เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว สำหรับ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ หรือ เส้นเลือดในสมองแตก หลังจากดาราดัง “อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” เกิดป่วยกะทันหันต้องรักษาเป็นการด่วนด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
ล่าสุด ภัยเงียบนี้เกิดขึ้นกับ สศจ. หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส หลังมีรายงานว่า อาจารย์คนดังได้ล้ม และมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้ โดยกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองน้ำหอม
ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอขยายความภัยเงียบดังกล่าว ว่ามีต้นเหตุมาจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรถึงจะรอดพ้นจากโรคนี้...

อาหาร ต้นเหตุโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แตก คนป่วยความดัน เบาหวาน เสี่ยงสูง
นพ.วทัญญู ปรัชญานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านประสาทศัลยศาสตร์ รพ.รามคำแหง กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบ และแตก มาจากอาหารการกิน อายุที่เพิ่มขึ้น ความเครียด โดยเฉพาะคนที่ป่วยไขมันในเลือดสูง โรคความดัน และโรคเบาหวาน
...
“ยิ่งเรากินอาหารที่แป้งเยอะ อาหารมันเยอะ ก็จะยิ่งเข้าไปสะสมในร่างกาย ส่งผลให้มีโอกาสที่เกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก”
โรคนี้มักเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด คนที่จะเป็นจะไม่ค่อยรู้ตัวมาก่อน ซึ่งหากเกิดอาการแล้ว สิ่งที่ปรากฏต่อร่างกายทันทีคือ หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด และเรื่องเวลา เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้คือ ต้องเร็วที่สุด ภายใน 3-4 ชั่วโมง

หากพบแบบนี้เช็กแล้วด้วยการเข้าเครื่องซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) หรือฉีดสีหลอดเลือดแล้วพบว่า อุดตันชัดเจน แบบนี้เราอาจจะใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อให้ไปละลายที่อุดตันออก แต่...การใช้วิธีนี้ก็มีความเสี่ยงประมาณ 7% ที่จะทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ ตรงนี้ทางญาติต้องยอมรับความเสี่ยงด้วย”
คุณหมอวทัญญู กล่าวต่อว่า ถ้าอุดตันมากกว่า 4 ชั่วโมงไปแล้ว ความเสี่ยงที่จะใช้วิธีนี้ก็มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 30% ดังนั้น แพทย์จึงไม่นิยมช่วยวิธีนี้ เพราะมีความเสี่ยงสูง...นี่คือสาเหตุที่ต้องรีบส่งตัวให้แพทย์
“ถามว่าจะเสี่ยงได้ไหม...คำตอบคือได้ แต่ต้องสวนหลอดเลือดไปยังจุดเกิดเหตุที่ตันเลย โดยจะไม่ใช้วิธีการฉีดเข้าเส้นหลอดเลือดดำ แต่ก็มีความเสี่ยง...”

อุดตันสมอง ซ้าย-ขวา ต่างกัน
มีปัจจัยอย่างไร หากเกิดเส้นเลือดในสมองแตกแล้ว จะเกิดอัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต ซีกซ้ายและขวา คุณหมอวทัญญูอธิบายว่า เปอร์เซ็นต์ซ้ายหรือขวา ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเราทราบกันอยู่แล้วว่า สมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวา สมองซีกขวาควบคุมด้านซ้าย
“ส่วนจะเกิดอุดตันที่สมองซีกซ้ายหรือขวา นั้นเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเกิดซ้ายหรือขวา แต่ถ้าเกิดในข้างสำคัญที่เป็นส่วน cognitive ซึ่งไม่แน่นอนว่าอยู่ที่สมองซีกไหน หากเกิดที่ส่วนนั้นก็จะส่งผลต่อการพูด คิด ตัดสินใจ วางแผน คิดริเริ่ม การมีเหตุผลด้วย"
นพ.วทัญญู อธิบายว่า สมองในส่วน cognitive โดยมากจะอยู่ฝั่งซ้าย โดยเฉพาะคนที่ถนัดขวา ทั้ง 100% แต่สำหรับคนที่ถนัดซ้าย จะมีบ้างที่สมองส่วนนี้จะอยู่ฝั่งขวา แต่ก็มีบางคนอยู่ฝั่งซ้ายก็มี เรื่องนี้ไม่แน่นอน
...

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดคนที่ป่วยโรคนี้แล้วเกิดอุดตันในสมองส่วนนั้น ก็จะทำให้คนนั้นสูญเสียการพูด คิด ตัดสินใจไปด้วย นอกจากอัมพาตที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจากประสบการณ์การรักษาที่ผ่านมา จะพบว่าคนท่ีอัมพาตซีกซ้าย ส่วนใหญ่ก็ยังพอพูดได้ เพราะสมองส่วนนั้นไม่เสียหาย
ส่วนเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับอุดตันที่ส่วนไหน ส่วนที่อุดตัน หรือแตกนั้น อยู่ในส่วนที่สำคัญหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีก้อนเล็กๆ อุดตันในแกนสมองซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่คอยควบคุมหัวใจ...ก็อาจจะทำให้คนนั้นถึงแก่ชีวิตได้

...
แนะควบคุมอาหาร ดูแลตัวเองให้ดี เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
นพ.วทัญญู กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน หากเกิดเส้นเลือดอุดตันแล้วโอกาสกลับมาเป็นเหมือนเดิมค่อนข้างยาก เพราะจะหลงเหลือความพิการไม่มากก็น้อย ยกเว้นว่าเกิดขึ้นแป๊บเดียวโดยธรรมชาติ เรียกว่า สมองบางส่วนอุดตันชั่วคราว โดยอุดตันแล้วหลุดออกเอง เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้บางทีก็แล้วแต่ดวง
“สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกัน หมั่นเช็กสุขภาพ ควบคุมอาหาร อย่าปล่อยให้ร่างกายมีไขมันในเลือดสูง หากมีความดัน ไขมัน น้ำตาล ความเครียด พักผ่อนน้อย ก็มีความเสี่ยงสูง”

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของสำนักโรคไม่ติดต่อ พบว่า การอัมพาต หรือ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก 17 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 6.5 ล้านคน
สำหรับในประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากการตายก่อนวัยอันควรสูงเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ในภาพรวมปี พ.ศ.2557–2559 เท่ากับ 38.63, 43.28 และ 43.54 ตามลำดับ
...
จะเห็นได้ว่าอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพบว่าโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราตายมากกว่าโรคเบาหวานและโรคหัวใจขาดเลือดเป็น 1.5–2 เท่าตัว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน