ไม่ว่าจะหนีนรกที่บาห์เรน ขายตัวบาห์เรน ค้าประเวณีในบาห์เรน สารพัดเรื่องราว สารพันข่าวฉาวที่คนไทยมอง “ประเทศบาห์เรน” ในด้านลบ แต่คุณรู้หรือไม่ ประเทศบาห์เรนมีคนไทยทำมาค้าขายอย่างถูกกฎหมาย และร่ำรวยอยู่ที่ดินแดนแห่งนี้มากมายนัก
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับคนไทยในต่างแดนหลายๆ ท่าน แต่ละท่านประกอบอาชีพสุจริต ชีวิตมีกินมีใช้ และสามารถส่งเงินกลับบ้านได้เป็นกอบเป็นกำ จนครอบครัวอยู่ดีมีสุข....

สาวไทย จบป.4 สู้ชีวิตสุดใจ เปิดร้านเสริมสวย โกยตังค์ 6 แสนต่อเดือน
จันจิรา ผองปัญญา สาวจันทบุรีวัย 35 ปี เจ้าของธุรกิจร้านเสริมสวยในบาห์เรน เปิดใจกับทีมข่าวอย่างหมดเปลือกว่า “เราจบแค่ ป.4 ชีวิตทำไร่ทำนาลำบากมาตั้งแต่เล็กๆ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินตั้งแต่เด็กจนสาว แต่โชคยังดีที่มีเพื่อนคนหนึ่งที่มาทำงานเป็นพนักงานร้านเสริมสวยในบาห์เรนชวนมาทำงานด้วยกัน เพราะเห็นว่า เราน่าจะมีฝีไม้ลายมือเรื่องเสริมสวยอยู่ไม่น้อย”
...


“เราตัดสินใจเดินทางมาทำงานร้านเสริมสวยในบาห์เรนตามคำชักชวนของเพื่อน เราไม่รู้ภาษาอาหรับ ไม่รู้ภาษาอังกฤษ พูดได้อย่างเดียวคือ ภาษาไทย ใช้ชีวิตกินอยู่ลำบากมากเพราะไม่รู้ภาษา ตอนแรกๆ ทำงานได้เงินเดือนหมื่นเดียว หมื่นเดียวคือเงินบาทไทยด้วยนะคะ เราทำมาเรื่อยๆ จดๆ จำๆ มาตลอดว่า ช่างเสริมสวยที่เขาเก่งๆ เขาทำกันยังไง เขาพูดอะไรกัน แล้วเราก็นำสิ่งๆ นั้นมาพัฒนาฝีมือตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเราฝันไว้ว่า สักวันเราต้องมีร้านเสริมสวยเป็นของตัวเอง” สาวเมืองจันท์ ฝันใหญ่บอกเล่าให้เราฟังถึงความมานะของตัวเอง

“เราทำงานหนักมา 2 ปีเต็ม จนวันหนึ่งมีเงินเก็บก้อนใหญ่ เราเลยตัดสินใจเอาเงินจำนวนนี้ไปเปิดร้านเสริมสวยของตัวเอง ปรากฏว่า ธุรกิจค่อนข้างไปได้ดี มีรายได้ตกเดือนละ 5,000 ดีนาร์บาห์เรน (คิดเป็นเงินไทย 4 แสนบาท) จนในที่สุด เราก็เปิดสาขา 2 เพื่อรองรับลูกค้า รวม 2 ร้าน มีรายได้อยู่ที่ราวๆ 7,500 ดีนาร์บาห์เรน(คิดเป็นเงินไทย 6 แสนบาท)”
...
ขณะที่ รสนิยมของสาวอาหรับนั้น อาจจะแตกต่างจะสาวไทยที่นิยมสระ ซอย ไดร์อยู่เล็กน้อย เพราะสาวอาหรับชอบแวกซ์ขน ไม่ว่าจะเป็นขนคิ้ว ขนหน้า ขนตัว หรือขนส่วนอื่นๆ ของร่างกาย พวกเธอจะแวกซ์ขนเหล่านี้ทุกสัปดาห์ไม่เคยขาด เนื่องจากชาวอาหรับมีทัศนคติที่ว่า ขนเป็นสิ่งสกปรก และสาวที่มีขน คนอาหรับไม่ชอบ

“แต่การจะมาเปิดร้านเสริมสวยในบาห์เรนได้ ต้องมีใบรับรองที่ออกจากภาครัฐของบาห์เรนก่อน เราถึงจะเปิดร้านได้ เพราะฉะนั้น ก่อนเราจะเปิดเราก็ต้องไปเรียนและไปสอบกับสถาบันที่ขึ้นตรงกับรัฐ และเขาจะออกใบรับรองมาให้เราไปประกอบอาชีพ หากเปิดร้านเสริมสวยแล้ว แต่ไม่มีใบรับรอง ร้านนั้นๆ จะถูกสั่งปิด มีโทษทั้งจำและปรับ”
“สุดท้าย ต้องขอขอบคุณรัฐบาลบาห์เรนที่รักและดูแลคนไทยเป็นอย่างดี ประหนึ่งคนชาติเดียวกัน” เจ้าของร้านเสริมสวยจบ ป.4 ซาบซึ้งใจที่รัฐบาลบาห์เรนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เธอมีชีวิตใหม่

...

สาว ป.6 สู้ชีวิตเปิดร้านขายของชำ สินค้าไทย รายได้เดือนละ 2 ล้าน
ชลทิชา จันทร์ชม หรือนา วัย 48 ปี เจ้าของธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย ในฐานะอดีตสาวขายเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้า ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศบาห์เรน หลังได้รับคำชักชวนจากเพื่อนสาวที่มาทำงานร้านเสริมสวยในบาห์เรนว่า ร้านเสริมสวยที่ทำงานอยู่นั้น ยังขาดอัตราว่าง 1 ตำแหน่ง
ชลธิชา ในวัย 32 ปี ณ เวลานั้น เธอไม่ได้เกรงกลัวเลยว่า เธอจะใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ เธอจบเพียงแค่ชั้น ป.6 เท่านั้น และบาห์เรนดินแดนอันแสนไกลจะเป็นอย่างไร เธอตัดสินใจใส่เกียร์เดินหน้าเต็มที่ชีวิตนี้ไม่มีถอย โดยเริ่มแรกเธอได้เอาวิชาความรู้ที่มีติดตัวจากเมืองไทยในด้านของการย้อมสีผมมาใช้ จนลูกค้าติดอกติดใจอย่างมาก และพัฒนาฝีมือจนเป็นช่างเสริมสวยฝีมือดีในบาห์เรน

...
จากนั้น 5 ปี เธอก็ใช้เงินเก็บก้อนหนึ่งเปิดร้านเสริมสวยเป็นของตัวเอง มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินราวๆ 3 แสนบาทต่อเดือน ต่อมาไม่นาน เธอได้พบรักกับหนุ่มบาห์เรน จนแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยา และเลิกทำธุรกิจเสริมสวยไประยะหนึ่ง
“ด้วยความที่เราเป็นคนที่อยู่นิ่งไม่ได้ เราเลยตัดสินใจเปิดธุรกิจหิ้วกระเป๋าเสริมสวยไปตามบ้านต่างๆ ทั่วบาห์เรน รับแต่งหน้า ย้อมสี ต่อผม ตัดผม สระ ซอย ไดร์ต่างๆ ซึ่งปรากฏว่า รายได้ดีมากกว่าเดิม เพราะในสมัยนั้น คนที่นี่นิยมต่อผมเป็นอย่างมาก และราคาต่อผมก็อยู่ที่ 250-280 ดีนาร์บาห์เรนต่อหัว (คิดเป็นเงินไทย ณ เวลานั้น 12 ปีก่อน อยู่ที่ 30,000-33,600 บาท) แล้วหนึ่งวันทำได้มากกว่า 2 หัวขึ้นไป หรืออาจจะมากถึง 4 หัวต่อวัน”


“รายได้ดีมาก เรียกว่าเก็บเงินจนเหนื่อย นับไม่ไหวเลยทีเดียว และพอได้เงินมาก็โยนๆ ไว้ แล้วก็นอน วันรุ่งขึ้นก็ออกไปทำงานต่อ” ชลธิชา เล่าความน่าอิจฉาของเธอให้เราฟัง
“แต่ตอนนี้ ค่าเงินไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะเศรษฐกิจที่ประเทศบาห์เรนซบเซา เมื่อก่อน 1 ดีนาร์บาห์เรน เท่ากับ 120 บาทไทย แต่ตอนนี้ 1 ดีนาร์บาห์เรน เหลือ 80 บาทไทยเท่านั้นเอง”

“จากนั้น พอเรามีเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง เราก็เลยตัดสินใจเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กๆ ที่ขายเฉพาะสินค้าไทย ซึ่งธุรกิจตรงนี้ เหนื่อยน้อยกว่าหิ้วกระเป๋าไปทำเสริมสวยตามบ้าน และสามารถทำรายได้ค่อนข้างดีพอสมควร ซึ่งตอนนี้เรามีรายได้จากร้านซุปเปอร์ฯ แห่งนี้ประมาณเดือนละ 2 ล้านบาทไทยทีเดียว ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมมากจะเป็นพวกขนมขบเคี้ยว พืชผักสวนครัว เลือดหมู และยาคูลท์”
ปัจจุบัน ชลธิชา สาว ป.6 จากจังหวัดเพชรบูรณ์ เพิ่งเปิดร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตสินค้าไทย เป็นสาขาที่ 2 ซึ่งใหญ่โตโอ่โถงกว่าร้านเดิมมาก มิหนำซ้ำยังไปได้สวยอีกด้วย คิดดูเถิด ร้านเล็กๆ ร้านแรกรายได้ขั้นต่ำ 2 ล้านบาทต่อเดือน แต่ร้านที่สองจะขนาดไหน!

สาวนคร จบ ม.6 ปิ๊งไอเดีย ขนเครื่องสำอางไทยขายบาห์เรน ฟันกำไรเดือนละ 3 ล้านกว่า!
ทีมข่าวพูดคุยกับ ชัชชฎาภรณ์ หนูคง หรือแซง สาวใต้วัย 30 ปี เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง และเสื้อผ้านำเข้าจากเมืองไทย เธอกล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มกับทีมข่าวว่า “เรามีรายได้จากธุรกิจนี้ ตกเดือนละประมาณ 40,000 ดีนาร์บาห์เรน (คิดเป็นเงินไทย 3.2 ล้านบาท) ซึ่งถือว่า เป็นรายได้ที่ช่วยให้ร้านเราอยู่ได้ และสามารถดูแลพนักงานของเราได้เป็นอย่างดี”
ขณะที่ ธุรกิจเครื่องสำอาง และเสื้อผ้านำเข้าจากเมืองไทยของเธอนั้น มีถึง 4 สาขาในประเทศบาห์เรน ซึ่งแบ่งเป็นร้านขายเสื้อผ้าผลิตจากประเทศไทย 1 ร้าน, ร้านขายเครื่องสำอางนำเข้าจากประเทศไทย 2 ร้าน, ร้านสินค้าลิขสิทธิ์ คิตตี้ 1 ร้าน


แซง เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง และเสื้อผ้านำเข้าจากเมืองไทย ย้อนเล่าไปถึงวินาทีที่ตัดสินใจเดินทางมาทำงานที่ประเทศบาห์เรนให้ทีมข่าวฟังว่า เธอเป็นคนนครศรีธรรมราช เรียนจบชั้น ม.6 ได้ไม่นาน ก็มีเพื่อนชักชวนมาทำงานร้านสปาไทยในประเทศบาห์เรน
เมื่อเธอมาทำงานได้สักพัก ก็อยากหารายได้พิเศษจากช่องทางอื่นๆ เสริม ซึ่งไอเดียนั้นก็คือ การพกเครื่องสำอางจากเมืองไทยติดไม้ติดมือมาขายให้กับคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศบาห์เรน โดยใช้เฟซบุ๊กของเธอเองเป็นร้านค้า และเมื่อขายไปได้สักพักหนึ่ง ลูกค้าของเธอก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเครื่องสำอางที่ติดสอยห้อยมาจากเมืองไทยไม่เพียงพอขาย


จนในที่สุด เธอตัดสินใจนำเงินเก็บจำนวนหนึ่งเปิดร้านเครื่องสำอางขนาดเล็กๆ ในย่านจุฟแฟร์ ปรากฏว่า ยอดขายถล่มทลาย จนต้องขยายกิจการเปิดร้านอีก 3 แห่งต่อมา โดยมีพนักงานคนไทย 15 คน ค่าจ้างตกคนละ 200-300 ดีนาร์บาห์เรน (คิดเป็นเงินไทย 1.6-2.4 หมื่นบาท) ซึ่งพนักงานทุกคนในร้านจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายในละแวกบ้านของเธอที่นครศรีธรรมราช


สุดภูมิใจ! ร้านอาหารไทยในบาห์เรน คว้า The best tom yum kung of Bahrain 6 ปีซ้อน
ชนากานต์ พรหมพันธ์ หรือ ติ๋ง สาวใหญ่วัย 58 ปี เจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทย honey restaurant พูดคุยกับทีมข่าวประหนึ่งญาติมิตรสนิทสนม แม้จะรู้จักกันเพียง 2 วันเท่านั้น “ร้านของเราได้รับรางวัล The best tom yum kung of Bahrain ของนิตยสาร Time Out Bahrain มา 6 ปีซ้อน ซึ่งพวกเราทุกคนในร้าน ภูมิใจและดีใจอย่างที่สุด”
“ด้วยความที่เราเลือกที่จะทำอาหารไทยแบบไทยแท้ ไม่ปรับแต่งรสชาติให้ลดทอนอ่อนลงตามสไตล์ของชาติอื่นๆ ซึ่งเราคิดว่า ความเป็นรสชาติไทยแท้ของเราที่แหละ ที่ทำให้ผู้คนในประเทศบาห์เรนติดอกติดใจ จนต้องโหวตให้เมนูต้มยำกุ้งของร้านเราเป็นต้มยำกุ้งที่ดีที่สุดในบาห์เรน”


ติ๋ง สาวใหญ่วัย 58 ปี เล่าถึงที่มาที่ไปของการเดินทางมาทำงานในดินแดนแสนไกลนี้ว่า “ด้วยความที่พ่อทำงานขับรถแบ็กโฮอยู่ในบาห์เรน เราจึงมีโอกาสติดตามท่านมาทำงานอยู่ที่นี่ด้วย ตอนที่มาใหม่ๆ เราอายุ 23 ปี เราทำงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็น รับจ้างซักผ้า พนักงานเสิร์ฟ ทำขนมไทยขาย สารพัดที่เราจะทำได้ และเป็นอาชีพสุจริต เราทำทุกอย่าง”

“จนในที่สุดมีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านอาหารไทยเป็นของตัวเอง และตอนนี้เปิดได้ 2 สาขาแล้ว มีพนักงาน 30 คน ซึ่งพนักงานก็เป็นญาติๆ คนไทย แถวบ้านที่สมุทรปราการทั้งนั้น และพนักงานที่นี่เราขอบอกว่า ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายอะไรทั้งสิ้น อาหารการกิน ที่พัก น้ำเปล่า ชากาแฟกินที่ร้านได้เลย ใครอยากกินอะไรก็เข้าไปสั่งในครัว แถมยังเอากลับบ้านได้อีก เรียกได้ว่า มีแต่พนักงานหญิงเท่านั้นแหละจ้ะ ที่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัย เพราะทุกอย่างเราดูแลหมด ไม่ต้องเสียตังค์สักบาท พอได้รับเงินเดือนก็สามารถเก็บและส่งกลับบ้านได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย”


ติ๋ง เจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทย honey restaurant ยังพูดพลางหัวเราะกับเราอีกว่า “พนักงานคนหนึ่งในร้าน ตอนนี้มีที่ดินอยู่ที่บ้านอุตรดิตถ์เป็นร้อยไร่แล้วมั้ง รถยนต์อีก 3 คัน จะรวยกว่าเจ้าของร้านอีก(หัวเราะ) เพราะที่นี่เราอยู่กันอย่างญาติมิตร เราอยากให้ทุกคนมีความสุข”
ส่วนกำไรที่ร้านอาหารไทย honey restaurant ได้รับต่อเดือนนั้น ติ๋ง สาวใหญ่เจ้าของร้านขออุบตัวเลข แต่แอบแย้มบอกเบาๆ กับเราว่า รายได้คิดเป็นเงินไทยมากกว่า 7 หลักต่อเดือน!
ขณะที่ เมนูยอดนิยมที่ลูกค้าชื่นชอบ คือ ต้มยำกุ้ง, หอยลายผัดพริกเผา, ปูผัดผงกะหรี่ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก และกุ้งชุบแป้งทอด โดยมีราคาอาหารตั้งแต่ 1.5-10 ดีนาร์บาห์เรน (คิดเป็นเงินไทย 120-800 บาท)

สาวไทยปิ๊งไอเดีย เปิดสปากระเป๋าร้านแรกในบาห์เรน รับทรัพย์วันละ 2 หมื่น!
พิรดา สีทา สาวชลบุรีจบชั้น ปวส.วัย 33 ปี มองหาลู่ทางทำกินไม่ซ้ำใคร เธอเปิดร้านรับสปากระเป๋า ดูแลทำความสะอาดกระเป๋าแบรนด์เนม โดยคิดราคาอยู่ที่ 30-35 ดีนาร์บาห์เรน ต่อการทำความสะอาดกระเป๋า 1 ใบ (คิดเป็นเงินไทย 2,400-2,800 บาท) หากเป็นกระเป๋าแบรนด์เนมราคาสูงมากๆ จะมีราคาอยู่ที่ 50-55 ดีนาร์บาห์เรน ต่อการทำความสะอาดกระเป๋า 1 ใบ (คิดเป็นเงินไทย 4,000-4,400 บาท) โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยและชาวอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ รายได้ในการทำความสะอาดกระเป๋าต่อเดือนจะอยู่ที่หลักแสนต้นๆ โดย พิรดา ได้กล่าวกับทีมข่าวว่า “ถ้าไม่ขี้เกียจ วันนึงก็ได้ 2-3 หมื่นบาทไทย แต่งานลักษณะนี้ ค่อนข้างจุกจิกยุ่งยาก และต้องใช้ความละเอียดสูง เพราะกระเป๋าที่เรารับมาทำความสะอาดนั้น ส่วนใหญ่เป็นของรักของหวงและมีราคาแพง”
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ พิรดา จะเปิดร้านสปากระเป๋านั้น เธอได้ไปร่ำเรียนการดูแลทำความสะอาดกระเป๋าจากผู้เชี่ยวชาญที่เมืองไทยจนเกิดความชำนาญ และมาเปิดร้านสปากระเป๋าเป็นของตัวเองในที่สุด


หมูกระทะก็หากินได้! หนุ่มไทย เปิดร้านหมูกระทะ กลางบาห์เรน ฟันกำไรเดือนละ 4 แสน
พฤทธิ์ ประภากุล หนุ่มไทยวัย 33 ปี เจ้าของธุรกิจหมูกระทะไทยในบาห์เรน เล่าให้ทีมข่าวฟังถึงที่มาที่ไปของร้านหมูกระทะใจกลางเมืองมุสลิมว่า “ผมเปิดร้านนี้มาได้ 4 ปีแล้ว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยและชาวฟิลิปปินส์ ส่วนคนบาห์เรนหรือมุสลิมจะมีให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว หรือเดือนนึงจะมีคนบาห์เรนสักหน”
“ตอนแรกที่มาจากไทย ผมก็มาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทยก่อน จากนั้น พอเรามีประสบการณ์ เราก็ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านเอง ซึ่งธุรกิจนี้ก็ถือว่าทำรายได้ค่อนข้างน่าพอใจ โดยตกอยู่ที่ 4-5 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเมนูยอดนิยมที่ลูกค้ามักจะสั่งมากที่สุด คือ หมูกระทะ ต้มยำกุ้ง จิ้มจุ่ม และข้าวผัด”

ทั้งนี้ ราคาหมูกระทะของร้านจะมีราคาอยู่ที่ 10-15 ดีนาร์บาห์เรน (คิดเป็นเงินไทย 800-1,200 บาท) ภายในหนึ่งวันจะขายได้ราวๆ 20 กระทะขึ้นไป


ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ประเทศมุสลิมอย่างบาห์เรน จะมีการขายเนื้อหมูได้อย่างไรนั้น พฤทธิ์ ตอบว่า “ประเทศนี้ไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องเนื้อหมู แต่ถ้าใครจะเปิดร้านที่มีเนื้อหมูก็ต้องมีใบอนุญาตเพียงเท่านั้น และที่นี่ยังมีตลาดที่ขายหมูโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น อาหารการกินต่างๆ ถือว่า ค่อนข้างอิสระและถูกปากคนไทยพอสมควร”
“เราเลือกที่จะเป็นได้ เลือกที่จะรักษาศักดิ์ศรีของตัวเองได้
ถ้าเรามีความมุ่งมั่น ขยัน และใฝ่ดี
ฉะนั้น การมาเป็นโสเภณีในบาห์เรน ไม่ใช่ช่องทางรวยเสมอไป”
หนึ่งในเจ้าของธุรกิจไทยในบาห์เรนฝากไว้ให้คิด...
- อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง -
ไขข้อสงสัย ทำไมเจ้าชายบาห์เรน หลงรักเมืองไทย ปชช.สุดงง จนต้องมาดูเอง?