โอ้ กรุงเทพ เมืองฟ้า...อมร สมเป็นนครมหาธานี
กรุงเทพมหานคร ถือเป็นเมืองที่หนาแน่นด้านประชากร สาเหตุเพราะผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำกิน เรียนหนังสือ หรือจะท่องเที่ยวก็ตาม
แน่นอน..เมื่อผู้คนหลั่งไหลเข้ามา แต่พื้นที่มีจำกัด ที่พักอาศัยจะขยายไปไหนได้..ก็ต้องขยายตัวแบบแนวดิ่ง.. นั่นก็คือ “คอนโดมิเนียม”
ที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด มีการขยับขยายไปมาก นอกจากในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ก็มีการเติบโตเช่นกัน
แต่ๆๆ ถ้าใครไม่เคยอาศัยคอนโด หรืออาคารชุด นั้นจะไม่รู้ว่า “ค่าน้ำประปา” สำหรับชาวบ้านแนวดิ่ง ที่มีไว้อาศัยเพื่อหลับนอนนั้น มีราคาที่ต้องจ่ายไม่เท่ากัน... หันไปถามคนนู้นอยู่โครงการนี้ บอกเก็บหน่วยละ 15 บาท บางคนบอก 18 บาท บางโครงการ 20 บาท 35 หรือ 40 บาทก็มี!
ขุ่นพระ...เรื่องนี้มีคนโพสต์ไว้มากมาย โดยเฉพาะในเว็บไซต์สังคมออนไลน์ แต่ครั้นจะหาคำตอบชัดๆ ก็ยังไม่มีใครอธิบายได้..และนี่คือที่มาของรายงานพิเศษชิ้นนี้ ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

...

เปิดเรตค่าน้ำประปา กปน. และ กปภ. เรียกเก็บเท่าไหร่กันบ้าง..
ก่อนจะเข้าเรื่องประปาคอนโด เรามาดูข้อมูลอัตราค่าน้ำ จากการประปา เสียก่อน โดย การประปานครหลวง มีประกาศไว้ชัดเจน คือ มีการแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประเภทที่พักอาศัย และ 2.ประเภทธุรกิจ ราชการ รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม และอื่นๆ ซึ่งอัตราที่เรียกเก็บประเภทแรก จะเรียกเก็บตามอัตราที่ใช้
0-30 ลบ.ม. ราคา 8.50 บาท
31-40 ลบ.ม. ราคา 10.03 บาท
41-50 ลบ.ม. ราคา 10.68 บาท
ทั้งนี้ราคาที่ใช้จะเพิ่มขึ้นทีละน้อยไปจนถึงการใช้น้ำมากกว่า 200 ลบ.ม. จะคิดราคา 14.45 บาท

ส่วนประเภทที่ 2 จะเริ่มต้น 0-10 ลบ.ม. ราคา 9.50 บาท (แต่ไม่ต่ำกว่า 90 บาท)
11-20 ลบ.ม. ราคา 10.70 บาท
21-30 ลบ.ม. ราคา 10.95 บาท
31-40 ลบ.ม. ราคา 13.21 บาท
เช่นเดียวกัน หากใช้น้ำมากกว่า 200 ลบ.ม. จะคิดในราคา 15.81 บาท ซึ่งจะราคาแพงกว่าประเภทบ้านเรือน 1 บาทเศษ (อัตราค่าน้ำประปา กปน.)


...

ขณะที่ การประปาส่วนภูมิภาค นั้นจะมีการคิดอัตราค่าน้ำแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ที่อยู่อาศัย 2.ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก และ 3.รัฐวิสาหกิจ/อุตสาหกรรม และธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งราคาก็แตกต่างกัน แน่นอน สำหรับอัตราที่อยู่อาศัยจะถูกกว่า ส่วนประเภทที่ 2 และ 3 จะแพงกว่า ไล่ระดับตามการใช้น้ำ (ดูจากภาพได้เลย) ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาจาก กปภ. จะแพงกว่าของ กปน. โดยเริ่มต้นเก็บที่ 10.20 บาท ต่อหน่วยสำหรับที่อยู่อาศัยทั่วไป ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำถูกกว่าคนต่างจังหวัด (อัตราค่าน้ำจาก กปภ.)
แจงชัดๆ ทำไมค่าน้ำต้องเก็บแพง เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวก และลูกบ้านต้องร่วมกันจ่าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์ นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร ได้แจกแจงทำความเข้าใจสาเหตุที่นิติบุคคลอาคารชุดของแต่ละแห่งเรียกเก็บไม่เท่ากัน ก่อนอื่นขอแบ่งเหตุผลออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ อันได้แก่ 1.ที่มาที่ไปของการเรียกเก็บค่าน้ำ 2.การเรียกเก็บค่าน้ำอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 3. การเรียกเก็บในพื้นที่ต่างจังหวัดจะแพงกว่ากรุงเทพฯ
...
ที่มา...เรียกเก็บค่าน้ำ ชาวคอนโดแพง หรือเกือบเท่าตัว
นายพิสิฐ ค่อยอธิบายทีละสเต็ปถึงที่มาที่ไป ทำไมเก็บค่าน้ำในราคาสูงกว่าการประปา หรือ อาจสูงกว่าเท่าตัว เพราะว่าอาคารชุดนั้นแตกต่างจากหมู่บ้านจัดสรร หรืออาคารพาณิชย์ เพราะอาคารชุดเป็นอาคารสูง แนวดิ่ง การจัดค่าน้ำอาคารชุด การประปานครหลวง (กปน.) หรือการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ไม่สามารถติดตั้งมาตรวัดให้กับทุกห้องชุดในอาคารคอนโดได้ครบ เรียกว่าไม่มีใครทำ และที่สำคัญคือ การประปา ได้มอบหมายให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ติดตั้งมาตรวัดให้กับแต่ละห้อง ซึ่งดังนั้นโครงการส่วนใหญ่เมื่อก่อสร้าง เขาจะวางตัวมาตรวัดน้ำไว้บริเวณขอบทางเดินภายในห้องชุด โดยผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ควักกระเป๋าเองมาติดตั้งในแต่ละห้องชุด


...
“เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จ...เจ้าของธุรกิจจะร้องขอไปยังประปาภาครัฐ ทางประปาภาครัฐก็จะเดินท่อน้ำมาวางไว้ที่หน้าโครงการ โดยติดตั้งมาตรวัดเรียบร้อย..ซึ่งเมื่อวางมาตรวัดเสร็จ ท่อที่ต่อเข้าคอนโดฯ โดยปลายท่อเข้าไปที่บ่อที่พักน้ำของอาคารชุด ซึ่งตรงนี้บ่อใหญ่มาก ยิ่งห้องชุดเยอะ น้ำที่จะใช้ก็ยิ่งมาก..
..ไม่เพียงเท่านั้น ถึงแม้จะมีบ่อพักน้ำ แต่ตัวอาคารสูงจำเป็นต้องมีแทงก์น้ำบริเวณดาดฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องจักรกลเพื่อดึงน้ำประปาขึ้นจากใต้ดินมาเก็บไว้ด้านบน จากนั้นก็จะระบายน้ำจากด้านบนลงมาเข้าห้องแต่ละห้อง โดยผ่านมิเตอร์น้ำของแต่ละห้อง..มิเตอร์เดินแล้ว”
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า กลับมาที่การประปา แม้จะมีการเรียกเก็บตามอัตราที่อยู่อาศัยของการประปา แต่..เขามาจดปริมาณการใช้น้ำจากมิเตอร์ตัวใหญ่ที่อยู่หน้าโครงการ โดยอัตราตามลูกบาศก์เมตร คูณโดยอัตราตามที่การประปากำหนด.. โดยเขาวางบิลใบเดียวเลย บิลตัวนี้จะมาที่นิติบุคคล จะเอามาตั้งงบเบิก เอาเงินค่าน้ำที่เรียกเก็บจากลูกบ้านรายย่อย

“อย่าลืมนะครับ...น้ำประปาจากอาคารชุดมิได้ใช้แต่ในห้องชุดเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีส่วนกลางรองรับด้วย สวนหย่อม ห้องน้ำส่วนกลาง ห้องน้ำสโมสร นี่คือสิ่งที่นิติบุคคลต้องบริการกับผู้พักอาศัย..นี่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง”
ถามว่าเพราะอะไรถึงเรียกเก็บสูงกว่าการประปา หรือสูงกว่าเท่าตัว เพราะเขาต้องรับผิดชอบในส่วนอื่นๆ อีก เช่น
1.ท่อที่ใช้ในอาคารเป็นท่อส่วนกลาง อายุงานประมาณ 10 ปี ก็ชำรุดต้องเปลี่ยน ถามว่าใครจะต้องจ่าย..ก็ต้องเป็นนิติฯ
2.มิเตอร์น้ำเสีย..จะให้ลูกบ้านจ่าย ก็ไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนให้ลูกบ้านก็ใช้น้ำฟรีไป
3.สระว่ายน้ำ ห้องน้ำ ก็ใช้น้ำส่วนกลาง
“ยังไม่ใช่แค่น้ำประปาส่วนกลางอย่างเดียวครับ.. แต่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าดันน้ำขึ้นไปยังแทงก์น้ำ และยังมีค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรกลอีก ซึ่งก็ใช้ไฟฟ้าส่วนกลาง เบ็ดเสร็จบวกกับเรื่องบำรุงรักษาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการเรียกเก็บค่าน้ำประปามากกว่าที่การประปาเรียกเก็บโดยตรง”


ค่าน้ำคอนโดฯ ในต่างจังหวัด แพงกว่าในกรุงเทพฯ คอนโด บางแห่งเรียกเก็บหน่วยละ 35-40 บาท
จากประสบการณ์ในอาชีพทำงานด้านอาคารชุดมาอย่างยาวนาน นายพิสิฐ ยังได้เปิดเผยถึงค่าน้ำประปาสำหรับอาคารชุด ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดด้วย โดย โครงการ ในกรุงเทพฯ จะเรียกเก็บอยู่ประมาณ 10-20 บาท บางแห่ง 25 บาท แต่สำหรับคนต่างจังหวัด ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะต้องเสียค่าน้ำที่แพงกว่ามาก!
โครงการที่ผมอยู่ เมื่อก่อนเคยเก็บที่หน่วยละ 15 บาท แต่เจ้าของโครงการบอกไม่ได้ล่ะ เราจำเป็นต้องปรับเพิ่ม เพราะเงินเฟ้อ การประปาเรียกเก็บค่าน้ำสูงขึ้น ปัจจุบันนี้จ่ายหน่วยละ 25 บาท แล้วใน กทม. เป็นแบบนี้... แต่สำหรับคอนโดในต่างจังหวัด ตัวผมเองทำคอนโดมิเนียมที่ จ.ชลบุรี และระยอง ถ้าเก็บค่าน้ำหน่วยละ 25 บาท “ผมเจ๊งเลย”
สาเหตุเพราะแหล่งน้ำดิบใน จ.ชลบุรี หายากมาก จ.ระยอง ก็หายากเหลือเกิน คอนโดมิเนียมในบางแสน บางที่อาจจะเก็บ 30 หรือ 35 บาทต่อหน่วย ถึงแม้การประปาจะเรียบเก็บหลัก 10-20 บาท แต่ทำไมต้องเก็บลูกบ้าน 30-35 บาท/ลบ.ม. เพราะน้ำดิบน้อย
“ถามว่าลูกบ้านโวยวายมั้ย..เราจัดประชุมลูกบ้าน ลูกบ้านคนไหนถามว่าทำไมค่าน้ำที่นี่แพงกว่า กทม. เราก็เอาข้อมูลของ กปภ. มาให้ดูเลยว่า กปภ.จดมิเตอร์หน้าโครงการเท่าไหร่.. เขาเก็บ 15 บาทแล้ว เราจะมาเก็บ 15 บาทได้อย่างไร เพราะน้ำส่วนกลางถึงเวลาก็ต้องถ่ายออก แบบนี้ใครจ่าย นิติบุคคลก็ต้องจ่าย และยังค่าอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอีก..”

ตอบคำถามคาใจ “ค่าส่วนกลาง” ที่จ่ายไป ไม่เพียงพอหรือที่จะใช้จ่ายในส่วนอื่น
เมื่อถามว่า..ค่าส่วนกลางที่เก็บจากคอนโดทุกแห่ง ไม่ได้เอามาใช้จ่ายในส่วนที่ว่ามาหรือ นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร กล่าวว่า ไม่ใช่..เพราะน้ำประปา คือ การอุปโภคบริโภค แต่ค่าส่วนกลาง คือ การบริหารเงิน เช่น ค่าจ้างบุคคล แม่บ้าน รปภ. ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง อาทิ ลิฟต์ที่ใช้ขึ้นลง เดือนๆ ใช้เป็นแสนบาท ทุกอย่างเป็นเงินทั้งนั้น ยังไม่รวมค่าซ่อมแซม หรือค่าทำเนียมราชการ ค่าบำบัดน้ำเสีย ค่าซ่อมแซม หรือแม้กระทั่ง..เปลี่ยนหลอดไฟทางเดิน สลิงลิฟต์ นี่คือเงินส่วนกลางทั้งหมดมาใช้ในการบริหารอาคาร นี่คือคำตอบว่าเพราะเหตุใดเงินดังกล่าวถึงไม่ครอบคลุม
เมื่อถามว่า เพราะอะไรถึงไม่มีเรตกลางในการเรียกเก็บค่าน้ำประปาในแต่ละแห่ง นายพิสิฐ บอกว่า ค่าใช้จ่ายในแต่ละคอนโดแตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ก็มีมากมาย “ค่าส่วนกลาง” คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับอาคารทั้งหมด ซึ่งก็เรียกเก็บจากลูกบ้าน หากลูกบ้านจ่ายกันครบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากลูกบ้านจ่ายไม่จ่ายครึ่งจะเกิดอะไรขึ้น..
ที่สำคัญคือ เมื่อเราอยู่อาศัยมาช่วงเวลาหนึ่ง จะมีรายจ่ายที่เรียกว่า “ค่าซ่อมแซมครั้งใหญ่” เช่น หากอาคารดูโทรมก็ต้องทาสีใหม่ ลิฟต์ที่ใช้ไปก็ต้องเปลี่ยนสลิงลิฟต์ ระบบไฟ เดินสายไฟใหม่ ท่อน้ำแตก ก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก หากท่อน้ำแตก น้ำก็จะไหลลงช่องชาร์ป ช่องลิฟต์ อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ หากเป็นห้องชุดใหญ่ๆ มีพื้นที่กว่า 1 หมื่น ตร.ม. การใช้จ่าย 4-5 รายการก็เป็นเงินนับ 10 ล้านบาทแล้ว เมื่อใช้ไปก็ต้องหามาเติมให้เต็มเพื่อใช้ยามฉุกเฉินอีก
แม้ค่าน้ำคอนโดมิเนียมที่มนุษย์เงินเดือนนิยมชมชอบอาศัยอยู่กันนั้น จะมีราคาแพงกว่าปกติที่อาจจะเป็นเรื่องยอมรับได้ เพราะแลกมากับความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวย แต่ครั้นจะไม่มีใคร หรือหน่วยงานใดควบคุมดูแลเลย ก็ถือเป็นเรื่องแปลกๆ อยู่ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายสำหรับคอนโดก็ไม่ได้มีแค่ค่าส่วนกลางอย่างเดียว ยังมีอย่างอื่นอีกจิปาถะ
ในตอนหน้า ทีมข่าวฯ จะสอบถามคำตอบจากปากของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ว่าจะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ในเมื่อค่าห้องพัก อพาร์ตเมนต์ยังออกกฎควบคุมได้ แต่สำหรับคอนโด จะมีแนวทางอย่างไร โปรดติดตาม.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณที่มาภาพบางส่วนจากเว็บไซต์ พันทิป