จากกรณีของนายพายัพ รอดเมือง อายุ 59 ปี ชาว ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ชายพิการป่วยเป็นอัมพฤกษ์นอนติดเตียงมานานกว่า 21 ปี ผู้ใจบุญที่ตัดสินใจช่วยบริจาคดวงตาให้แก่ “น้องยุ้ย” สาววัย 26 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ผู้พิการตาบอด ที่ต้องเลี้ยงดูลูกน้อยแต่เพียงลำพังแต่ไม่สำเร็จ จึงได้หันมาบริจาคอวัยวะและร่างกายแทน

ลุงพายัพ ยังเชิญชวนให้ผู้พิการลักษณะเดียวกันกับตน หรือผู้ป่วย หรือผู้ไม่พิการแต่อยากทำบุญนั้น มาร่วมกันบริจาคร่างกายและอวัยวะไว้ให้แก่คนที่กำลังมีความต้องการ ผู้ที่กำลังรอความหวังจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก ดีกว่าเมื่อตายไปแล้วก็จะต้องนำไปเผาทิ้งเฉยๆ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้รอรับบริจาคอวัยวะอยู่มากมาย จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 61 มีผู้รอบริจาคอวัยวะ จำนวน 6,042 คน มีผู้บริจาค 104 คน และมีผู้ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว 228 คน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยถึงปัญหาการขาดแคลนอวัยวะบริจาคกับ นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งอาจารย์หมอได้ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจ

นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

...

ชาติหน้ากลัวอวัยวะไม่ครบ ขาดความรู้เรื่องสมองตาย ปมเหตุคนไทยไม่บริจาคอวัยวะ

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่ค่อยกล้าที่จะบริจาคอวัยวะหลังจากที่หมดลมหายใจไปแล้ว ดังนี้

1. ประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องสมองตาย

คำว่า “สมองตาย” คือ แกนสมองถูกทำลาย จนสูญเสียการทำงานถาวร ในทางการแพทย์จึงถือว่า “เสียชีวิตแล้ว” ส่วนคำที่แพทย์ใช้เรียกว่า “ผู้ป่วยสมองตาย” หมายถึง ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ ไม่สามารถหายใจได้เอง ส่วนจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยจะมีเครื่องช่วยหายใจใช้ประคองร่างกาย เพื่อให้มีเลือด อากาศ ไปเลี้ยงร่างกาย รวมถึงอวัยวะ ทำให้หัวใจสามารถเต้นอยู่ได้

ดังนั้น ภาวะสมองตาย เป็นภาวะเดียวที่ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว แต่หากอวัยวะสำคัญๆ ยังมีสภาพดี สามารถนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยคนอื่นๆ ต่อได้

2. ประชาชนยังสับสนระหว่าง การบริจาคอวัยวะ กับ การบริจาคร่างกาย ว่า แตกต่างกันอย่างไร

“การบริจาคอวัยวะ” คือ การบริจาคแค่อวัยวะภายในของผู้เสียชีวิตที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น หัวใจ ปอด ไต ตับ อื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญเสื่อมสภาพ เมื่อแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำร่างผู้เสียชีวิตส่งกลับคืนให้กับทางครอบครัว เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ส่วน “การบริจาคร่างกาย” คือ การบริจาคทั้งร่างกายหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว จุดประสงค์ เพื่อมอบร่างให้แก่นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษา หรือที่เรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” โดยผู้ที่จะเป็นอาจารย์ใหญ่ได้นั้น ร่างกายจะต้องมีอวัยวะครบถ้วน ยกเว้นดวงตา จึงจะสามารถบริจาคร่างกายได้

3. ความเชื่อที่ว่า...เกิดชาติหน้ากลัวอวัยวะไม่ครบ

ในทางพุทธศาสนานั้น การบริจาคอวัยวะไม่ใช่เป็นการสาปแช่งตัวเอง แต่เป็นการสร้างบารมีให้ตัวเองต่างหาก

“20 กว่าปีแล้วที่พยายามรณรงค์ ว่า สมองตายถือว่าตายแล้ว แพทยสภาออกข้อปฏิบัติ และศาลฎีกาตัดสินเมื่อปีที่แล้วว่า สมองตาย เป็นการตาย ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม แต่...ก็ยังติดอยู่กับความเชื่อที่ว่า เมื่อบริจาคอวัยวะ ชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ และไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ด้วยที่มีความเชื่อเช่นนี้

ถามว่าจะทำอย่างไรกับความเชื่อเหล่านี้ ตอบได้ว่า การศึกษาอย่างเดียว สื่ออาจจะช่วยในการโปรโมตให้ประชาชนเข้าใจ แต่คิดว่าคงไม่มีสูตรอะไรสร้างความเข้าใจได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น มีผู้ถือบัตรผู้บริจาค 9 แสนคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะครบ 1 ล้านคน แต่เทียบกับคน 70 ล้านคน ยังเทียบไม่ได้เลย ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าว

...

เดินทางไกล อวัยวะมีเวลาจำกัด อุปสรรคเจ้าหน้าที่รับอวัยวะได้น้อย

นอกเหนือไปจากปัญหาการไม่บริจาคอวัยวะแล้วนั้น ยังมีในส่วนของทีมเจ้าหน้าที่ด้วยที่ต้องเจออุปสรรคต่างๆ นพ.วิศิษฏ์ เผยว่า โรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย มีจำนวน 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โดยจะมีแพทย์ที่ทำการปลูกถ่าย หรือนำอวัยวะออก จะต้องเดินทางทั่วประเทศ เนื่องจากมีการรับบริจาคทั่วประเทศ

โดยมีศูนย์รับบริจาคอวัยวะเป็นตัวกลางในการรณรงค์ให้มีการบริจาคอวัยวะ ติดต่อกับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยสมองตาย และตรวจดูว่าอวัยวะนั้น สมบูรณ์ ปราศจากโรค สามารถนำไปใช้ในการปลูกถ่ายได้ และให้น้ำยาถนอมอวัยวะ จัดสรรอวัยวะไปสู่ผู้บริจาคตามลำดับ รวมทั้ง จัดการเดินทางให้ จากนั้นประสานต่อให้โรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายเดินทางไปรับอวัยวะ แต่จะมีอุปสรรค ดังนี้

1. โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยสมองตาย เมื่อแพทย์ไปขอรับบริจาคอวัยวะจากญาติเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากตามกฎหมายไทย ร่างของผู้เสียชีวิต เป็นสมบัติของทายาท ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจกับทายาทว่า การบริจาคอวัยวะไปช่วยใครบ้าง หรือทำความเข้าใจเรื่องการให้อวัยวะไปแล้วชาติหน้าจะมีไม่ครบด้วย

...

2. เมื่อจัดสรรเสร็จเรียบร้อยจะมีทีมไปรับอวัยวะ ซึ่งอวัยวะที่ได้มามีเวลาจำกัด อย่างเช่นเมื่อเก็บใส่กระติกที่มีความเย็นอยู่ที่ 4 องศา หัวใจ จะอยู่ได้ 4 ชม. ตับ อยู่ได้ 6 ชม. และไต อยู่ได้ 24 ชม.

ฉะนั้น ด้วยเวลาที่จำกัด หากทีมที่ไปรับอวัยวะกลับมาไม่ทัน อวัยวะก็จะใช้งานไม่ได้ หรือถ้าไกลมากต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ทีมที่จะไปบางโรงพยาบาลมีแค่ 1 ทีม หากต้องไปหลายๆ ครั้ง การนั่งเครื่องไปและกลับใช้เวลานาน อีกทั้งการไปรับอวัยวะไม่ได้มีเวลาชัดเจน แล้วแต่ว่ามีผู้ป่วยสมองตายเวลาใด ญาติจะตัดสินใจบริจาคตอนไหน รวมทั้ง โรงพยาบาลจะอนุญาตให้ใช้ห้องผ่าตัดเวลาใด และทีมจะเดินไปถึงทันหรือไม่ นั่นก็เป็นอุปสรรคที่ต้องเจอ

ผู้บริจาคต้องการ ไต เร่งด่วน! สธ.เผย อีก 4-5 ปี คนไทยมีโอกาสเป็นไตวายกว่าแสนคน!

เมื่อถามว่า อวัยวะใดที่ผู้ขอรับบริจาคต้องการเร่งด่วนที่สุด ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ตอบว่า “ไต” เนื่องจากผู้ป่วยสามารถล้างไต เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยในประเทศไทย ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีประมาณ 20,000-30,000 คน และที่รอรับบริจาคอยู่ 5,900 คน เนื่องจากผู้ป่วยบางคนไม่เหมาะสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น มีโรคหลายโรค หัวใจวาย โรคเบาหวาน ไม่สามารถคุมอาหารได้ อายุมาก

...

รองลงมาเป็น “ตับ” ราว 300-400 คน และ “หัวใจ” กับ “ปอด” แต่อวัยวะเหล่านี้ ไม่มีเครื่องที่จะช่วยพยุงให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานๆ ต่างจากการฟอกไต ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยรออวัยวะบริจาคพักหนึ่งก็เสียชีวิตลง

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศเลยว่า อีก 4-5 ปีข้างหน้า คนไทยเกือบแสนคนจะเป็นโรคไตวาย เพราะเรากินอาหารสารพัดอย่าง คนเป็นโรคปวดหลัง ปวดเข่าก็กินยาแก้ปวดทั้งหลาย ซึ่งสุดท้ายก็ไปทำลายไต อาหารก็มีส่วนผสมของฟอร์มาลีน สารบอแรกซ์ ที่ใส่เพื่อให้มีความกรอบ ก็ทำให้ไตกรอบไปด้วย เป็นสารโลหะหนักก็ไปติดอยู่ที่ไต

“เรื่องการขาดแคลนอวัยวะบริจาคมีปัญหาทั่วโลก อย่างอเมริกา มีผู้เสียชีวิตวันละ 18 คน ทั้งที่หาอวัยวะบริจาคได้เยอะ แต่พลเมืองก็เยอะเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศไทยมีผู้ที่รอรับบริจาคไต เสียชีวิตสัปดาห์ละ 3-4 คน

แต่อย่างไรก็ตาม การจะปลูกถ่ายอวัยวะได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถจะรักษา ด้วยวิธีการทางยาและผ่าตัดได้ หนทางสุดท้ายคือเปลี่ยนอวัยวะ เพราะหากผู้ป่วยไม่ได้อวัยวะก็อยู่ได้ไม่นาน 6-8 เดือนก็จะเสียชีวิต ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าว

นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ผู้บริจาค 1 คน = 2.4-2.5 อวัยวะ ยิ่งใกล้ กทม.ยิ่งได้อวัยวะหลายชนิด

นพ.วิศิษฏ์ เผยว่า สถิติของปี 60 มีผู้เสียชีวิตและได้บริจาคอวัยวะ จำนวน 294 ราย ส่วนผู้ที่แสดงความจำนงจะบริจาค (ยังไม่เสียชีวิต) จำนวน 80,000 กว่าคน โดยเมื่อเสียชีวิตแล้ว อวัยวะใช้ได้ก็ยินดีที่จะบริจาค ซึ่งตามกฎหมายแล้วญาติจะเป็นผู้เซ็นยินยอมอีกครั้งเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว ซึ่งจะขอได้ง่ายเพราะญาติทราบว่าผู้เสียชีวิตมีเจตจำนงที่จะบริจาค

ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า มีผู้แสดงความจำนงเพิ่มมากขึ้น จากปกติจะได้เพียง 40,000-50,000 คน เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลเพิ่มจำนวนอวัยวะ เพราะ 3 กองทุนจ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ถ้าล้างไตไปเรื่อยๆ เดือนหนึ่งก็ 30,000-40,000 บาท คุณภาพชีวิตไม่ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ป่วยได้ไตใหม่ ภายหลัง 1 ปีจะเสียค่าใช้จ่ายราวๆ 10,000 บาทเท่านั้น

"ที่ผ่านมา อวัยวะที่ได้รับบริจาคไม่น้อยลง เนื่องจากมีผู้แสดงเจตจำนงเพิ่มมากขึ้น 1 คน จะได้ 2.4-2.5 อวัยวะ ซึ่งถ้าเผื่อผู้ที่เสียชีวิตและบริจาคอวัยวะเหล่านี้ อยู่ในบริเวณรอบนอกของ กทม. หรือห่างจากช่วงระยะทาง 100-200 กม. โอกาสจะได้อวัยวะก็ได้หลายอย่าง แต่เวลานี้อวัยวะส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เพราะฉะนั้น การเดินทางไป-กลับ ใช้เวลานาน ที่ได้แน่ๆ คือ ไต แต่ตับกับหัวใจ ก็ไม่สามารถกลับมาที่ศูนย์ได้ทัน" ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ให้ข้อมูล

1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก ส่งมอบอวัยวะต่อชีวิต

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ในทั่วโลกจะมีผู้ป่วยสมองตายราว 20-30 คนต่อล้านของประชากรต่อปี เช่น 30x60 = 1,800 คนที่เป็นผู้ป่วยสมองตาย 1/3 คือ 600 คน ญาติไม่ให้บริจาค 1/3 อีก 600 คน มีปัญหาในการบริหารจัดการ เช่น เครื่องบิน รถไปไม่ได้ หรือร่างกายของผู้เสียชีวิตไม่ดี หรือเป็นโรคติดต่อ HIV ไวรัส B ตับอักเสบ ซิฟิลิส มะเร็ง ก็ไม่สามารถใช้ได้ ที่เหลืออีก 600 คน จึงจะเป็นผู้ที่บริจาคได้

"การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ต้องตรวจต่อมน้ำเหลือง เลือด ของผู้ให้มาว่าเป็นชนิดไหน ขณะที่ ผู้จะรับเป็นชนิดไหน หากเป็นการเปลี่ยนถ่ายไตจะต้องมีเนื้อเยื่ออยู่ตรงขอบเม็ดเลือดขาวตรงกัน โดยจะมีเป็นคะแนนบอก ว่าแตกต่างกันเท่าไร จากนั้นจึงนำเม็ดเลือดขาวของผู้ให้ มาทำปฏิกิริยากับน้ำเหลืองของผู้รับ หากมีปฏิกิริยาขุ่นก็ไม่สามารถให้ได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาตรวจ 8 ชม.

ส่วนหัวใจกับตับต้องเปลี่ยนถ่ายทันทีไม่สามารถรอได้ โดยเช็กแค่ Blood Group และไม่มีโรคที่จะไปติดต่อกับผู้รับเท่านั้น" ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ อธิบาย

ผู้มีชีวิต บริจาคให้ ผู้มีชีวิต = ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ กาชาดไทย ขอรับจากผู้ไร้ลมหายใจ

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่บริจาคให้ ขณะยังมีชีวิตอยู่ ทั่วโลกต่างกลัวว่า จะมีการซื้อขายเกิดขึ้น แทนที่จะมีการค้ามนุษย์ แต่เป็นการค้าอวัยวะแทน มีการขู่บังคับ หลอกลวง

ดังนั้น แพทยสภาจึงออกมาป้องกันสิ่งเหล่านี้ สำหรับผู้ที่มีชีวิต จะให้ไตได้จะต้องเป็นพี่น้องโดยสายเลือด เป็นสามีภรรยา หรืออยู่กินฉันสามีภรรยาอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น

หรือหากคนที่มีชีวิตอยู่ให้ไตไป 1 ข้าง เหลืออีก 1 ข้าง ชีวิตของเขาจะสมบูรณ์ได้หรือไม่ เขาอาจจะเสี่ยงภัยที่นึกไม่ถึง เช่น อุบัติเหตุที่เกิดกับไตข้างนั้นหรือเป็นนิ่วในไต ผู้บริจาครายนี้ก็จะกลายเป็นคนรอไตทันที จึงมองว่า รณรงค์ขอรับบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว อย่าไปกวนคนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย

“เมื่อใดก็ถามถ้าได้ยินคำว่า สมองตาย ให้นึกถึงการบริจาคอวัยวะ เพราะผู้เสียชีวิต 1 ร่าง สามารถไปช่วยเหลือคนได้อีกมากมาย ทั้งหัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ดวงตา 2 ข้าง มีผิวหนัง เอ็น ที่ยังเป็นประโยชน์อีกเยอะมาก สามารถต่อชีวิตคนได้อีกหลายคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อตัวเขา ครอบครัวเขา และเพื่อสังคมในส่วนรวม ยังมีอีกหลายคนที่ทำหน้าที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติอีกมากที่ยังรอการปลูกถ่ายอยู่” ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ฝากไปยังประชาชน

นอกจากนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปเปิดเบื้องหลังภาพยนตร์โฆษณา Dream Transplant - ปลูก ถ่าย ฝัน ที่สร้างจากเรื่องจริง ระหว่างผู้ให้และผู้รับ โดยมี “ป้านกน้อย” วัย 64 ปี ผู้รับบริจาคไต ลุกขึ้นมาสานฝันให้เด็กสาววัย 19 ปี ผู้บริจาคไต ในการไปเต้น Cover Dance ที่ประเทศเกาหลี ติดตามได้ในวันพรุ่งนี้.

"การบริจาคอวัยวะของคน 1 คน สามารถช่วยชีวิตคนได้อีกหลายคน"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง