคถึงกับมีเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข.
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข.

...

หลวงพ่อคูณ เยือน มข. ครั้งที่ 2 ปลุกเสกพระรุ่น “คูณทรัพย์คูณปัญญา”

สำหรับการเดินทางของหลวงพ่อคูณในครั้งที่ 2 นั้น นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ สำนักหอสมุด มข. กล่าวว่า เนื่องจากคณะเกษตรศาสตร์อยากจะทำวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกให้กับศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปได้บูชา ซึ่งเงินที่ได้จะเอามาช่วยนักศึกษา โดยเราจะเห็นภาพที่มีการปลุกเสก 2 ครั้ง คือ ที่วัดบ้านไร่ และ มข. โดยพระที่ปลุกเสกคือรุ่น “คูณทรัพย์คูณปัญญา” ประมาณ 5,000 องค์

อย่างไรก็ตาม เรื่องการบริจาคเงินกับ มข. หลวงพ่อคูณ ไม่ได้บริจาคให้โดยตรง แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่มีการสวดอภิธรรม ได้รับบริจาคจากประชาชนถึง 50 ล้าน ซึ่งเงินตรงนี้ทางคณะแพทย์ มข. เป็นผู้ดูแล ซึ่งส่วนหนึ่งคือเอามาใช้จัดงานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ในครั้งนี้ด้วย โดยนอกจากนี้จะมีการใช้เงินของ มข. ด้วย

ที่มาลอยอังคารที่ “พระธาตุกลางน้ำ” หนองคาย สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ร่มเย็น

สำหรับความสำคัญในการลอยอังคารหลวงพ่อคูณ ที่ “พระธาตุกลางน้ำ” จ.หนองคาย ในวันที่ 30 ม.ค. นั้น นายเผด็จ สุขเกษม วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ได้เล่าว่า เดิมทีหลวงพ่อคูณท่านไม่ได้ระบุสถานที่ว่าจะให้ลอยอังคารในที่ไหน แต่ทางวัฒนธรรมจังหวัดจึงได้หารือกับทาง มข. และระบุว่าควรจะให้ “พระธาตุกลางน้ำ” เป็นสถานที่ลอยอังคาร

“พระธาตุกลางน้ำ เดิมทีเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่บนบก แต่ต่อมาได้ถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะ จนเอียงและจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งผู้ที่ค้นพบคือชาวฮอลันดา หนึ่งในคณะผู้มาสำรวจดินแดนอินโดจีน ขณะอยู่ในดินแดนล้านช้าง ได้ลงมือวาดภาพลายเส้นพระธาตุองค์นี้เอาไว้ ต่อมาโบราณคดีภาค 7 ได้มีการสำรวจ และสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน”

วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ระบุว่า ที่ผ่านมา คนนิยมนำอัฐิมาลอยอังคาร ณ ที่แห่งนี้ เพราะมีความเชื่อว่าการลอยอังคารจะทำให้วิญญาณร่มเย็น ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า เพราะถือว่าเป็นสถานที่เก็บอัฐิ 1 ใน 4 ของพระธาตุ 4 แห่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนทราบข่าวว่าอัฐิหลวงพ่อคูณ จะถูกลอยอังคารในสถานที่แห่งนี้ หลายๆ คนจึงนำอัฐิมาลอยเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

สำหรับความพร้อมในการพิธีลอยอังคารหลวงพ่อคูณ นั้น มีความพร้อม 100% ส่วนขบวนเรือที่จะใช้จะมีของ นรข. ของวัฒนธรรมหนองคายซึ่งมี 3 ลำ นอกจากนี้จะขบวนของลูกศิษย์อีก รวมๆ แล้วมากกว่า 10 ลำ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง