เคยมีคนตั้งคำถามว่าในยุคนี้สมัยนี้ “เรายังต้องเรียนนิเทศศาสตร์กันอยู่มั้ย...”
เพราะไม่ว่าหันไปทางไหน สื่อเก่าก็เข้าขั้นบั้นปลายเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง หรือบางสื่อก็แดดิ้นสิ้นอายุขัยไปแล้วก็มี
เดี๋ยวนี้คุณอ่านหนังสือพิมพ์บ้างไหม.. เปิดวิทยุฟังหรือไม่ ฟังดีเจพูดบ้างหรือเปล่า หรืออยากจะฟังเพลงอย่างเดียวผ่านแอปพลิเคชันชื่อดังอย่างเดียวโดยไม่ฟังคนพูด
คำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อหลายสื่อกำลังเกิดวิกฤติเนื่องจากเทคโนโลยี แล้วแบบนี้มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร จำเป็นต้องผลิตบุคลากรออกมาหรือไม่ หรือจะปรับตัวกันอย่างไร
วันนี้เรามาฟังนักวิชาการนิเทศศาสตร์ตัวจริง 2 ท่าน ได้แก่ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เทคโนโลยี บีบ สื่อเก่า ต้องปรับตัวให้เท่าทัน
ผศ.สกุลศรี เจ้าของงานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์หลายเล่ม กล่าวว่า สื่อวิทยุ เหมือนกับสื่อดั้งเดิมประเภทอื่นๆ ซึ่งจะทำแค่วิทยุอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้คนฟังวิทยุน้อยลง กลุ่มเป้าหมายก็จะชัดขึ้น เมื่อก่อนทำวิทยุในลักษณะที่เป็นแมส สำหรับคนส่วนมาก แต่ยุคปัจจุบันต้องทำแบบเจาะเฉพาะกลุ่ม เขาจะต้องตีโจทย์ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ฟังวิทยุอยู่คือใคร และกลุ่มเหล่านี้มีพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ หรือความสนใจแบบไหน แล้วทำเนื้อหาให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เราจะเห็นวิทยุที่มีความเฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มที่เป็นวิทยุเอง
...
“ขณะเดียวกัน ความเป็นแมสของสื่อวิทยุจะถูกขยายไปสู่แพลตฟอร์มที่เป็นดิจิตอลมากขึ้น อย่างในต่างประเทศ คลื่นวิทยุที่ปรับตัว จะมีการทำ Podcast ไม่ใช่แค่ฟังออนไลน์ แต่เป็นไฟล์ที่สามารถดาวน์โหลดและเก็บมาฟังเมื่อไหร่ก็ได้ เขาจะมีวิธีคิดทำรายการ Podcast เฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจว่า ลักษณะ Podcast เฉพาะกลุ่มจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในเมืองไทยได้หรือไม่ ต้องทำการศึกษาตลาดของผู้บริโภคในเมืองไทยว่า ความสนใจในการเลือกดาวน์โหลดเฉพาะเรื่องจะฟังหรือไม่ อาจจะต้องเริ่มจากฟรีคอนเทนต์ โดยในฟรีคอนเทนต์ เราจะหารายได้จากอะไรได้บ้าง เป็นโมเดลธุรกิจที่ต้องเริ่มคิด
สอดคล้องกับ ดร.พีรชัย เมื่อก่อนเวลาเราจะสื่อสาร เราก็จะคิดว่าเราสื่อสารในวงกว้าง แต่ในปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว เพราะทุกวันนี้คนเราไม่จำเป็นต้องมารับข่าวสารจากสื่ออีกแล้ว โดยเขาสามารถส่งข่าวรับข่าวกันเองผ่านกลุ่มเฉพาะ ดังนั้น สื่อมวลชนเองจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้าหากลุ่มผู้ชมผู้ฟัง โดยต้องเจาะลึกไปยังความต้องการเฉพาะได้ ก็จะทำให้สื่อที่ทำไม่เกิดปัญหา อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วงการวิทยุ จะแดดิ้นไหม 2 นักวิชาการเห็นตรงกัน เนื้อหา สำคัญ และยังไม่ตาย
ถามว่าวงการวิทยุซบเซาไหม ดร.พีรชัย มองว่า ส่วนตัวเชื่อว่าคนที่ฟังวิทยุยังมีจำนวนไม่ได้น้อย และอุตสากรรมวิทยุก็ยังอยู่ได้ เพราะยังมีคนที่ยังรักในการฟัง หรืออยากเป็นดีเจ ใช้เสียงในการทำอาชีพ แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่เยอะแบบสายอาชีพหลักเหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับ เพราะเดี๋ยวนี้รายการวิทยุยังมีกล้องรับหน้าอยู่เลย
“การรับข่าวในช่องทางวิทยุก็ยังคงมีอยู่ เวลาเราอยู่ในรถเราก็ยังฟัง แต่ถ้าอยากเห็นหน้าก็อาจจะใช้อินเทอร์เน็ตเปิดขึ้น เหมือนกับทีวี เดี๋ยวนี้ไม่ได้ดูแค่เสาหนวดกุ้งหรือเคเบิล เราเองก็จำแนกไม่ได้ว่าคนที่ดูทางอินเทอร์เน็ต คือ คนที่ไม่ดูทีวีหรือไม่ ตอนนี้สิ่งสำคัญมันอยู่ที่เนื้อหา และประเภทเนื้อหามากกว่า ตราบใดคนที่ทำรายการดี เนื้อหาดี ก็เชื่อว่าจะมีแฟนประจำอยู่ หากตอบโจทย์คนฟังก็เชื่อว่าอยู่ได้”
ด้าน ผศ.สกุลศรี กล่าวว่า วิทยุจะตายหรือไม่ ต้องไปดูพฤติกรรมคนไทยว่า ฟังวิทยุตอนไหน ส่วนใหญ่คนไทยก็จะฟังวิทยุเวลาอยู่ในรถ ยังมีคนที่เปิดวิทยุเพื่อฟังรายการที่จัดในวิทยุ แล้วรายการก็จะเป็นรายการที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจง ผู้ประกาศมีความชำนาญเรื่องนี้ แล้วรู้สึกว่า เขาหาฟังจากที่อื่นไม่ได้ เขาต้องฟังจากรายการนี้ เราต้องเปลี่ยนเนื้อหาให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์นั้น ทุกๆ เนื้อหา ไม่ว่าสื่อไหนก็ตามหากใช้วิธีนี้ก็ยังไปต่อได้
...
“อนาคตจำนวนคลื่นวิทยุอาจจะไม่มากเท่ากับเมื่อก่อนแล้ว...ส่วนสิ่งที่จะแข่งคือ ใครมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่ากัน และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่ยังฟังวิทยุได้มากกว่ากัน ตอนนี้เรายังไม่ศึกษาเลยว่า กลุ่มคนที่เขาเลือกฟังวิทยุ เขาเลือกฟังเพราะอะไร เขาเลือกฟังอะไร เราไม่มีรีเสิร์ชที่ซัพพอร์ตการปรับตัวของสื่อในประเทศมากพอ เราจะบอกว่าให้สื่อหาวิธีปรับตัวเอง บางทีเขาทำงานทุกวัน เขาคิดไม่ออกหรอกว่าทำอย่างไร บางทีมันควรจะมีรีเสิร์ชที่เป็นฐานข้อมูลให้เขาใช้ในการตัดสินใจได้ว่า คนชอบแบบนี้ เลือกแบบนี้ เพื่อให้เขานำข้อมูลไปทดลองสร้างจุดยืนใหม่ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การวิจัยผู้ฟังเชิงลึก แล้วคุณจะเห็นเองว่า คุณจะปรับองค์กรของคุณไปในทิศทางไหน” อาจารย์สาว กูรูด้านงานวิจัย ให้คำแนะนำ
ไม่ยึดติดที่แพลตฟอร์ม ทางรอดเด็กนิเทศฯ ในสายอาชีพ
หลักสูตรนิเทศศาสตร์ จะตายไหม..จำนวนนักเรียนลดหรือไม่ ดร.พีรชัย กล่าวว่า สำหรับที่อื่นไม่ทราบ แต่ที่ ม.กรุงเทพ เราได้นักศึกษาเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองคนที่มีความมุ่งมั่นเข้ามา “คนที่จะเรียนนิเทศฯ คือคนที่ตั้งใจที่จะเรียนนิเทศฯ “แตกต่างจากสมัยก่อน ว่าไม่รู้จะเรียนอะไร แล้วมาเรียนนิเทศฯ
ยิ่งมีข่าวว่าเรียนนิเทศฯ จะตกงานหรือไม่ จากข้อเสียก็กลายเป็นข้อดี เพราะถือว่าเป็นการสกรีนคนที่จะเข้ามาเรียนสายนี้จริง ทั้งนี้ หลักสูตรนิเทศฯ ของเราได้มีการปรับตัวตลอดเวลา เรามีการรวมหลักสูตรวารสารฯ กับ บรอดคาสติ้ง เข้าไว้ด้วยกัน เพราะเราเห็นว่าตลาดงานไม่ต้องการคนที่รู้เฉพาะด้าน แต่ต้องการคนที่รู้ครอบคลุม
“เชื่อว่าสกิลวารสารกับบรอดคาสติ้งมีความใกล้เคียงกันมาก มีความต่างกันที่ วารสารเฉพาะ อาจจะชอบเรื่องการเขียน การทำข่าว แต่ถ้าเป็นเด็กบรอดฯ อาจจะชอบสาระบันเทิงมากกว่า เราอาจจะลงภาคสนาม ถ่ายภาพ ถือกล้อง ตัดต่อ ฉะนั้นในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยต้องติดอาวุธให้กับเด็กให้ครบ ไม่ควรติดอาวุธเฉพาะอย่าง เราต้องคิดว่าเด็กวารสารฯ ควรมีสกิลการตัดต่อถ่ายทำด้วย ส่วนบรอดคาสติ้งควรมีสกิลในการเขียนด้วย”
...
สำหรับตัวนักเรียนนักศึกษานั้น ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ แบ่งเป็น 2 สายใหญ่ๆ คือ สายสื่อ ได้แก่ วารสารศาสตร์ มีผู้เรียนประมาณ 10% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากมานานแล้ว และส่วนสายบอร์ดคาสติ้ง จะมี 30-40% และส่วนที่เหลือจะอยู่สายการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมีมากที่สุด
“ถามว่าเรายังสอนหลักการวิทยุอยู่ไหม เรายังสอนอยู่ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้เน้นหรือยึดติดกับแพลตฟอร์ม เราพยายามปั้นให้คนที่สามารถทำรายการวิทยุได้ดีก็ต้องสามารถจัดรายการทีวีได้ด้วย เพราะเราไม่ได้เน้นเข้าสู่แพลตฟอร์มวิทยุโดยเฉพาะ หรือให้จบมาเป็นดีเจ”
ด้าน อาจารย์ไอซ์ หรือ ผศ.สกุลศรี กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า เชื่อว่าหลายที่ก็พยายามปรับหลักสูตรให้มีคำว่า “ดิจิตอล” เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า ทักษะของความเป็นวิทยุนำมาใช้กับแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิตอลอย่างไร มันจะมีคาแรกเตอร์เฉพาะบางอย่างของความเป็นวิทยุ เช่น วิธีการพูด วิธีการใช้เสียง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พอมาผสมผสานบางเรื่องในแพลตฟอร์มดิจิตอลมันสามารถไปต่อได้
...
ถามว่าเราตัดวิทยุไปเลย ไม่ต้องสอนไหม บางที่ก็อาจจะตัดไปเลย แต่บางทีถ้าแนะนำเขาควรจะเปลี่ยนศาสตร์ของการใช้เสียง การดีไซน์เสียง รูปแบบการใช้เสียงแต่ละประเภท เด็กนิเทศศาสตร์ควรได้เรียน เพราะเขาจะไปใช้กับงานอื่นๆ ได้ด้วย
อย่างที่มหาวิทยาลัยเรา เป็นแนวคอนเวอร์เจนท์ เราจะไม่สอนแยกแพลตฟอร์ม เด็กไม่ได้เรียนวิทยุเดี่ยวๆ แต่เขาต้องคิดได้ว่า คอนเทนต์ของเขามันจะไปอยู่ในลักษณะที่เป็นทีวีอย่างไร ถ้าไปทำวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จะทำอย่างไร...
“นิเทศศาสตร์ไม่ควรสอนเด็กให้ยึดติดกับแพลตฟอร์ม แต่ควรสอนให้ยึดติดกับคำว่าคอนเทนต์ และคอนเทนต์ต้องมีความยืดหยุ่นที่จะไปอยู่ได้ในทุกๆ แพลตฟอร์ม เด็กนิเทศฯ ไม่มีทางตกงาน ถ้าทำแบบนี้ได้ และนิเทศศาสตร์ก็จะยังคงอยู่ต่อไปได้ เราสร้างเนื้อหา ไม่ได้สร้างคนทำงานบนแพลตฟอร์มต่างหาก” หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าว
critical thinking รากฐานความคิดเชิงวิเคราะห์แน่น พลิกแพลงใช้ได้สารพัด
หลักนิเทศฯ ในยุคเดิมนั้น จะมีการเรียนรู้เป็นรูปแบบ เช่น เรียนวิทยุก่อนไปทีวี เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การเรียนการสอนในแต่ละยุคไม่เหมือนกัน สมัยก่อน เราอาจจะต้องเรียนหลักสูตรวิทยุก่อน เพื่อฝึกการพูด แล้วค่อยเรียนทีวี นี่คือการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม มาจากผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจหลักสูตรเป็นคนคิดขึ้น เหมือนผู้ใหญ่คิดแทนเด็กว่าควรเรียนพูดก่อนเขียน หรือ เขียนก่อนพูด แต่เราไม่มีวันรู้เลย ว่าลูกหลานหรือลูกศิษย์เรามีกระบวนการเรียนรู้แบบนี้
“หากวางหลักสูตรการสอนแบบนี้ถือเป็นการสะท้อนความคิดว่า “อาจารย์เป็นใหญ่” แต่สำหรับเรา เราต้องทำให้นักศึกษาได้เลือกเส้นทางของเขาเองมากที่สุด”
ดร.พีรชัย กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก คือ critical thinking การคิดเชิงวิเคราะห์ เราต้องพัฒนาให้กลายเป็นทักษะ ไม่ว่าเขาจะเผชิญทางด้านแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยี เขาจะสามารถพลิกแพลงแก้ไขสถานการณ์ได้ เช่น เคยทำข่าวการเมือง แต่ถูกไปทำข่าวบันเทิง เคยเชี่ยวชาญวิทยุพลิกมาทำงานโทรทัศน์ แต่เมื่อเขามีความคิดเชิงวิเคราะห์ที่แข็งแรงมาก จะทำให้เขาได้ข่าวที่ดีได้ ซึ่งนี่คือสิ่งจำเป็นมากสำหรับนักนิเทศศาสตร์
การคิดเชิงวิเคราะห์นั้น หากแปลเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือ การ “ฉุกคิด” หากเราฉุกคิดเราจะไม่ปล่อยผ่าน เราจะไม่ก้าวข้าม หรือเพิกเฉยสิ่งต่างๆ ตรงนี้คือโอกาสการเรียนรู้ นักนิเทศศาสตร์สำหรับบางคนอาจจะเหมือนอาชีพในฝัน เพราะอาชีพสายสื่อนี้จะมีกุญแจพิเศษที่จะทำให้เขาไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ เขาสามารถอยู่สงครามกลางเมือง หรือบนยอดเขาที่สวยที่สุดในโลก เพื่อรายงานข่าว ตรงนี้ผมว่าอาชีพนี้หลายคนอาจจะอิจฉา
ด้าน อาจารย์สกุลศรี กล่าวว่า จำนวนเด็กเรียนนิเทศฯ ของปัญญาภิวัฒน์เราไม่ลดลง เพราะคนเริ่มเข้าใจว่าเราไม่ได้ยึดติดแพลตฟอร์ม เข้าใจไอเดียในการทำคอนเทนต์ เขาจะไปทำบนแพลตฟอร์มไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น เราจะได้เด็กที่อยากทำงานในหลายๆ แพลตฟอร์มมาอยู่รวมกัน เรียนรู้ร่วมกัน เขาก็จะสามารถทำได้ในหลายๆ รูปแบบ ถ้าปรับตัวได้แบบนี้ก็ดี
“สำหรับโจทย์ของ “การสร้างคน” ออกไปสู่อุตสาหกรรมสื่อ ถ้าเรายังสร้างคนออกไปทำงานสื่อได้แค่ช่องทางเดียว เขาก็ทำงานลำบาก และไม่ตอบโจทย์องค์กรสื่อที่พยายามปรับเป็นหลายๆ แพลตฟอร์มด้วย ก็เลยทำให้การพัฒนาไปได้ช้า ถ้าเราปรับในภาคการศึกษาพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมสื่อ เราก็น่าจะเห็นวิธีการคิดใหม่ๆ”
หาจุดแข็ง สร้างความแตกต่าง วิทยุจะอยู่ได้
ผศ.สกุลศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสื่อวิทยุ อย่าคิดว่าตัวเองเป็นแค่แพลตฟอร์มวิทยุ หรือทิ้งไปเลย พยายามหาจุดแข็ง ความแตกต่าง ที่เป็นความชำนาญของตัวเอง เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น ใช้ความสามารถพิเศษที่สะสมมาในการปรับตัว ขยายการทำงานวิทยุไปสู่ช่องทางอื่นๆ พยายามหารูปแบบ Business Model ใหม่ ที่พึ่งพิงโฆษณาน้อยลง โดยโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ แต่ต้องมีรายได้จากส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น รายได้จากกิจกรรม รายได้จากความรู้ รายได้จากการทำสินค้าที่เกี่ยวข้องขึ้นมา แต่ละส่วนมันอาจจะมีรายได้ไม่เยอะ แต่เมื่อประกอบรวมกันแล้ว มันทำให้องค์กรยังขับเคลื่อนต่อไปได้
“ส่วนนักศึกษาที่เรียนด้านนี้ ให้มีความยืดหยุ่นในทุกๆ แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น ตามเทคโนโลยีให้ทันว่าไปถึงไหนแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของประเด็นความรอบด้านของข้อมูล และมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเนื้อหาแตกต่าง ถ้าผนวก 2 เรื่องนี้รวมกัน เป็นคนสร้างเนื้อหาที่อยู่ได้ในทุกๆ ที่ ทุกๆ องค์กร โอกาสในการทำงานก็จะเพิ่มมากขึ้น
“การปรับตัว” ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกธุรกิจ เพราะการ “ขยับ” ก่อน เท่ากับมีสิทธิ์ก่อน เฉกเช่นเดียวกัน หากเด็กยุคใหม่มีความรู้ รากฐานความคิด เทคนิคมากมาย คุณก็มีโอกาสได้งานดี เงินดี ชีวิตมั่นคง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ดิจิตอลฆ่าวิทยุ? DJ ขาลง จะอยู่อย่างไร เมื่อคนฟังไม่โทรมาขอเพลง
ขอบคุณภาพ - เฟซบุ๊ก ม.กรุงเทพ และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์