“นักโทษล้นเรือนจำ” คือ ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานและองค์กรต่างเคยพูดถึงมาโดยตลอด ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายอย่าง อาทิ การแออัดต้องแย่งกันกิน นอน ป่วย ทะเลาะวิวาท และอื่นๆ อีกมากมาย
สถิติกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.61 พบว่ามีผู้ต้องขังที่กระจายในเรือนจำทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 334,279 คน แบ่งเป็นชาย 288,346 คน (นักโทษเด็ดขาด 233,487 คน) และหญิง 45,933 คน (นักโทษเด็ดขาด 36,245 คน) โดยตัวเลขสำหรับ นักโทษหญิง (น.ญ.) นั้น ถือว่าติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลก!
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ถึงปัญหาภายใต้กำแพงสูง

ดร.นัทธี กล่าวว่า ตอนที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนักโทษหญิงเท่าที่ควร แต่หลังที่มีโครงการเกี่ยวกับข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง (คลอดลูกในคุก) จึงเกิดตระหนักขึ้นมาว่านักโทษหญิงก็ควรจะได้รับการดูแลที่แตกต่างจากนักโทษชาย เพราะผู้หญิงเปราะบางกว่า จึงต้องให้ความสำคัญมากกว่า
...
“สัญลักษณ์โครงการนี้ จะใช้เป็นกระดาษจรวด แทน นกกระดาษ ที่เปรียบเสมือนเสรีภาพ เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จรวดกระดาษ ก็มีความหมายเหมือนนกกระดาษเช่นกัน แต่มีความเร็วในการได้รับอิสรภาพกว่า ซึ่งอีกความหมายหนึ่งเป็นการปลดล็อกตราบาป และสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในสังคม

โอกาสชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วย 2 มือของนักโทษหญิง
อดีตผู้บริหาร กรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้มีการช่วยเหลือนักโทษหญิงด้วยการฝึกอาชีพ ซึ่งผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อนกว่า ส่วนใหญ่จึงถนัดงานฝีมือ งานบริการ และการทำอาหาร เช่น การทำคุกกี้ การทอผ้า และการนวด ซึ่งตรงนี้เป็นการฝึกอาชีพ หากพวกเธอพ้นโทษไปแล้วก็จะมีอาชีพติดตัวสามารถหาเงินเลี้ยงชีพตนเองได้ มีหนทางชีวิตที่ดีกว่าเดิม จึงต้องจำใจในการกระทำความผิดซ้ำอีก ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการคือ การให้เขาเปลี่ยน ได้มีโอกาสชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ดร.นัทธี ได้เล่าต่อว่า ปัจจุบันมีนักโทษหญิงจำนวนกว่า 48,000 คน ถือว่ามีจำนวนนักโทษหญิงที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว ซึ่งจริงๆแล้วภายในกรมราชทัณฑ์หญิงสามารถจุนักโทษได้เพียง 2 หมื่นคน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่อย่างแออัด ผู้หญิงมีการทำความผิดมากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องมาดูแลเรื่องสถานที่เป็นอันดับแรก

สำหรับการควบคุมนักโทษหญิง จะต้องพิจารณา 3 อย่าง ได้แก่
1. ระบบ Hardware ดูในเรื่องอาคารสถานที่ต่างๆ ไม่ควรอยู่อย่างแออัด
2. ระบบ Software ดูในเรื่องโปรแกรมการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับนักโทษ เช่น สร้างอาชีพ ออกกำลังกาย
3. ระบบ Peopleware ดูเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานและนักโทษในด้านต่างๆ เช่นเรื่องสภาพจิตใจของผู้ต้องขังให้มาก
นักโทษควรได้รับเสรีภาพมากกว่านี้ ให้โอกาสคนที่เคยก้าวพลาด
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การร่างข้อกำหนดกรุงเทพฯ และตั้งสถาบัน TIJ (สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) เพื่อปรับระบบในเรือนจำ ตั้งแต่ขั้นตอนการแรกรับ ฟื้นฟู แก้ปัญหาของผู้หญิง รวมถึงระบบการกลับเข้าสู่สังคม TIJ ได้ทำการวิจัยผู้หญิงที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ และผู้หญิงเหล่านี้เป็นใคร เส้นทางผู้ต้องขังหญิงสู่เรือนจำ จึงทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาของนักโทษหญิง
...


“เรามีงานวิจัยของนักโทษที่อยู่ในนั้น ผลกระทบไม่ได้เกิดจากเขาเพียงคนเดียว แต่เป็นผลกระทบที่คนใกล้ตัวของเขาที่ต้องรับด้วยเช่นกัน สิ่งที่เราควรจะพัฒนาต่อหลังจากออกนอกเรือนจำ คือการสร้างชีวิตใหม่ได้ โดยมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และทำให้เขาเป็นคนดีของสังคม จากการร่วมมือของทางภาครัฐและเอกชน ที่คอยให้การสนับสนุนสร้างอาชีพให้กับนักโทษ ให้สู่โมเดลต่างๆ เรือนจำควรจะเป็นสถานที่สุดท้าย ที่จะให้ผู้กระทำความผิดเข้ามาอยู่”
...
ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า นักโทษควรมีทางเลือก หรือเสรีภาพที่ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรือเป็นการลงโทษให้เหมาะสมกับสิ่งที่ผู้ต้องหากระทำความผิด เช่น บำเพ็ญประโยชน์ หรือ หาทางเลือกในการลงโทษมากกว่ากักขัง นอกจากเรือนจำแล้วจะมีสถานที่อื่นไหมที่จะให้โอกาสให้กับบุคคลที่เคยก้าวพลาด เราควรจะสร้างสังคมที่ให้โอกาส ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสังคมจะเติบโตกันไปอย่างยั่งยืน

อึ้ง! ย่า ยาย มักรับผิดแทนลูกหลาน ติดคุกเหมือนอยู่บ้านพักคนชรา
จากสภาพสังคมไทยที่มีนักโทษล้นเรือนจำ อีกทั้งยังมีนักโทษที่เป็นผู้สูงอายุจำนวนมาก ดร.นัทธี กล่าวต่อว่า ในเรือนจำมีหญิงอายุตั้งแต่ 18 ถึง 80 ปี ส่วนใหญ่มาจากคดียาเสพติด เนื่องจากลูกหลานเป็นคนค้ายา และเอายาเสพติดมาเก็บไว้ภายในบ้าน เวลาตำรวจมาพบก็จะเจอผู้สูงอายุอยู่กับยาเสพติดถึงจับกุม อีกทั้ง ย่า ยาย บางคนจะรับสารภาพผิดแทนลูกหลาน เนื่องจากหากหลานไม่ถูกจับก็ยังหาเงินส่งเสียเข้ามาในเรือนจำได้บ้าง อีกทั้งในเรือนจำยังมีคนคอยดูแลด้วย
...
กลายเป็นว่าเรือนจำต้องคอยดูแลหญิงชราหรือไม่ อดีตผู้บริหาร กรมราชทัณฑ์ตอบว่า ใช่.. เรือนจำมีหน้าที่ดูแลผู้ต้องหา เวลาออกมาแล้วไม่ให้ก่อความเดือดร้อนข้างนอก และยังต้องดูแลไม่ให้เขากลับเข้ามาอีก จะถือว่าอยู่อย่างสุขสบายก็ว่าได้
“บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ปรึกษาก็ฟรี แต่เมื่อถามทุกคนที่เข้าไปอยู่ในนั้น ว่ามีใครอยากอยู่ต่อไหม เสียงที่นักโทษตอบมาคือ “ไม่อยากอยู่ในนั้นอีกแล้ว” ทุกคนอยากกลับบ้าน ถึงมีข้าวให้กิน ก็ไม่ได้มีความสุขเหมือนกินข้าวพร้อมหน้ากับครอบครัว อยากจะกินอะไรก็เลือกไม่ได้ จะกินก็ต้องเป็นเวลา จะนอนก็ต้องนอนพร้อมกัน จะดูรายการที่ชอบก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีระเบียบ อยู่ในนี้มันไม่มีเสรีภาพ” อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

งบหมื่นล้าน ค่าอาหารหัวละ 45 บาท หมดยุค นักโทษกินข้าวแดง
ในทุกๆ ปี เราต้องนำเงินภาษีมาดูแลนักโทษเหล่านี้ปีละประมาณหมื่นล้านบาท ซึ่ง ดร.นัทธี อธิบายว่า เงินที่ใช้จ่ายสำหรับนักโทษส่วนใหญ่จะเป็นค่าอาหาร โดยคิดต่อหัวประมาณคนละ 45 บาท สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะทางเรือนจำได้มีมาตรการค่อนข้างคุมเข้มเวลาญาตินำอาหารมาให้นักโทษ เพราะกลัวสิ่งแปลกปลอม เช่น ยาเสพติด อาวุธ ปะปนเข้ามา จะทำให้การดูแลยากขึ้น
“สำหรับอาหารที่นักโทษรับประทานกันนั้น ขอบอกว่ามีเพียงพอ และรสชาติก็อร่อย ซึ่งตรงนี้ผมกินมาแล้ว ส่วนข้าวที่ใช้ ปัจจุบันไม่ได้ใช้ข้าวแดง เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง แล้ว เพราะได้รับความนิยมจากกลุ่มคนที่รักสุขภาพ ดังนั้น นักโทษจึงได้เปลี่ยนมากินข้าวขาวแทน”
อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า งบประมาณที่เข้ามาในกรม ตัวเลขสูงถึงหมื่นกว่าล้าน ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร ค่าเจ้าหน้าที่ ค่าก่อสร้าง ก็หมดแล้ว หากเป็นการฝึกอาชีพเขาก็จะมีเงินกองกลางไว้ให้ใช้จ่ายในการฝึกอาชีพ เช่นเวลาทำของมาขายแล้วได้กำไร เงินตรงนี้ก็เข้าไปอยู่ในกองทุนต่อ 35% เจ้าหน้าที่ 15% และของผู้ต้องขัง 50% ประชาชนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะดูที่คุณภาพของสินค้ามากกว่า อย่างสินค้าภาคในงาน ก็แสดงให้เห็นว่าสินค้าเป็นของดีมีฝีมือ ทำให้คนเขาอยากซื้อมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ของนักโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้เข้าไปเห็นกระบวนการในการผลิต ก็จะรู้ว่าสินค้าที่ผู้ต้องหาทำนั้นได้มาตรฐาน
ทีมข่าวเฉพาะกิจออนไลน์ รายงาน