เทรนด์ลูกแฝดกำลังมาแรงอย่างคนดังฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็นคู่ของ “บียอนเซ่กับเจย์-ซี” และลูกแฝดชายหญิงเชอร์-รูมี่ “จอร์จ คลูนีย์กับอามาล” กับลูกแฝดชายหญิง อเล็กซานเดอร์-แอลล่า “คริส เฮมส์เวิร์ธ กับ เอลซา พาทากี” ลูกแฝดชาย ทริสตัน-ซาช่า ขณะที่บ้านเราคู่รักดารา-ศิลปิน ก็มีลูกแฝดน่ารักๆ นับสิบคู่

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “เทรนด์ลูกแฝด” เพราะกว่าจะมีฝาแฝดได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังเสี่ยงเจ็บตัวและภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ด้วย โดยผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเรื่องนี้คือ รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บียอนเซ่กับเจย์-ซี” และลูกแฝดชายหญิงเชอร์-รูมี่
บียอนเซ่กับเจย์-ซี” และลูกแฝดชายหญิงเชอร์-รูมี่

...

เทรนด์ลูกแฝด หรือ แจ็กพอตจากธรรมชาติ

เชื่อว่าหลายคนหากเห็นเด็กแฝดหน้าตาเหมือนกัน แต่งชุดเหมือนกัน ก็คงจะน่ารักน่าชัง และอยากจะมีเป็นของตัวเองอย่างแน่นอน สำหรับข้อดีของการมีลูกแฝดนั้น เช่น หน้าตาเหมือนกัน แต่งตัวเหมือนกัน น่ารัก น่าเอ็นดูสุดๆ เป็นเพื่อนคู่คิด พี่น้องที่สนิทกัน เจ็บครั้งเดียว ได้ลูกหลายคน

รศ.นพ.สมชาย ผู้คลุกคลีอยู่กับคลินิกครรภ์แฝด ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า “คนที่มีบุตรยาก เขารอมานาน และคิดว่าถ้าต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้ามาช่วย และต้องทำหลายๆ ครั้ง ร่างกายอาจจะไม่ไหว เรื่องความเหนื่อย เจ็บตัว เสียเงิน เขาจึงคิดว่า ไหนๆ มีแล้วขอให้ใส่ไป 2 คนไปเลย

ขณะที่ ด้วยความที่กลัวว่าไม่ติดและจะล้มเหลว จึงใส่ 2 ตัวขึ้นไป เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และทำให้ตัวเลขแห่งความสำเร็จของศูนย์นั้นสวยงาม ปัจจัยตรงนั้นจึงไม่ได้อยู่ที่ความนิยม หรือความจำยอม”

สายฟ้ากับพายุ ของแม่ชมและพ่อน็อต ภาพจาก @chomismaterialgirl
สายฟ้ากับพายุ ของแม่ชมและพ่อน็อต ภาพจาก @chomismaterialgirl

ทำความเข้าใจ แฝดธรรมชาติ VS แฝดวิทยาศาสตร์

แฝดธรรมชาติ เป็นการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ในครอบครัว เชื้อชาติบางเชื้อชาติ อย่างชาวผิวดำบางเกาะมีลูกแฝด 1 ใน 10 คู่ หรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลายๆ ท้องก็มีโอกาสสูงขึ้นเช่นกัน โดยแฝดธรรมชาติมี 2 ลักษณะ ได้แก่

“แฝดแท้” คือแฝดที่เกิดขึ้นจากการผสมกันของไข่ 1 ใบ กับอสุจิ 1 ตัว แต่ระหว่างที่มีการฝังตัว ไข่ที่ถูกผสมมีการแบ่งเป็นตัวอ่อน 2 ตัว หรือมากกว่านั้น แฝดแท้จะมีเพศเดียวกัน หมู่เลือดเดียวกัน และมักจะมีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกัน

“แฝดเทียม” เกิดจากไข่มากกว่า 1 ใบ ที่ผสมกับอสุจิคนละตัว การตกไข่ของผู้หญิงจะตกเดือนละ 1 ใบ แต่ในบางครั้งก็จะตกมากกว่า 1 ใบ และหากบังเอิญว่าไข่ทั้ง 2 ใบได้รับการปฏิสนธิโดยตัวอสุจิคนละตัว ก็จะได้แฝดสอง ชนิดไข่คนละใบ โดยเป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศก็ได้

พ่อคู่แฝด ลูกก็คู่แฝด ภาพจาก @tide2tide
พ่อคู่แฝด ลูกก็คู่แฝด ภาพจาก @tide2tide

...

แฝดวิทยาศาสตร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ​ “รักษาผู้มีบุตรยาก” ไม่ใช่การทำแฝด ได้แก่ การทำกิ๊ฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT) เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization: IVF) ฉีดเชื้ออสุจิเพียงหนึ่งตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ หรืออิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI)

สำหรับการใช้ยากระตุ้นไข่ เพื่อให้เกิดการตกไข่ ซึ่งไม่สามารถกำหนดให้รังไข่ตกไข่มาใบเดียวได้ ทำให้บางครั้งการใช้ยากระตุ้นไข่ ทำให้ผู้หญิงตกไข่ได้มากกว่า 1 ใบ และทำให้เกิดครรภ์แฝดขึ้น

หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว โดยนำไข่มาผสมกับตัวอ่อนนอกร่างกายของมนุษย์ และนำตัวอ่อนฉีดกลับเข้าไป กระบวนการต่างๆ มีโอกาสผิดพลาดคลาดเคลื่อน แท้ง หรือไม่ติด จึงมีการใส่ตัวอ่อนเข้าไป “มากกว่า 1 ตัว” หากบังเอิญติดหมดเลย ก็จะกลายเป็นแฝดตามจำนวนที่ใส่เข้าไป แต่หากใส่ไป 2 ตัว โดยตัวหนึ่งฝังไม่ติด ส่วนอีกตัวฝังติดก็จะได้ครรภ์เดี่ยว

หล่อได้พ่อจริงๆ เลย ภาพจาก @chomismaterialgirl
หล่อได้พ่อจริงๆ เลย ภาพจาก @chomismaterialgirl

...

เด็กแฝดเฟ้อ! อังกฤษ อเมริกาบางรัฐ ควบคุมการใส่อสุจิแค่ 1 ตัว

รศ.นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า ประเทศอังกฤษ หรือบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายบังคับให้ใส่ตัวอ่อนไปผสมกับไข่แค่ 1 ตัว เพื่อไม่ให้เกิดครรภ์แฝดเยอะเกินไป เนื่องจากบางคนใส่เข้าไป 1 ตัวก็ยังกลายเป็นแฝดอยู่ดี บางคนใส่ 2 ตัว กลายเป็นแฝด 4 โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ โดยพบว่าการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แม้จะใส่ตัวอ่อนเพียง 1 ตัว อัตราเกิดการแบ่งเป็น 2 ทำให้เกิดแฝดเหมือนสูงกว่าการตั้งครรภ์ธรรมชาติ

ดังนั้นจำนวนการตั้งครรภ์บางครั้งไม่ได้ตรงกับตัวอ่อนที่ใส่เข้าไป เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยควบคุมได้ยาก หลายประเทศจึงกำหนดว่า ให้ใส่ตัวอ่อนแค่ 1 ตัว เพราะโอกาสเกิดแฝด 2 นั้นมีอยู่แล้ว แต่แทนที่จะได้แฝด 3 หรือแฝด 4 จะกลายเป็นว่ามีแฝดทารกจำนวนมาก ขณะที่ เมืองไทยยังให้ใส่ตัวอ่อนไม่เกิน 2 ตัว

“คริส เฮมส์เวิร์ธ กับ เอลซา พาทากี” ลูกแฝด ทริสตัน-ซาช่า
“คริส เฮมส์เวิร์ธ กับ เอลซา พาทากี” ลูกแฝด ทริสตัน-ซาช่า

...

อยากได้ลูกชาย-ลูกสาว เลือกเพศไม่ได้ ผิดจริยธรรม

เป็นเรื่องปกติที่คนมักจะถามกันว่า “อยากมีลูกสาวหรือลูกชาย?” ซึ่งการเลือกเพศลูกในบ้านเรานั้น เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย โดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 และตามประกาศแพทยสภา ในเรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีข้อกำหนดว่า “การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก จะทำได้เฉพาะการตรวจวินิจฉัยโรคตามความจำเป็น และต้องไม่กระทำในลักษณะการเลือกเพศ โดยสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ให้บริการต้องได้รับหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้”

“สมมติว่า มีลูกสาว 4 คนแล้ว คนนี้อยากได้ลูกชาย แต่ปรากฏว่าไม่ได้ตามที่ต้องการ จะให้ดูดออกไปก็ผิดจริยธรรมและผิดกฎหมาย เพราะว่าการเลือกเพศเป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งกับจริยธรรม หากเลือกแล้ว ไม่ได้ตามที่เลือก จะทำอย่างไร” รศ.นพ.สมชาย อธิบาย

ค่าใช้จ่ายสูงลิบ แลกความเจ็บ เพื่อโซ่ทองคล้องใจ

การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั้น สำหรับโรงพยาบาลรัฐ เริ่มตั้งแต่หลักหมื่นปลายๆ ไปจนถึงหลักแสน ขณะที่สถานพยาบาลเอกชน จะเริ่มตั้งแต่หลักแสนขึ้นไปจนถึงล้านต่อกระบวนการทำ 1 ครั้ง โดยไม่การันตีว่าจะติดหรือไม่

สำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว มีปัจจัยจาก อายุเท่าไร ฮอร์โมนดีหรือไม่ มีโรคที่ทำให้ท้องยากมากๆ หรือไม่ ความสามารถของแพทย์ การเก็บไข่ นักวิทยาศาสตร์ในการผสมตัวอ่อนกับตัวอสุจิ บางคนต้องทำ 3 ครั้ง ขณะที่บางคนทำครั้งเดียวก็ติดแล้ว

“หากทำเด็กหลอดแก้ว ก็จะได้รับการกระตุ้นไข่ โดยเก็บไข่ออกมาภายนอกร่างกาย บางแห่งใช้ดมยาสลบ โดยแทงเข็มผ่านเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อไปดูดเอาไข่ออกมา พอผสมเป็นตัวอ่อนเสร็จ ต่อมาก็จะฉีดกลับเข้ามดลูก เพื่อเข้าไปฝังตัว กระบวนการเหมือนง่าย แต่บางคนไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว และระหว่างทางของครรภ์แฝด มีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เหนื่อยอ่อนหรือหมดกำลังใจได้เยอะ หลังคลอดเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่า” รศ.ดร.สมชาย อธิบาย

ครรภ์แฝดเสี่ยงกว่าครรภ์เดี่ยว

หลังจากที่พูดถึงข้อดีของการมีลูกแฝดแล้ว จะไม่พูดถึงเรื่องข้อเสียก็คงจะไม่ได้ โดย รศ.นพ.สมชาย เผยถึงภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ในครรภ์แฝด เช่น

การแท้ง, การคลอดก่อนกำหนด, การมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์, การมีรกเกาะต่ำ รกรอบตัวก่อนกำหนด, ตกเลือดหลังคลอด, ภาวะความดันโลหิตสูง, ภาวะโลหิตจาง และภาวะทางสูติศาสตร์อื่นๆ ยังไม่นับว่าถ้าเป็นแฝดที่เกิดจากไข่เดียวกันบางเคสมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การถ่ายเทเลือดถึงกันแบบไม่สมดุล ทำให้คนหนึ่งตัวใหญ่ คนหนึ่งตัวเล็ก มีโลหิตจาง เลือดข้นเกินไป รวมทั้งความพิการ ซึ่งมีสูงกว่าครรภ์เดี่ยวทั้งหมด

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมครรภ์แฝดไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการคลอดออกมาแล้วได้เลี้ยง แต่จบลงที่การแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งเสียชีวิตด้วย

นอกจากนี้ ยิ่งมีจำนวนเด็กเยอะ ความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวก็ยิ่งมากตามไปด้วย รวมทั้งโอกาสรอดครบทุกคนก็น้อยลงด้วย

“ถึงแม้ผมจะดูแลเรื่องนี้มานาน แต่ยิ่งดูแลนานก็ยิ่งไม่อยากให้คนท้องแฝด ถ้าเขาไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ หรือผลข้างเคียงจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ให้หมอทำลูกแฝดให้ ผมถือว่าเป็นการหาเรื่องโดยไม่เข้าท่า เพราะมันไม่ได้สวยหรู หรือง่ายดายเหมือนอย่างเห็น ส่วนที่ตั้งครรภ์แฝดแล้วก็เป็นกำลังใจให้ หลายคนแฮปปี้เอนดิ้ง ได้ลูกสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงลูกน่ารักได้อย่างดี” ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์ กล่าว.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน