ประธานเครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินภาคประชาชน เตือน ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร จังหวัดติดแนวทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีโอกาสจะเกิดคลื่นยักษ์คร่าชีวิตโดยไม่รู้ตัว ดังกรณีภูเขาไฟ อานัก กรากะตัว ในอินโดนีเซีย ปะทุ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. 61 จนเกิดคลื่นยักษ์ หาใช่สึนามิ คร่าชีวิตชาวอิเหนาไปแล้วหลายร้อยคน...
ขณะนี้ โลกเกิดกระบวนการสลับขั้วของสนามแม่เหล็กโลก หรือที่เรียกว่า โพลชิป ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้รูปแบบการเกิดพิบัติภัยธรรมชาติเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมถึง คลื่นยักษ์ (Tidal Wave) ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่จะมีคนตายมากที่สุด ดังที่อินโดนีเซียเจอล่าสุดเมื่อ คืนวันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. 61 จากเหตุภูเขาไฟอานัก กรากะตัว บนเกาะกรากะตัว บริเวณช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะสุมาตรา และเกาะชวา ในประเทศอินโดนีเซีย ปะทุ ระเบิด ส่งผลเกิดคลื่นยักษ์ซัดชายฝั่ง คร่าชีวิตเหยื่อเคราะห์ร้ายหลายร้อยราย และบาดเจ็บนับพันคน

ภัยพิบัติธรรมชาติในอินโดฯ 22 ธ.ค.61 เกิดจากคลื่นยักษ์ ไม่ใช่สึนามิ
...
การเกิดคลื่นยักษ์คร่าชีวิตในครั้งนี้ นายปิยะชีพ วัชโรบล ประธานเครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินภาคประชาชน สมาคมรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และ นักวิชาการอิสระด้านภัยพิบัติ เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามันอาจเกิดคลื่นยักษ์เช่นอินโดฯ ได้ พร้อมชี้แจงเพื่อความถูกต้องว่า เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดในอินโดฯ ไม่ได้เรียก “สึนามิ” แต่เป็น “คลื่นยักษ์” ซึ่ง คลื่นยักษ์ กับ สึนามิ นั้นไม่เหมือนกัน
สีนามิ เกิดจากแผ่นดินไหวในทะเล น้ำทะเลจะมีการเหือดแห้ง แล้วจะทะลักเข้าฝั่ง แต่ คลื่นยักษ์ เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด หรือภูเขาไฟบนบก ปะทุ ลาวาทะลักปริมาณมาก เยอะจนลงทะเล และการยุบตัวหรือที่เรียกว่า Land slide จากการระเบิดของภูเขาไฟตกลงไปในทะเล ทำให้เกิดคลื่นยักษ์เข้าหาชายฝั่ง

“สื่อนำเสนอว่าสึนามินั้นไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นสึนามิ เมื่อแผ่นดินไหวในทะเลแล้ว มวลน้ำจะเหือดแห้ง แล้วคลื่นน้ำจะกลับขึ้นมาอีกที แล้วซัดเข้าฝั่ง คนจะรู้ล่วงหน้า แต่ที่เกิดอินโดฯ ล่าสุด เกิดจากภูเขาไฟบนดิน กรากะตัว ระเบิด แล้วแมกมากับดินตกถล่มลงน้ำทะเล ส่งผลเกิดคลื่นยักษ์เข้าชายฝั่งทันที ซึ่งครั้งนี้ที่เกิดขึ้นในอินโดฯ เป็นครั้งที่ 2 ในครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว จากแผ่นดินไหวบนบก เกิดคลื่นแผ่นดินไหว สะท้อนไปมาสองฝั่งที่มีลักษณะเป็นทะเลสาบ ลักษณะเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ แล้วมีคลื่นยักษ์เข้ามาชายหาด” นายปิยะชีพ อธิบาย

คลายสงสัย สึนามิไทยปี 47 คลื่นยักษ์อินโดฯ ปี 61 ไฉนเกิดขึ้นเดือนธันวา
จากเหตุการณ์ในอินโดนีเซียครั้งนี้ และย้อนไปเมื่อ 14 ปีแล้ว เกิดสึนามิในไทย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47 ซึ่งทั้งสองภัยพิบัติธรรมชาติเกิดในเดือน ธ.ค. ทำให้เกิดข้อสงสัยจากสังคมว่า ไฉนภัยพิบัติธรรมชาติ จึงเกิดในเดือน ธ.ค. ซึ่ง นายปิยะชีพ ชี้แจงตามหลักวิชาการ เดือนธันวาคม ในวันที่ 21 ดวงอาทิตย์จะทำมุมใหม่กับระบบสุริยะ และระบบสุริยะทำมุมใหม่กับทางช้างเผือก จะเกิดการสั่นไหวของคลื่นความถี่ในอวกาศแรงกว่าปกติ ประกอบกับฤดูหนาวเป็นเดือนที่อากาศแห้ง พลังงานไฟฟ้าที่ไหลเคลื่อนที่ได้สะดวก และเป็นปริมาณมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ จึงมีโอกาสเกิดเเผ่นดินไหว ไฟไหม้ ได้ง่ายๆ ซึ่งมีโอกาสจะเกิดได้ในช่วง ธ.ค.-ก.พ. ด้วย ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาว
...

มี.ค.-เม.ย. ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย อาจเกิดคลื่นยักษ์กระหน่ำคล้ายอินโดฯ
ด้วยเมืองไทยมีพื้นที่หลายจังหวัดติดทะเล ทีมข่าวฯ จึงซักถามว่าจะมีโอกาสเกิดคลื่นยักษ์เช่นอินโดฯ หรือไม่ เมื่อได้ฟังคำตอบจากนายปิยะชีพแล้ว เป็นเรื่องที่คนไทยควรต้องระวังยิ่ง โดยเฉพาะ 9 จังหวัดที่ติดทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
โดย นายปิยะชีพ ให้เหตุผลว่า คาดว่าไทยน่าจะมีโอกาสเกิดคลื่นยักษ์ เดือน ธ.ค. เป็นต้นไป และช่วงประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. ด้วยมีโอกาสจะเกิดภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุ เพราะมีภูเขาไฟใต้ทะเลหลายจุดอยู่ใกล้ไทย อาทิ ภูเขาไฟบาเร็น (Berren Island) ของอินเดีย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม จ.ระนอง, ภูเขาไฟใต้น้ำที่หมู่เกาะนิโคบาของอินเดีย, ภูเขาไฟใต้น้ำที่แหลมญวนอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม และภูเขาไฟที่เกาะบอร์เนียวในเขตประเทศมาเลเซีย

...
“คลื่นยักษ์ในไทยมีโอกาสเกิดได้ ธ.ค.เป็นต้นไป และประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. เพราะมีโอกาสเกิดภูเขาไฟใต้ทะเลจะปะทุขึ้นมา เมื่อออกมาจากใต้ดินก็ทำให้น้ำสูงขึ้น แล้วซัดเข้าหาชายฝั่ง ตอนนี้เป็นห่วงมากๆ แถวๆ ช่วงระนองไปจนถึงภูเก็ต เพราะภูเขาไฟใต้น้ำตั้งแต่เกาะบาเร็น ของอินเดีย ที่อยู่เยื้องๆ ระนองประมาณ 600 กิโลเมตร กำลังปะทุ เพราะเจอมีควันออกอยู่เรื่อยๆ และฝั่งอันดามัน กับนิโคบา ก็เริ่มปะทุหลายครั้งแล้ว ในฝั่งอ่าวไทยที่สุราษฎร์ธานี กับชุมพร ก็ตรวจพบ โวเคนิคแอส คือ เถ้าถ่านภูเขาไฟ มาเรื่อยๆ ทุกวัน” นายปิยะชีพ กล่าวด้วยน้ำเสียงกังวล
เครื่องเตือนคลื่นยักษ์ไทยขาดแคลน มีเพียงหนึ่งเครื่องของทหารเรือ จ.พังงา
ทั้งนี้ นักวิชาการอิสระด้านภัยพิบัติ ยังเปิดเผยอีกว่า ตามประวัติไทยเคยเกิดคลื่นยักษ์ สมัย ร.5 แต่ในประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุว่าคลื่นมีความสูงมากขนาดไหน แต่ก็มีเหตุให้เรือล่มไปหลายลำ ความอันตรายของคลื่นยักษ์นั้นรวดเร็วกว่าสึนามิ ไม่มีโอกาสรู้ได้ด้วยตา แต่จะเห็นเมื่อคลื่นยักษ์มาถึงตัวแล้ว ช่างเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงยิ่ง แล้วจะมีอุปกรณ์ใด มาช่วยเตือนภัยหรือไม่

...
นายปิยะชีพ ตอบข้อซักถามนี้ของทีมข่าวฯ ว่า ระบบการเตือนภัยของคลื่นยักษ์ กับสึนามิ ใช้หลักการณ์เดียวกัน คือ ตัวทุ่นเตือนภัย แต่การจะรู้ล่วงหน้าสิ่งสำคัญมากกว่าทุ่นเตือนภัย คือ ตัววัดระดับน้ำ หรือวัดคลื่น ซึ่งเมืองไทยที่สำคัญมีแห่งเดียว ที่เกาะเมียง ของทหารเรือ ในอุทยานแห่งชาติสิมิลัน จ.พังงา
ทุ่นการแจ้งเตือนสึนามิของไทย ในฝั่งทะเลอันดามันมีจุดเดียว ซึ่งเครื่องเสียมา 3 ปีแล้ว ด้านฝั่งทะเลเบงกอล ตะวันตกของภูเก็ต โคบา ทุ่นแจ้งเตือนมี 5 ทุ่น เสีย 2 ทุ่น

ส่วนทะเลฝั่งอ่าวไทยไม่มีเครื่องทุ่นการแจ้งเตือน เหตุเชื่อมั่นว่าไม่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติบริเวณนี้ เนื่องจากไม่มีรอยแยกรอยแตกของเปลือกโลกใหญ่ๆ ซึ่งต่างกับฝั่งอันดามันที่เป็นแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลียกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย
“การเกิดคลื่นยักษ์ จะรู้ล่วงหน้า หากมีเครื่องมือการตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของอากาศกับไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจริงๆ แล้วปฏิกิริยาของไฟเมื่อเกิดเเผ่นดินไหว สามารถวัดได้อยู่แล้ว ต่างชาติใช้อยู่แล้ว ในไทยผู้ว่าฯ ระนองจะสั่งติดแต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนตัววัดคลื่นยักษ์มีที่เดียวที่ชายหาดเกาะเมียงของทหารเรือ เป็นตัวเซ็นเซอร์วัดระดับคลื่น หากทุกจังหวัดมีเครื่องนี้ก็สามารถเตือนคลื่นยักษ์ล่วงหน้าได้” นายปิยะชีพ ชี้แจง

ภูเขาใต้น้ำใกล้ไทยระเบิด คลื่นยักษ์จ่อไทยไม่เกินครึ่งชั่วโมง
สำหรับระดับความสูงของเจ้าคลื่นยักษ์มฤตยู นายปิยะชีพ อธิบายว่า สมมติทะเลมีความลึกประมาณ 2 กิโลเมตร จู่ๆ กลายเป็น 2 กิโล 20 เมตร แสดงว่าน้ำทะเลสูงขึ้น 20 เมตร นั่นทำให้รู้ว่าคลื่นยักษ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจากประวัติศาสตร์ บางครั้งสูงเกินสึนามิอีก สึนามิส่วนมากจะไม่เกิน 20 เมตร แต่ตัวคลื่นยักษ์โอกาสสูงเป็น 100 เมตร

“จากการดูดาต้าผ่านดาวเทียมล่าสุด ใน ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ถ้าเกิดมีการการระเบิดขึ้นของภูเขาไฟใต้น้ำ ก็จะเกิดคลื่นยักษ์มาถึงไทยได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ต้องคอยสำรวจ วัดค่า วัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หากมีการพบก๊าซ 2 ตัว อยู่ในบริเวณใดจากการแตกที่เปลือกโลก แล้วก๊าซออกมาได้ โอกาสที่จะเกิดภูเขาไฟระเบิดตามมามีแน่นอน ต้องคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ก่อนเพื่อเตรียมการ” นายปิยะชีพ วัชโรบล ประธานเครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินภาคประชาชน สมาคมรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ และนักวิชาการอิสระด้านภัยพิบัติ วิเคราะห์
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ
