ถือเป็นเรื่องที่ชาวคอนโด อยากรู้มาโดยตลอด ว่าเพราะเหตุใด ราคาค่าน้ำประปา ของชาวคอนโดมิเนียม หรือ ห้องชุด จึงมีราคาสูงกว่าของการประปา ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ไขคำตอบมาแล้ว..ว่ามีจากปัจจัยอะไร (คลิกอ่าน “ไขข้อสงสัย คอนโด จ่ายค่าน้ำแพงเท่าตัว! ห้องชุด ตจว.อ่วมหนักกว่า” )
แต่เมื่อถามว่า ภาครัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเรื่องนี้อย่างไร คิดจะนำพาไปวางกฎเกณฑ์อะไรหรือไม่ รายงานพิเศษชิ้นนี้จะเป็นคำตอบ...
ว่ากันตามหลักแล้ว กฎหมายที่ใช้สำหรับการดูแลอาคารชุด หรือ คอนโดมิเนียม นั้น หลักๆ จะอยู่ใน พ.ร.บ.อาคารชุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักคือ ก.มหาดไทย กรมที่ดิน ในส่วนของเรื่องน้ำประปาเอง ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย เช่นกัน
เชื่อกันว่า คำถามแรกที่คนอยากรู้ ทำไมประปาถึงไม่ติดมิเตอร์เหมือนไฟฟ้า และทำไมค่าน้ำของการประปาในต่างจังหวัดแพงกว่าในกรุงเทพฯ

กปภ.ชี้ต้นทุนการจัดการเรื่องน้ำ ตจว.สูงกว่า น้ำดิบมีน้อยกว่า ส่งผลด้านราคา
...
ทีมข่าวฯ สอบถามเรื่องนี้ไปยัง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) อธิบายถึงสาเหตุที่ค่าน้ำประปาแพงกว่าในกรุงเทพนั้น เพราะค่าต้นทุนในการวางท่อน้ำสูงกว่าใน กทม.มาก
เพื่อให้เห็นภาพ รศ.ดร.เสรี อธิบายว่า ตัวอย่างใน กทม. ในรอบ 1 กิโลเมตร จะมีผู้ใช้น้ำหนาแน่นกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด ค่าน้ำที่เก็บได้จึงได้มากกว่า ในรอบ 1 กิโลเมตรในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุน ในการวางท่อในต่างจังหวัดนั้นสูงกว่า และอีก 1 ปัจจัยคือ ในบางพื้นที่มีน้ำดิบไม่มาก เช่น ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำประปาแพงกว่า
เมื่อทีมข่าวถามว่า เพราะอะไร ทำไมเราทำอย่างการไฟฟ้าไม่ได้ ที่ติดมิเตอร์ให้กับลูกบ้านในคอนโดมิเนียม แทนที่จะติดแค่หัวจ่ายน้ำหน้าคอนโด ผู้ว่าฯ กปภ. ได้ตอบเพียงสั้นๆ ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย


เป็นเรื่องของนิติบุคคล ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย จะสูงหรือต่ำ ลูกบ้านต้องร่วมกันคุย!
คำถามต่อมา คือ เราสามารถควบคุมราคาค่าน้ำประปาคอนโดได้หรือไม่ ทีมข่าวได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง กรมที่ดิน ซึ่ง เป็นผู้เสนอกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารชุด พูดง่ายๆ คือ ดูแลการทำงานของนิติบุคคลอีกทีหนึ่ง ซึ่งเมื่อทีมข่าวฯ ติดต่อไปยัง นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมที่ดิน แต่ทราบว่าติดประชุมไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้ จึงสอบถามไปที่ นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม รองอธิบดีกรมที่ดิน ที่ดูแลงาน ผอ.สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่..นายชัยชาญ แนะนำว่าให้สอบถามกับ นายสุภกิณห์ แวงชิน ผอ.สำนักส่งเสริมธุรกิจฯ เมื่อทีมข่าวโทรสอบถาม ปรากฏว่า นายสุภกิณฑ์ ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ และยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้
ทีมข่าวฯ จึงได้พูดคุยกับ นายชูศักดิ์ ศรีอนุชิต อดีต ผอ.สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไม่กี่วัน ซึ่งนายชูศักดิ์ บอกว่า เรื่องนี้ ผอ.ท่านใหม่อาจจะยังไม่ทราบหรือมีข้อมูล เพราะเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวานนี้เอง (19 พ.ย.) ถามว่า เรื่องเรตอัตราค่าน้ำคอนโด นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เป็นเรื่องมติร่วมของคอนโด ว่าจะเก็บเท่าไร เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 (พ.ร.บ.อาคารชุด) จะสูงจะต่ำอย่างไร เดี๋ยวก็จะมีการพูดคุยกัน ซึ่งตรงนี้เหมือนกับให้อำนาจนิติบุคคลบริหารจัดการ

...

เมื่อถามว่า ในตัวบทกฎหมายมันไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเลยว่าควรจะเรียกเก็บค่าน้ำประปา เท่าไร นายชูศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่รู้จะหามาตรฐานอย่างไร เช่น ถ้าจ้าง รปภ. อาจจะจ้างในราคา 18,000 บาท แต่ถ้าเป็น รปภ.ดีๆ เขาอาจจะจ้าง 30,000 บาท/เดือน ก็ได้ เรื่องแบบนี้ถือเป็นการบริการงานภายใน ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็มีเรื่องที่ต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว
“ส่วนตัวมองว่า อย่าไปซีเรียสเรื่องนี้เลย บางทีมีแค่ลูกบ้านเพียงรายเดียวมาโวยวาย ซึ่งผมก็เจอ ถึงขนาดกับว่าให้ คอนโด ทำน้ำดื่มขายเลย บอกน้ำดื่มที่ซื้อมาแพง แล้วเขาก็มาด่าสำนักผมทุกวัน มีแปลกๆ ก็เคยเจอ ถามว่าแพงมั้ย ก็แพงด้วยกันทุกคน บางที่ก็ถูก ก็จ่ายถูกกันทุกคน เรื่องนี้ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดีก็อยู่ไม่ได้หรอก ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องที่มีปัญหาจริงๆ ไม่น่าจะใช่เรื่องคอนโด อาจจะเป็นเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ อพาร์ตเมนต์มากกว่า”
...
ค่าน้ำอาคารชุดในฐานะที่เคยทำมา ไม่ค่อยน่าห่วง เพราะหากมันไม่ถูกต้องก็จะต้องมีการจัดการประชุม..
งั้นถามตรงๆ ว่า ควรมีการควบคุมอัตราค่าน้ำประปาคอนโดไหม นายชูศักดิ์ อุทาน “โอ๊ย..อย่าไปยุ่งกับเขาเลย ผมว่าวันดีคืนดี น้ำประปาอาจจะสูงขึ้น แพงขึ้น เหมือนกับคุณไปคุมค่า รปภ. น้ำไฟ คุณห้ามใช้เกินเท่านั้นเท่านี้นะ เรื่องประปาคอนโด มันแตกต่าง ขึ้นอยู่กับ “ความพึงพอใจ” ที่คนในคอนโดและนิติบุคคลจะดูแลกันเอง”

สคบ.ยอมรับ “ไม่มีกฎหมาย” คุมค่าน้ำคอนโด นิติฯ จะเรียกเท่าไรก็ได้!
ดูแล้ว..หน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุด งานนี้น่าจะหนีไม่พ้น สำนักงานคณะกรรมการคุมครองเพื่อผู้บริโภค นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ และในฐานะ โฆษก สคบ. ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนเรื่องนี้ ค่าน้ำประปาคอนโดแพงเข้ามาบ้าง ถามว่ามีข้อกำหนดหรือไม่ว่าจะต้องจ่ายเรตราคาเท่าไหร่หรือไม่นั้น คำตอบคือ “ไม่มี!... จะเรียกเก็บเท่าไรนั้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคอนโดแต่ละแห่ง”
...
โฆษก สคบ. อธิบายว่า เรื่องค่าน้ำคอนโดนั้น เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของนิติบุคคลของห้องชุดแต่ละที่ เขาจะกำหนดเท่าไร ไม่มีกฎหมายกำหนดดูแล สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะคอนโดเองมีกฎหมายเฉพาะควบคุมดูแลอยู่ มีการบริหารงานของนิติบุคคลเป็นการเฉพาะ แม้ที่ผ่านมา จะมีคนร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่เราก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรให้ได้ สาเหตุเพราะเขาดำเนินตามระเบียบ พ.ร.บ.อาคารชุด ไม่ได้ดำเนินการเพื่อธุรกิจ


“ส่วนค่าไฟนั้น ไม่มีปัญหาแน่ เพราะมิเตอร์ค่าไฟแยกที่การไฟฟ้าเรียกเก็บโดยตรง ส่วนค่าน้ำที่เรียกเก็บแบบนี้นั้น เพราะที่ประชุมใหญ่ของลูกบ้านได้เห็นพ้องต้องกันแล้วว่าสามารถเรียกเก็บได้ ส่วนต่างส่วนเกิน ทางนิติฯ เขาก็จะเอาไปใช้บริหารจัดการ ที่สำคัญคือ มันไม่ได้เอาไปใช้เพื่อธุรกิจ” รองเลขาธิการ สคบ. กล่าว
นอกจากนี้ ทีมข่าวฯ ได้ถามเรื่องนี้ไปยัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวงมหาดไทย และมีพื้นที่ที่มีคอนโดมิเนียมมากที่สุด นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยไม่เกี่ยวข้องกับ กทม. ถามว่ามีร้องเรียนมาบ้างไหม ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง หากมีการร้องเรียนมาเราเองก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวข้อง
ในที่สุดแล้ว ก็ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดควบคุมดูแลเรื่อง "ค่าน้ำประปา" ของ ชาวคอนโดมิเนียม คงต้องปล่อยไปตามยถากรรม หากเจอนิติบุคคลที่บริหารงานดี คุมค่าใช้จ่ายให้ลูกบ้านอย่างดี ทำให้ลูกบ้านมีอยู่ดี มีความสุข จ่ายสมเหตุสมผลก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าเจอนิติฯ มหาโหด เรียกเก็บแพงๆ ก็ตัวใครตัวมัน หรือ จะรวมตัวกันต่อสู้ก็ได้..
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน