หลัง จ.อ.สมาน กุนัน 'จ.อ.สมาน' อดีตซีล นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ ดำน้ำหฤโหด 12 ชั่วโมงจนหมดสติขณะดำน้ำกลับจากวางขวดอากาศ เข้าสนับสนุนการทำงานภายในถ้ำหลวง จากโถง 3 ไปสามแยก และเสียชีวิต เมื่อช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 6 ก.ค. 61
ทั้งที่ “หน่วยซีล” หรือ ชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองยุทธการ ของกองทัพเรือ ซึ่งถือว่าเป็นผู้แข็งแกร่ง เพราะผ่านการฝึกที่แสนหฤโหด ขึ้นชื่อในเรื่องการดำน้ำ และเป็นนักทำลายใต้น้ำชั้นครู อีกทั้งมีคู่บัดดี้ดำน้ำ แต่กลับเกิดเหตุการณ์สุดเศร้าเช่นนี้ จากคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในถ้ำหลวงอาจอยู่ในภาวะเสี่ยง เตือนนักดำน้ำห้ามถอดหน้ากาก ที่ทีมข่าวนำเสนอไปแล้ว

การดำน้ำในถ้ำ ยากกว่าดำน้ำปกติอย่างไร มีสัญญาณใดเตือนเมื่อตกอยู่ในสภาะขาดอากาศหายใจ วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้พูดคุยกับ นาวาเอกคมสัน วุฒิประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ใต้น้ำ กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ มาอธิบาย เพราะถึงแม้การดำน้ำจะมีสถิติของความปลอดภัยในระดับสูง แต่การจะหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากการดำน้ำก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้
...
โดย นาวาเอกคมสัน เริ่มอธิบายถึงสาเหตุของการเสียชีวิตใต้น้ำจากการดำน้ำในระดับภาคพลเรือนทั่วๆ ไป สถิติพบมากที่สุด คือ โรคประจำตัว ซึ่งโรคหัวใจเป็นอันดับหนึ่ง แต่ผลสรุปของนิติเวชก็จะสรุปว่าจมน้ำตาย เพราะเจอน้ำในปอด แต่เหตุที่นำไปสู่การจมน้ำจริงๆ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

และในสังคมดำน้ำของพลเรือนทั่วๆ ไป ที่ทำเป็น สปอร์ต ไดร์วิ่ง สคูบ้า หรือคนที่จะดำน้ำได้ ต้องเรียนให้ได้ใบประกาศนียบัตร หรือบัตรอนุญาตให้ดำน้ำก่อน โดยสถาบันการสอนดำน้ำ จะมีการตรวจสุขภาพเฉพาะแรกเข้าที่จะไปเรียนเท่านั้น ซึ่งระบบการเรียนการสอนการดำน้ำ จะมีเอกสารให้เซ็นรับรองตัวเอง ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นโรคดังต่อไปนี้ เช่น หอบ หืด ลมชัก โรคหัวใจ
อีกทั้งโรงเรียนจะขอใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นหลักประกันว่า สามารถสอนดำน้ำได้ซึ่งจะรับรองครั้งเดียว แต่หากมีกรณีถ้าผู้สอนรู้มาก่อนว่าคนที่จะสอนเคยผ่าตัดหัวใจ เคยมีอุบัติเหตุ เกี่ยวกับสมอง อาจไม่มั่นใจก็ร้องขอให้ไปตรวจร่างกายและใบรับรองจากแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ ซึ่งเมื่อเรียนจบและได้ใบประกาศนียบัตร จะดำน้ำอีก 10-20 ปี ได้โดยที่จะเจ็บป่วยหรือไม่นั้น ก็สุดแล้วแต่เจ้าตัวสามารถทำได้โดยไม่ต้องขอใบรับรองแพทย์ยืนยันกับใครอีก

แต่สำหรับกลุ่มนักดำน้ำที่เป็นภาคราชการ ทหาร นักดำน้ำอาชีพ ที่ต้องดำลึกๆ จะมีการตรวจสุขภาพประจำปีตามวงรอบ ทุกๆ 6 เดือน หรือปีนึงตรวจที มาตรฐานสุขภาพจะเข้มงวดกว่า โดยแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำต้องทำการตรวจสอบประวัติว่าเคยเจ็บป่วย เข้า รพ. ด้วยกรณีใดบ้าง มีการผ่าตัด หรือเคยให้ยาที่จะมีผลไปเสริมฤทธิ์ กับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาใต้น้ำหรือเปล่า ทำให้สมรรถภาพการดำน้ำลดลง ด้านการตรวจสุขภาพของหน่วยซีล มีการตรวจประจำทุกปี
“สมมติถ้าหน่วยซีลบางคนยังประจำการอยู่ แล้วขี่มอเตอร์ไซค์ขาหัก ก็จะงดดำอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนี้ต้องใส่เหล็ก ใส่อุปกรณ์ก็จะมีการงดดำ จนกว่าสมรรถภาพร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลับมาแล้ว สามารถเทสต์ทดสอบร่างกายผ่าน ก็สามารถกลับไปดำต่อได้” นาวาเอกคมสัน อธิบายข้อแตกต่างสุขภาพภาคพลเรือน กับหน่วยซีล

...
ภารกิจดำน้ำช่วย 13 ชีวิตออกจากถ้ำในครั้งนี้ นาวาเอกคมสัน อธิบายว่า โดยปกติสภาพพื้นที่การดำน้ำ มีหลักๆ 5 แบบ คือ 1.ทะเล 2.ทะเลสาบ 3.ใต้น้ำแข็ง 4.คลอง 5.ถ้ำ
ซึ่ง "ถ้ำ" เป็นโจทย์ยากที่สุดของนักดำน้ำ เนื่องจากในถ้ำหลวงแสงสว่างเข้าไม่ถึง และภายในถ้ำถูกแบ่งเป็นซอกหลืบเล็ก บางจุดมีความกว้างเพียง 40 ซม. ต้องมีสุขภาพแข็งแรง เพราะต้องสามารถปลดหรือลากอุปกรณ์ใต้น้ำ ลอดตัวผ่านช่องแคบๆ เมื่อเจอเหตุการณ์คับขัน

สำหรับอุบัติเหตุที่นักดำนำภาคพลเรือน หรือหน่วยซีลอาจเกิดเหตุการณ์ดังกรณี จ.อ.สมาน นาวาเอกคมสันอธิบายว่า เหตุของการทำให้หมดสติใต้น้ำนั้นมีหลายสาเหตุ หลายกรณี เช่น อากาศปนเปื้อน อากาศหมด สำลักน้ำ ตกใจ
“กรณีอากาศปนเปื้อนอาจเกิดจากอากาศที่อยู่ในถังอากาศซึ่งต้องอัดอากาศเข้าไปจากเครื่องอัดอากาศ ขาดคุณภาพ ขาดอากาศแล้วมีพวกก๊าซที่มองไม่เห็น เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ปนเปื้อนออกไป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ทำให้ขณะดำมีอาการปวดหัว มึนหัว อาเจียน คลื่นไส้ ถ้าอากาศลอตนั้นเกิดปัญหาก็จะไม่เกิดอาการเพียงแค่คนเดียว สามารถตรวจเช็กได้โดยเครื่องตรวจวัดอากาศ” นาวาเอกคมสันกล่าว
...

ด้านปัญหาอากาศหมด สามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อขณะดำน้ำ เนื่องจากมีอุปกรณ์ pressure guage ซึ่งห้อยอยู่ที่คอถัง เป็นสายยาวต่อจากคอถังมาอยู่ที่ข้างตัว เป็นตัววัดความแรงดันอากาศที่เหลืออยู่ในถังว่ามีเท่าไหร่ โดยปกติถังอากาศทั่วๆ ไปจะอัดอากาศอยู่ประมาณ 200 บาร์ เมื่ออยู่ในระดับเส้นขีดแดงซึ่งมีอากาศอยู่ที่ประมาณ 50 บาร์ ควรยุติการดำและดำขึ้นผิวน้ำ
“จริงๆ นักดำน้ำจะประเมินตัวเองได้ว่า ถ้าจะดำน้ำ ณ ช่วงเวลานี้ อากาศในถังควรเหลือเท่าไหร่ อัตราการใช้อากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตามการหายใจและความลึก ถ้าเหนื่อยมาก หายใจถี่ เร็ว อากาศก็จะหมดไว ขณะดำควรตรวจตัววัดแรงดันบ่อยๆ ว่าใช้ไปเท่าไหร่แล้ว
การดำน้ำในถ้ำต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา เพราะพื้นที่ข้างหน้าคาดเดาไม่ได้ บางจุดอาจเป็นช่องหิน หินงอก หินย้อย น้ำขุ่น หัวใจสำคัญของการดำน้ำ คือความปลอดภัย หากเมื่อรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ไม่สบายตัวก็ไม่ควรฝืนดำต่อ” นาวาเอกคมสันชี้แนะ
...

ทั้งนี้อุปกรณ์ดำน้ำทั่วไปจะมีถังอากาศเพียง 1 ใบอยู่ได้ประมาณ 1 ชม. แต่การดำในถ้ำหลวงที่สลับซับซ้อน บางจุดมีพื้นที่เข้าถึงยาก ต้องมีอุปกรณ์พิเศษช่วย เช่น ถังอากาศที่อยู่ได้ 2-3 ชั่วโมง, อุปกรณ์ช่วยหายใจแบบพิเศษที่ไม่ทำให้เกิดฟองอากาศจนน้ำขุ่น และหมุนเวียนอากาศกลับมาใช้ใหม่ได้, หน้ากากคลุมทั่วใบหน้า, ไฟฉายใต้น้ำมากกว่า 1 ตัว, เชือกโรยตัว และเชือกกำหนดระยะ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติทั้งลอยน้ำและจมน้ำ และบัดดี้ดำน้ำ
“การดำโดยมีบัดดี้ เป็นการป้องกันพื้นฐานที่ต้องทำอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการดำน้ำ หากมีเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยกันได้ นักดำน้ำทุกคนจะมีอุปกรณ์หายใจ คือ ตัวที่คาบในปาก 2 ชุด ถ้าสมมติบัดดี้อากาศหมด เราสามารถยื่นอันที่สองไปให้ แล้วหายใจจากอากาศถังเดียวกันได้” นาวาเอกคมสันกล่าว
