เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังทีแคสประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ผ่านหน้าเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันการศึกษา ผลปรากฏว่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากที่เปิดรับ 298 คน ประกาศชื่อจำนวน 300 คน แต่มายืนยันสิทธิ์จริงแค่ 33 คน ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีนักเรียนมายืนยันสิทธิแค่ 4 คน และคณะวิศวกรรม จุฬาฯ เปิดรับ 852 คน แต่ยืนยันสิทธิ์เพียงแค่ 335 คน เท่านั้น
จากระบบสอบเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแบบใหม่ “ทีแคส” (TCAS : Thai University Center Admission System) รอบ 3 หรือรอบรับตรงร่วมกัน ตามคำเรียกร้องของนักเรียนที่สอบไม่ผ่าน เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยแบ่งแยกย่อย 3/1 และ 3/2 นี้ ทำให้เกิดปัญหากันที่นั่งจำนวนมากโดยนักเรียนที่มีคะแนนสูงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องให้แต่ละสาขาวิชาของแต่ละมหาวิทยาลัยเกิดที่นั่งว่างจำนวนมากและไม่ได้เด็กตามจำนวนที่ต้องการดังกล่าว ทั้งๆ ที่จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยเยอะ แต่กลับมีปัญหามากกว่าการสอบเอนทรานซ์ในอดีต
...
ย้อนเวลา 19 ปี ปฐมเหตุจาก ครม. สถาบันการศึกษาเปิดศึกชิงเด็ก
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) และอาจารย์สาขาเคมีอินทรีย์และนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า จุดเริ่มที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 หลังจากที่มหาวิทยาลัยถูกบีบให้ออกนอกระบบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากมีปัญหาการกู้เงิน IMF ที่ระบุกฎไว้ต้องโละมหาวิทยาลัยออกจากภาระของรัฐ ทำให้แต่ละสถาบันเกิดการแข่งขันเพื่อหาเงินเอง โดยการเปิดหลักสูตร สาขา คณะ วิทยาเขตเพิ่ม หวังดึงเด็กมาเรียน จึงเกิดการแย่งเด็กดังเช่นปัจจุบัน
“ที่นั่งในมหาวิทยาลัยเยอะ แต่คนสอบน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่ว่าง ต่างจากสมัยก่อนที่นั่งน้อย แต่คนสอบเยอะ นั่นเป็นเพราะมีมหาวิทยาลัยเปิดค่อนข้างเยอะมาก จากการที่ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ไม่ควบคุมและปล่อยให้เกิดหลักสูตรแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างอิสระมากเกินจนเละเอ่อล้นตลาด
และไม่มีการคุมประเภทของมหาวิทยาลัยอย่างเด็ดขาดอีกด้วย เช่น มหาวิทยาลัยเฉพาะทางบางแห่งที่โดดเด่นด้านวิศวะ หรือมหา'ลัยที่เชี่ยวชาญการผลิตครู ก็ปล่อยให้เปิดทั้งนิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คุรุศาสตร์ เหมือนกันแทบทุกมหาวิทยาลัย เมื่อมีให้เลือกเรียนเยอะ เด็กก็มีสิทธิ์เลือกเยอะด้วย มหาวิทยาลัยแต่ละที่จึงต้องเปิดสอบหลายๆ รอบ อย่างทีแคสก็เปิด 5 รอบ เพราะรอบแรก รอบ 2 รอบ 3 ไม่เต็ม และคาดว่ารอบ 5 ก็อาจจะไม่เต็มเหมือนกัน” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
ชี้แบบอย่างเมืองนอก หารายได้จากเด็กต่างประเทศทดแทน
นอกจากการเกิด oversupply คือ มีมหาวิทยาลัยมากเกินความต้องการศึกษาต่อของเด็ก รศ.ดร.วีรชัย ระบุอีกว่าอัตราการเกิดของคนที่น้อยลงก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัย 80 แห่งของไทยเกิดศึกชิงเด็ก พร้อมชี้แนวทางหาเด็กเพิ่มโดยยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เรียกเก็บเงินค่าเทอมแพงๆ จากนักเรียนต่างชาติ ซึ่งต่างจากไทยกลับหารายได้จากคนไทยด้วยกันเองที่มีจำนวนจำกัด แล้วยังมาเปิดสาขาเพื่อแย่งกันเองอีก
...
“นี่คือความเน่าเฟะของระบบอุดมศึกษาไทย บางมหา'ลัยบริหารไม่ดี อยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดและขาย แต่ถ้าบางมหา'ลัยมีคุณภาพสูงและเก่งก็อยู่รอดได้ หาเด็กจากฟิลิปปินส์ ลาว พม่า จีน เกาหลีใต้มาเรียน เก็บค่าเทอมแพงกว่าคนไทยร้อยเท่า
การเปิดหลักสูตรต้องใช้เงินลงทุนเรื่องบุคลากร เครื่องมือการเรียนการสอน เปิดแล้วไม่มีคนเรียน อาจารย์จะถูกประเมินโดนไล่ออก ก็ต้องว่างงาน เกิดปัญหากระทบกันหมด นี่คือสิ่งที่ สกอ. รมต.กระทรวงศึกษาควรทำ และ สกอ. ต้องออกนโยบายกำจัดหรือลดหลักสูตรที่ซ้ำซ้อนฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็นของประเทศ” รศ.ดร.วีรชัยกล่าว
เผยที่มาปัญหากั๊ก ผิดเพราะใคร เด็ก ผู้ปกครอง หรือ ระบบทีแคส
อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบทีแคส โดยเฉพาะคนที่ผิดหวังจากการสอบทีแคสแต่ละรอบ ต่างกังขาว่าเกิดจากปัญหาการกั๊กที่นั้น รศ.ดร.วีรชัย มองว่า เกิดจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งเด็กที่ไม่ยอมรับกติกา สอบได้ในคณะที่ตนไม่ต้องการ ก็สละสิทธิ์ หรือสอบติดแล้วเปลี่ยนใจไม่เอา เนื่องจากถูกกดดันจากผู้ปกครองให้เลือกเข้าในคณะที่ไม่ชอบ จนเกิดปัญหากั๊กที่คนอื่นกันไปเรื่อยๆ
...
โดยขั้นตอนการผ่านคัดเลือกของระบบทีแคสนี้ เมื่อนักเรียนเลือกสมัคร 4 สาขาและส่งคะแนนยื่นมาพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์มหาวิทยาลัยทั้ง 4 เลือกนักเรียนคนที่คะแนนสูงเหมือนกัน จึงต้องเลือกเพียงหนึ่งสถาบัน และสละสิทธิ์อีก 3 สถาบัน นี่คือจึงเป็นที่มาของปัญหากั๊กที่ตามที่นักเรียนหรือผู้ปกครองเข้าใจ
“เด็กที่พลาดในปีนี้ต้องยอมรับในศักยภาพของตัวเองที่ไม่สามารถเข้าในคณะที่ใฝ่ฝันได้ อย่าไปโทษว่ามีคนกั๊ก ค้นหาตัวเองให้เจอ ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ยี่ห้อ ไม่เกี่ยวสถาบัน อยู่ที่ศักยภาพ ความสามารถของคน ค่านิยมของผู้ปกครองให้ลูกเรียนหมอ เภสัช ต้องดูด้วยว่าเด็กหัวถึงไหม
...
ระบบไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย มาช่วยแก้ปัญหาด้วยซ้ำ แต่การบริหารจัดการห่วย ระบบควรอยู่ต่อไป ปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในปีนี้ พัฒนาให้ดีขึ้นในปีหน้า”
รศ.ดร.วีรชัย กล่าว พร้อมระบุ ระบบทีแคส ซึ่งต้องเสียค่าสมัคร 900 บาท ช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองและนักเรียน ไม่ต้องตระเวนไปสอบในจังหวัดต่างๆ เหมือนแต่ก่อน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าเดินทาง ที่พัก รวมถึงอาหารการกินด้วย
จากการสนทนากับ รศ.ดร.วีรชัย ในวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ ศธ. ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยมากเกินความต้องการศึกษาของเด็ก และจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาจากการมุ่งหารายได้มากกว่าตัวเด็ก
ที่เห็นได้ชัดเจน คือ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องว่างงานจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีเด็กมาเรียน ความหลากหลายในการผลิตบุคลากรลดลง เนื่องจากมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นเปิด แต่คณะที่สร้างรายได้ คณะที่ไม่สร้างรายได้ก็จะถูกปิดตัวไปโดยปริยาย แรงงานจะกระจุกอยู่แต่ในบางอาชีพ เพราะมีแต่คนจบมาในคณะเหล่านั้น
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ