“ศิษย์” ย่อมมี “ครู” 

การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเก่งจนถึงทุกวันนี้ได้ ย่อมมีครูคอยอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ และนี่คือ อดีตครูฝึกหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ หน่วยซีล ได้แก่ “ครูค่าย” หรือ น.ต.ค่าย โตชัยภูมิ อดีตหน่วยซีล รุ่นที่ 9 และครูฝึกหน่วยซีล ซึ่งได้เรียนจบหลักสูตรรบพิเศษ 3 หลักสูตรหลัก อันได้แก่ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ ซีล หลักสูตรการรบแบบจู่โจม หรือ เสือคาบดาบ และ “พลร่มป่าหวาย” กองพันจู่โจม (ทหารม้า) นอกจากนี้ ยังได้เรียนจบหน่วยซีล ที่สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ อีกมากมาย

ครูค่ายผู้นี้จะแข็งแกร่งขนาดไหน... ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่พลาด ที่จะตามหาเพื่อเปิดใจ

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ

...

ครูค่ายในวัย 70 ปี ยังคงเสียงใส สะท้อนสุขภาพร่างกายยังแข็งแรง เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า “สมัยเด็กๆ นั้น ผมก็เป็นลูกชาวนา เห็นนามสกุลก็คงจะทราบว่า เป็นคนชัยภูมิ เกิดและเติบโตที่ อ.คอนสวรรค์”

น.ต.ค่าย เล่าเรื่องราว เมื่อกว่า 60 ปีก่อนให้ฟังว่า เขาเป็นคนค่อนข้างเรียนเก่ง เรียนห้องคิงมาโดยตลอด โดยเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด (ในเมือง) ดังนั้น ด้วยระยะทางจากบ้าน กว่า 30 กม. ถนนสมัยก่อนยังกันดาร ก็เลยไม่ค่อยได้กลับบ้าน ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่กับเพื่อน ซึ่งทุกวันนี้เพื่อนบางคนก็เป็นใหญ่เป็นโต เป็นอัยการก็มี...

“เชื่อไหมผมเป็นลูกชาวนาก็จริง แต่ไม่เคยทำนาเลย ผมเป็นลูกคนที่ 6 จาก 8 คน เห็นว่าเราเรียนเก่ง จึงให้เรียนอย่างเดียว บ้านกับที่โรงเรียนก็ไกลกัน จึงไม่ได้กลับไปช่วยทำนา”

ครูค่ายฉายภาพความหลังครั้งยังเด็กๆ ใช้ชีวิต แบบเด็กอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ แต่แล้วชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนพลิกผันในชีวิต

“หลังเรียน จบ มศ.4 ที่โรงเรียนประจำจังหวัด ชย.1 หรือ ชัยภูมิ 1 (โรงเรียนชายล้วน) ก็ต้องเลิกเรียน เพราะครอบครัวไม่มีปัญญาที่ส่งเสีย ถึงแม้เราจะอยากเรียนสูงๆ ก็ตาม”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ
ชีวิตพลิกผัน เข้าสู่เส้นทางลูกผู้ชาย ลูกประดู่ ตาเป็นประกายได้เจอ “ไอดอล” หน่วยซีล

หลังจากทางบ้านหยุดส่งเสียเรื่องการเรียน ครูค่าย ได้เลือกมาสอบเป็น "นักเรียนจ่าทหารเรือ" และเวลาเพียง 2 ปี ครูค่ายก็เรียนจบโดยไม่ยากเย็นนัก แต่...ระหว่างที่เรียนนั้น เขาได้เจอบุคคลที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล...

“ตอนระหว่างเรียนได้เจอกับ “มนุษย์กบ” 2 คนแรกที่รู้จัก คือ พล.ร.ต.อัมพร พุทธนิมนต์ และ ครูประชุม (จำนามสกุลไม่ได้) ตื่นเต้นดีใจ ตาเป็นประกาย เห็นเครื่องหมายที่ติดอยู่ที่อก ท่าทางแข็งแรงมาก อยากจะเรียน อยากจะเป็นแบบนั้นให้ได้ ทั้งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า มนุษย์กบคืออะไร..”

อย่างไรก็ดี หลังจากเรียนจบ นักเรียนจ่าทหารเรือ ความฝันที่เคยพลุ่งพล่านในอะดรีนาลีน ก็กลับลืมเลือนไป แต่แค่ไม่นาน ครูค่ายได้เห็นเพื่อนในรุ่น 2 คน ที่เข้าไปก่อนแล้ว และพักอยู่บ้านเดียวกัน ได้เครื่องหมายมาติดที่อก เพียงเท่านั้นแหละ ความฝันของครูค่ายได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง “เอาวะกูจะเป็นมนุษย์กบให้ได้”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ

...

“ตอนที่ขึ้นบก เรือมาจอดที่หน้าหน่วยมนุษย์กบ เห็นมนุษย์กบแต่งตัวเท่ดี และยังมีเพื่อนรุ่นเดียวกันอีก 2 คนที่สอบเข้าได้ โดยอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ดูมันเท่เหลือเกิน คนเป็นทหาร หากหน้าอกมันโล้นๆ ไม่มีเครื่องหมายอะไรมาติด มันดูไม่ดี”

ตอนนั้น ทหารเรือตัวน้อยๆ ยศจ่าเอก ยังทำงานอยู่บนเรือ ทำหน้าที่ช่างเครื่องกลของเรือ ช่วงชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่บนเรือ แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะไปสอบหน่วยรบพิเศษ​ เขาก็ยื่นใบสมัครและไปทดสอบร่างกายในทันที ผลปรากฏว่า สอบครั้งแรกล้มเหลว..ครูค่ายสอบไม่ติด

“ผมถูกบรรจุ มาเป็น “จ่าช่างกล” ชีวิตช่างบนเรือก็อยู่แต่ในท้องทะเล ร่างกายไม่ได้ฝึกซ้อมเลย พอมาสอบหน่วยซีล จึงไม่ผ่านการทดสอบ แบบนี้ไม่ไหว..มาขออยู่บนบก บ้างดีกว่า”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก - Wassana Nanuam
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก - Wassana Nanuam

...

หลังจากอยู่บนบกได้ไม่นาน หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม ก็เปิดรับสมัครอีกครั้ง คราวนี้ครูค่ายเตรียมใจ เตรียมร่างกายมาอย่างดี มีเวลาก็ไปซ้อมวิ่ง ว่ายน้ำ อย่างหนัก จึงไม่ยากที่จะผ่านคัดเลือกเข้าหน่วยซีลในรุ่นที่ 9 ในปี พ.ศ. 2516

ครูค่าย เล่าว่า ปกติแล้ว หน่วยซีล จะเปิดรับไม่บ่อยนัก บางครั้ง 5 ปี เปิดรับครั้งเดียว แต่..ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม จึงมีการเปิดรับมากขึ้น จึงทำให้มีโอกาสเข้าไปได้ กระทั่งเรียนจบ สงครามเวียดนาม ได้สงบลง

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ
ฝึกมนุษย์กบยุคนั้น ค่อนข้างหนัก และโหดหิน โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์​นรก (Hell Week)

น.ต.ค่าย เล่าบรรยากาศการฝึกหน่วยรบพิเศษในสมัยนั้น แตกต่างจากสมัยนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรก ไม่มีวิชาการเลย ฝึกแต่พละกำลังทางร่างกาย วิ่ง ว่ายน้ำ เพื่อสร้างร่างกายให้แข็งแกร่ง จากนั้นก็จะมีการทดสอบ หากทดสอบผ่าน ถึงจะได้เข้าทดสอบด้านจิตใจในช่วง “สัปดาห์นรก” ซึ่งก็เหมือนกับเราที่เห็นในสารคดี ซึ่งตอนนั้น เขาไม่ให้ถ่ายรูปเหมือนสมัยนี้

...

“เรียกว่าเป็นการทดสอบจิตใจคน เหมือนกับเราที่เจอเชียงราย (ช่วยชีวิต 13 หมูป่า) เรียกว่านรกจริงๆ อดหลับอดนอน เจออะไรสารพัด เรียกว่า เท้าทุกคนเปื่อยหมด ครูฝึกที่เขาฝึกก็พยายามช่วยเหมือนกัน เซฟชีวิต บางครั้งรู้สึกว่าไม่ไหว แต่พอเขาให้ออกซิเจนแล้ว ได้แรงกระตุ้นจากครูฝึกก็ฮึดต่อ หลังจากฝึกเสร็จวันนั้น เบลอไปหมด ผมถูกหามมาส่งที่บ้าน”

ในรุ่นสมัคร 75 คน มีทหาร ทบ. มาสมัคร จากพลร่มป่าหวาย มา 5 คน ผ่าน 3 คน ส่วนที่เหลือที่เป็นทหารเรือ จบเพียง 20 คน สรุปแล้ว มนุษย์กบรุ่นที่ 9 เรียน 75 คน จบเพียง 23 คน

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ
มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ

หลังจากจบหน่วยซีล น.ต.ค่าย ก็สานต่อความฝันของตัวเอง ด้วยการไปเรียนหลักสูตรรบพิเศษอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ จู่โจม “เสือคาบดาบ” (RANGER) และพลร่มป่าหวาย ที่ลพบุรี

“3 หลักสูตร 3 เครื่องหมายนี้ จะต้องแข่งกันไปเรียน ถ้ามีคนอยากไปเยอะ ก็มาทดสอบร่างกายแข่งกัน หรือ บางคนติดราชการไปไม่ได้ก็อาจจะเสียสละให้คนอื่นไปก่อน”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ
โกอินเตอร์ นั่งเครื่องบินครั้งแรก สุดตื่นเต้น เรียนดำน้ำลึก ที่ประเทศออสเตรเลีย

ด้วยความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างดี ทำให้โอกาสในชีวิตของครูค่าย เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น และแล้วก็ได้เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ด้วยการไปเรียนหลักสูตรดำน้ำลึก 

หลังจากเรียนจบ 3 หลักสูตรนี้ ผมมีโอกาสได้ไปเรียนหลักสูตรของต่างประเทศ หลายหลักสูตร โดยเริ่มต้นที่ หลักสูตรดำน้ำที่ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2523 คาดว่าน่าจะเป็นคนแรกที่ไปเรียนที่นั่น เพราะประเทศออสเตรเลียเพิ่งให้ทุน และเขาก็เป็นคนไทยคนเดียว และอาจจะเป็นคนแรกที่ไปเรียนหลักสูตรนี้

“สิ่งที่เขาสอน คือ การดำน้ำลึก ผมเป็นรุ่นแรกที่ไปเรียน บางคนที่ไป เขาไปเรียนเรื่องการข่าว แต่ผมเรียนดำน้ำ เขาใช้ครูสอนจากประเทศอังกฤษ โดยในรุ่นมีแค่ 8 คน มี สิงคโปร์ 2 ฟิลิปปินส์ 2 คนไทย 1 และที่เหลือเป็นออสเตรเลีย เรียกว่าทุกครั้งที่ไปเรียนต่างประเทศนั้น ไปคนเดียวตลอด ไม่มีใครให้ปรึกษา มันบังคับให้เราต้องเก่ง”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ

ครูค่ายเราเรื่องความประทับใจให้ฟังว่า ครั้งนั้น ถือเป็นการนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นมากๆ โดยที่เครื่องบินครึ่งลำ เป็นชาวเวียดนาม เพราะเวียดนามเพิ่งแตก มีผู้อพยพจำนวนมาก ผมตื่นเต้นมาก... แต่ขากลับ ถูกนำมาทิ้งไว้ที่ ฐานทัพออสเตรเลียที่ปีนัง (มาเลเซีย)

“ขาไปไปอย่างหรู ขากลับ นั่ง C-130 มาลงปีนัง ในใจคิด “เดินกลับก็หรูแล้วกู” ครูค่ายหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม

โอกาสมาอีกครั้ง เรียน ซีล ที่สหรัฐฯ ความหนาว อาหาร อุปสรรคใหญ่!

เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิด ครูค่ายก็ต้องรับภารกิจต่างๆ มากมาย ทั้งความลับในราชการต่างๆ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่ชายแดน แต่ก็ไม่เคยได้รับบาดเจ็บสาหัส และในเวลาต่อมา ยังได้ร่วมฝึกรบพิเศษนานาชาติ ที่เกาะฮาวาย หรือ เกาะกวม นอกจากนี้ หากมีการจัดฝึกรบพิเศษนานาชาติในประเทศ ก็จะเข้าร่วมเกือบทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ครูค่าย ได้รับโอกาสครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อได้ทุนเรียนหลักสูตรซีลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1984 (พ.ศ.2527) ซึ่งก่อนจะไปเรียนหลักสูตรต่างประเทศ จะต้องเพิ่มความรู้ด้วยหลักสูตรทางภาษา เพื่อทำความเข้าใจกับกับศัพท์เทคนิคต่างๆ ก่อน ซึ่งการเรียนหน่วยซีลที่สหรัฐฯก็เช่นเดียวกัน ครูค่ายได้เรียนภาษาที่เทกซัส ก่อน จะเรียนซีล ที่ ซานดิเอโก

“รบพิเศษของสหรัฐฯ เขาก็สอนตามธรรมชาติของเขา คือ เขาไม่ได้เข้ามาฝึกตลอดเวลาแบบบ้านเรา ช่วงฝึกเขาสามารถออกไปพักข้างนอกได้ (แต่ต้องเข้ามาร่วมฝึกให้ทัน) ผมก็พักที่ค่ายทหารฝั่งตรงข้าม ตื่นตี 4 มาออกกำลังกาย ซึ่งถามว่าหนักมั้ย ก็หนักแบบเขา แต่สิ่งที่แตกต่างคือ อุปกรณ์ของเขา ทันสมัยกว่าเรามาก สิ่งที่แย่ คือ เราไปฝึกตอนหน้าหนาวของเขา โดยมีทหารจากตะวันออกกลาง มา 4-5 คน ก็ไม่อยู่”

เครื่องหมายบนหน้าอก บิ๊กน้อย พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยซีล ขอบคุณภาพจาก จากเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam
เครื่องหมายบนหน้าอก บิ๊กน้อย พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยซีล ขอบคุณภาพจาก จากเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

สัปดาห์นรก ของเขา เขาโหดแบบฝรั่งๆ ไม่รุนแรงและหนักเหมือนบ้านเรา (สมัยนั้น) ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าธรรมดา เพราะเราผ่านการฝึกซีลแบบไทยมาแล้ว เราก็เลยเฉยๆ ครูฝึกเขาก็เคยมาฝึกร่วมกับเราทุก 2 เดือน

“ที่แตกต่างอีกเรื่องคือ หากสอบไม่ผ่าน คุณสามารถดร็อปไว้ได้...แล้วกลับมาสอบครั้งหน้าเริ่มต้นที่จุดเดิม แต่ของบ้านเราไม่มี ไม่ผ่าน คือ ไม่ผ่าน ฝรั่งเขาเรียก “Roll back” รุ่นผมก็มี โรลแบ็ก หลายคน”

ครูค่ายย้อนความหลังในช่วงที่ฝึกซีลที่สหรัฐฯ ว่า เพื่อนคนหนึ่งของตนมาจากประเทศจอร์แดน เคยเตือนมันว่า
“มึง..ฝึกไว้นะ พยายามฟิตหน่อย”
“ไม่เป็นไร..เดี๋ยวค่อยฝึก”
สุดท้ายไอ้เพื่อนคนนี้ สอบไม่ผ่าน พุงพลุ้ยเลย พอถึงวันจริง โดนเขาไล่กลับบ้าน
ขณะที่เราฝึกซ้อมอยู่ทุกวัน เตรียมร่างกายให้ฟิตไว้ เพราะรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

“ผมอ่านเกมออกหมดว่าจะเจอกับอะไร จึงเตรียมพร้อมไว้ แต่...ที่หนักใจ คือ อากาศหนาว กับ อาหาร ไม่ไหวๆ จะให้กินอาหารฝรั่งทั้ง 7 วันคงจะแย่ ยังโชคดี ที่ยังพอมีคนไทยบ้างก็เลยมีโอกาสได้กินอาหารไทยบ้าง” ครูค่าย เล่าแบบติดตลก หัวเราะเสียงดัง

หลังจากจบซีลที่สหรัฐฯ เขาจะให้เรียนต่อวิชาครูอีก 3 เดือน รวมแล้ว 11 เดือนที่อยู่อเมริกา นับว่าเรียนนานที่สุดแล้ว

ประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนที่สหรัฐฯ ครูค่ายบอกว่า ได้หลายๆ อย่าง ทั้งการฝึกคน วิธีการประเมินคน เราต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ไฮเทคสู้เขาไม่ได้ ประเทศไทยก็ต้องฝึกตามสภาพของเรา แต่...หากให้ฝรั่งมาฝึกบ้านเรา มันก็ต้องร้องเหมือนกัน เพราะมาเจออากาศร้อน

ฉะนั้น ซีลของฝรั่ง เขามักจะเตรียมความพร้อมทุกอย่าง อุปกรณ์ หรือ แม้กระทั่งของกิน เตรียมไปหมด ส่วนของเราจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีการแก้ปัญหาทุกอย่างได้หมด แม้กระทั่งของกินยังไปหาเอาข้างหน้า

“เหมือนกับเรื่องเด็กที่เข้าไปอยู่ในถ้ำ...เขานั่งคิดวันต่อวัน ว่าจะทำอย่างไร ลูกศิษย์ซีลเล่าให้ฟังว่า เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอด เรียกว่า “มืดแปดด้าน” จริงๆ”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ
เติมความรู้ เรียนหลักสูตร EOD ที่สหรัฐฯ และหลักสูตรสุดท้าย JUMPMASTER ของ ทบ. 

นอกจากความรู้ด้านการทหารของสหรัฐฯ ในเรื่องรบพิเศษแล้ว ครูค่าย ยังได้โอกาสไปเรียนรู้ด้านวัตถุระเบิดที่สหรัฐฯ ด้วย โดยในปี 2529

“หลักสูตร EOD ก็เหมือนเดิม ก่อนเรียนต้องศึกษาศัพท์เทคนิคต่างๆ ก่อน ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่เราจำเป็นต้องฟังภาษาทางเทคนิคให้รู้เรื่อง หากเราฟังไม่รู้เรื่อง เกิดทำอะไรแล้วตูมมมม (ลากเสียง) ระเบิดขึ้นมาจะทำอย่างไร ซึ่งความสำคัญตรงนี้ เหมือนกับเรียนการบิน หากเกิดความผิดพลาดก็ถึงแก่ชีวิตได้

ส่วนหลักสูตรในประเทศไทย ที่เรียนเพิ่มเติมคือ JUMPMASTER (ผู้ควบคุมการกระโดดร่ม) คนที่เป็น JUMPMASTER ต้องรับผิดชอบชีวิตของนักกระโดดร่มให้ปลอดภัย โดยต้องเช็กอุปกรณ์ทุกอย่างให้ดี เป็นคนประสานกับนักบินและปล่อยให้นักโดดร่มกระโดดลงไป

“หลักสูตรต่างๆ ที่ไปเรียนนั้น ยังมีอีกมาก บางหลักสูตรบอกไม่ได้ บางหลักสูตรเป็นการฝึกร่วมกับต่างประเทศ สาเหตุที่ต้องฝึกมากมายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งคือการเพิ่มทักษะให้กับตัวเอง ส่วนตัวผมรับราชการถึง ปี 2538 ทำทุกอย่างตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง ด้วยการฝึกให้ทุกคนได้สู้ สู้ไปข้างหน้าอย่างเดียว เชื่อว่าใครที่ผ่านหลักสูตรตรงนี้มาจะมีประโยชน์ ส่วนความรู้ที่ได้ ที่ได้เรียนมา ก็นำมาถ่ายทอด เชื่อว่าลูกศิษย์ก็จะได้ความรู้เหล่านั้น ทำให้ทุกคนที่ได้เรียนกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เป็นผู้นำ”

มนุษย์กบเก๋าสุดในปฐพี! เปิดใจ ค่าย โตชัยภูมิ อดีตครูฝึกซีล จบรบพิเศษระดับโลกอื้อ

ภารกิจถ้ำหลวง คนยกย่องทั้งประเทศ หน่วยซีล ฝ่าไปข้างหน้า ล่าถอยไม่เป็น

ในฐานะครูของหน่วยซีล รู้สึกถึงภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของ ภารกิจนี้ ที่ได้รับมอบหมายคำสั่งลงมา การกู้ชีวิต 13 หมูป่า นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งถึงวันนี้ครูค่ายก็อายุ 70 ปีแล้ว แต่กล่าวอย่างภาคภูมิใจแทนน้องๆ ที่ทำงานว่า “หน่วยซีลไม่เคยปฏิเสธ...ไม่ว่าภารกิจอะไรเข้ามาก็จะต้องทำ เพราะเขายึด “ภารกิจเหนือสิ่งอื่นใด” ตามที่ ผบ.นสร. (พล.ร.ต.อาภากร )ได้พูดไว้ เมื่อท่านได้รับคำสั่งมาก็ทำเต็มที่ “ไม่จบ..ไม่กลับ ตายก็ตาย”

“ผบ.นสร. เป็นลูกศิษย์โดยตรง และมีลูกศิษย์อีกหลายคนที่ร่วมภารกิจนี้ ส่วนตนอยากจะไปด้วย แต่แม่บ้านไม่อยากให้ไป ถึงแม้ร่างกายจะแข็งแรง ออกกำลังกายทุกวัน แต่ก็อายุมากแล้ว”

ในฐานะครูหน่วยซีล “ซีลชุดนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง ต้องยอมรับว่า กองอำนวยการนั้นแผนดีมากๆ (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีต ผวจ.เชียงราย) แล้วคุณอาภากร และ นาวาเอก อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 เป็นหัวหน้าทีมค้นหา เขาไม่พูดมาก ทำงานอย่างเดียว วันก่อนที่ไปรับ รู้สึก “น้ำตาไหล” พูดหยาบๆ คือ “พวกมึงแน่มากเลยไอ้น้อง”

ทุกนาทีต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ นี่คือของจริง ไม่ใช่แบบฝึก ต้องคิดตลอดว่าต้องทำยังไง เราไม่เหมือนฝรั่ง ที่เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยากร มีเทคโนโลยี แต่เรารอดมาได้เพราะการฝึกอย่างหนัก คำตอบมันมีอยู่ในตัว

“ส่วนตัวรู้สึกภาคภูมิใจกับ พล.ร.ต.อาภากร มาก ดีใจที่ได้ฝึกสอนเขามา ซึ่งหลังจากสอนแล้วยังได้ร่วมงานกัน เขาเป็นคนพูดน้อยทำมาก เป็นคนดีและเก่ง โดยเฉพาะการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เขาบอกกับผมว่า ไม่ใช่เรื่องการแก้ปัญหาเป็นชั่วโมงนะครู แต่เป็นการแก้ปัญหานาทีต่อนาที”

ครูค่ายเล่าเรื่องราวระหว่างนั่งคุยกับ ผบ.นสร. ระหว่างไปร่วมพิธีงานศพ “จ่าแซม” (จ.อ.สมาน กุนัน) ที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งส่วนตัวก็รู้จักกัน เพราะจะมีการสังสรรค์กันปีละครั้ง และจ่าแซมจะเข้ามากราบตนในฐานะที่ได้เขียนหนังสือสอน เกี่ยวกับหลักสูตรรบพิเศษไว้ ถึงแม้ไม่ได้สอนแบบตัวต่อตัวก็ตาม เนื่องจากตนได้ลาออกจากราชการก่อน ในปี 2538 เนื่องจากมีคนมาชักชวนให้รับตำแหน่ง diving supervisor ผู้เชี่ยวชาญ ควบคุมนักดำน้ำ เป็นผู้เชี่ยวชาญและควบคุมการวางเคเบิลใยแก้ว ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ ครูค่าย ได้ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เรียนรู้ถึงการเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการช่วยเหลือบุคคลติดในถ้ำ โดยให้ส่งเสริมเทคนิคการดำน้ำและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

“เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่ราคาแพง หลังจากนี้เราต้องเริ่มต้นเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่เคยเจอ เช่น การดำน้ำในถ้ำ Cave Diving Technic ซึ่งตรงนี้เหมือนกับสงครามนอกแบบ โดยสู้รบกับธรรมชาติ ซึ่งที่จริงแล้ว ฝรั่งก็มีสอนในบ้านเรา แต่ไม่คิดว่าจะเจอแบบนี้”

นี่คือความยิ่งใหญ่ของ ทหารหน่วยกล้าตาย แลกชีวิตได้เพื่อให้ภารกิจสำเร็จ และในฐานะครูของหน่วยซีล จึงมีความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นที่สุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน