Highlight

  • - Grab ดึงนักขี่ร่วมงาน สมัครฟรี ไม่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ไม่จำเป็นต้องติดป้ายเหลือง ผู้ขับขี่ Grab เผย รายได้เฉลี่ยวันละ 1,200-1,500 บาท สูงสุดชั่วโมงละ 150-180 บาท มีโบนัส เงินประกันรายได้จูงใจ แต่หักค่าบริการแอปพลิเคชัน 15% ต่อเที่ยว

  • - Grab อัพระดับผู้ขับขี่เป็น VIP เพิ่มสิทธิประโยชน์ หากวิ่งงานสะสม 300-500 งานต่อเดือน พร้อมตั้งกฎเข้ม ประพฤติไม่ดี มารยาทแย่ โดนร้องเรียน ฟันไม่เลี้ยงถึงขั้นระงับให้บริการ

  • - ผู้ขับขี่ Grab เฉลยค่าโดยสารราคาแพงกว่าวินฯ แต่บริษัทมีโปรโมชั่นอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งระบบโชว์ราคาให้พิจารณาก่อน หากผู้โดยสารไม่พอใจก็สามารถใช้ระบบขนส่งอื่นๆ ได้

  • - ผู้ขับขี่ Grab แจง คำครหา ชุบมือเปิบ แย่งอาชีพ เผย ผู้ใช้บริการมีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ยอมรับ ทำผิดกฎหมายวิ่งป้ายขาว ชี้ หากบริษัทจะทำให้ถูกกฎหมายคงทำตั้งแต่เริ่มแล้ว แต่ธุรกิจอาจไปไม่รอด

...

หลังจากฟังเสียงของพี่วินจักรยานยนต์รับจ้างมาแล้วนั้น มาถึงรายงานพิเศษชิ้นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำเสนอในมุมของ Grab บ้าง ในสิ่งที่หลายคนสงสัยว่า เหตุใดราคาถึงถูกกว่าวินฯ และปมที่ถูกกล่าวหาแย่งผู้โดยสาร หนุ่มๆ Grab จะมีคำอธิบายว่าอย่างไร..?

งานอิสระ สมัครง่าย ไม่ต้องติดต่อราชการ ไม่เสียเงินแรกเข้า

เริ่มต้นด้วย นายแมน Grab หนุ่มวัย 29 ปี เล่าถึงขั้นตอนการสมัครขับขี่กับ Grab ว่าจะต้องใช้เอกสาร ได้แก่ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาใบขับขี่รถจักรยานยนต์ 3. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารกสิกรไทย 4. สำเนาเล่มจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ 5. สำเนา พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ โดยสามารถสมัครผ่านทางเว็บไซต์ หรือสมัครโดยตรงที่บริษัท

จากนั้น จะต้องเข้าร่วมอบรมการสมัครขับขี่รถก่อนจึงจะสามารถออกไปรับงานได้ โดยในการอบรมจะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทให้คำแนะนำการใช้แอปพลิเคชัน คำแนะนำในการขับขี่ปลอดภัย การแต่งตัวให้สุภาพ โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง เมื่อเสร็จขั้นตอนสามารถรับงานได้ทันที

เงินดี การันตีรายได้! หนุ่ม Grab เผยวิ่งงานรับวันละ 1,500 บาท

นายแมน หนุ่ม Grab Bike เล่าละเอียดยิบถึงขั้นตอนการจ่ายเงินให้แก่ผู้ขับขี่ ว่า ผู้ขับขี่จะต้องสมัครใช้บัญชีธนาคารของกสิกรไทย ผูกเข้ากับไอดีของผู้ขับขี่เพื่อเชื่อมต่อการโอนเงิน โดยผู้ขับขี่ต้องฝากเงินเข้าบัญชีก่อน จากนั้น จึงจะสามารถกดเติมเงินในแอปพลิเคชันได้ โดยจะเรียกว่า “กระเป๋า” มีไว้สำหรับหักเงินค่าวิ่ง 15% ต่อเที่ยว ทำให้ต้องเติมเงินจากบัญชีมาไว้ในกระเป๋า เพราะหากเงินในกระเป๋าต่ำกว่า 30 บาท ผู้ขับขี่จะวิ่งรับงานไม่ได้

เช่น วิ่งงาน 100 บาท จบงานลูกค้าจ่ายเป็นเงินสด 100 บาท ระบบก็จะหักค่าบริการแอปพลิเคชันจากกระเป๋าเงิน 15 บาท แต่หากเป็นกรณีจ่ายผ่านบัตรเครดิต Grab Pay เงินก็จะเข้าในบัญชีธนาคาร 85 บาทโดยหักค่าธรรมเนียมการให้บริการแอปพลิเคชันแล้ว 15% ดังนั้น เงินค่าวิ่งรับ-ส่ง เงินจะได้ทันที

...

นอกจากนี้ Grab ยังมีโปรโมชั่นประกันรายได้ในแต่ละสัปดาห์ หรือที่เรียกกันว่า “อินเซนทีฟ” เช่น ใน 1 สัปดาห์ จะต้องวิ่ง 10 รอบ ได้เงิน 500 บาท หากวิ่งครบ 10 รอบ แต่ได้เงินไม่ถึง 500 บาท ทางบริษัทจะทบเงินส่วนต่างให้จนครบ 500 บาท แต่หากว่ามีรายได้เกิน 500 บาทแล้วก็จะไม่ทบเงินให้

แต่ทั้งนี้ เงินประกันรายได้ จะมีเกณฑ์พฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นตัวชี้วัด 2 ข้อ คือ เปอร์เซ็นต์การรับงานต้องมากกว่า 85% และเปอร์เซ็นต์การยกเลิกงานต้องไม่เกิน 25% หากมีข้อใดข้อหนึ่งไม่ครบจะไม่ได้เงินประกันรายได้ประจำสัปดาห์นั้น

“ส่วนใหญ่ถ้าวิ่งทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น จะได้เงินประมาณ 1,200-1,500 บาทต่อวัน ยังไม่ได้หักเงินค่าบริการแอปฯ อีก 15% แต่ของผมวิ่งหลังเลิกงานตั้งแต่ 18.00-23.00 น. จะได้ประมาณ 300-500 บาทแล้วแต่ว่าเราขยันแค่ไหน ซึ่งสำหรับคนที่มีงานประจำทำอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีเลยครับ” หนุ่มวัย 29 เผยรายได้ขี่ Grab

ขณะเดียวกัน นายธวัชชัย ก่อบุญ อายุ 34 ปี หนุ่ม Grab Bike ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า "ผมเคยขับเต็มวันช่วงระหว่างรองาน เริ่มออกตอนเช้า 06.00-09.00 น. เป็นช่วงที่มีผู้ใช้บริการเยอะ เมื่อส่งผู้โดยสารเสร็จเรียบร้อย ระบบก็จะเด้งผู้โดยสารคนถัดไปขึ้นมาทันที เคยเก็บสถิติไว้ ชั่วโมงละ 150-180 บาท ถ้าเป็นช่วงระหว่างวันจะลดลงมาอยู่ที่ชั่วโมงละ 100-120 บาท ขึ้นอยู่กับความถี่ของงานที่เด้งมาที่โทรศัพท์"

...

อัพระดับเป็น VIP อัดโบนัส สิทธิพิเศษ จูงใจผู้ขับขี่

หนุ่ม Grab Bike ยังเผยต่อว่า บริษัทยังจูงใจผู้ขับขี่ในการปรับเลื่อนขั้น 2 ระดับ คือ

ระดับ VIP - ไม่มีประวัติการกระทำผิดกฎระเบียบร้ายแรงของบริษัท, ไม่มีการร้องเรียนพฤติกรรม, มีคะแนนดาวสะสมไม่ต่ำกว่า 4.2, มีคะแนนการรับงานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 85%, มีจำนวนงานสะสมประมาณ 300 งานต่อเดือน

ระดับ SVIP - ไม่มีประวัติการกระทำผิดกฎระเบียบร้ายแรงของบริษัท, ไม่มีการร้องเรียนพฤติกรรม, มีคะแนนดาวสะสมไม่ต่ำกว่า 4.5, มีคะแนนการรับงานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 90%, มีจำนวนงานสะสมประมาณ 500 งานต่อเดือน

หากถูกปรับเลื่อนระดับแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น กิจกรรมพิเศษ ได้รับอินเซนทีฟพิเศษ โบนัสพิเศษประจำปี การอบรมหลักสูตรพิเศษเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถสำหรับผู้ที่ปรับเลื่อนขั้นพิเศษอีกด้วย

เฉลยปมคาใจ ไฉน Grab ราคาแสนถูก?

นายธวัชชัย ก่อบุญ อายุ 34 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ผู้ขับ Grab มา 1 ปีกว่า ให้ความเห็นว่า Grab Bike เริ่มต้นที่ 35 บาท ซึ่งแพงกว่าวินมอเตอร์ไซค์ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าพอเรียกไปไกลขึ้น ด้วยระบบของ Grab จะโชว์ราคาให้เห็น มีระยะทางแสดง ทำให้ผู้ใช้บริการประเมินได้ว่า พึงพอใจในราคาที่ระบบคำนวณให้หรือไม่ หากแพงก็ไปใช้ตัวเลือกอื่น

...

ขณะที่ วินฯ ไม่ทราบว่าระยะทางไกลแค่ไหน และราคาเท่าไร ถ้าคนไม่รู้ว่าควรจะจ่ายเท่าไร ใช้ความรู้สึกของคนขับและความรู้สึกของผู้โดยสาร เหมือนเป็นช่องว่างที่ทำให้ราคาขึ้นลงได้ตามความรู้สึกใกล้ไกลของผู้ขับขี่

นอกจากนี้ Grab ยังมีโปรโมชั่นสำหรับผู้โดยสารออกมาเรื่อยๆ ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องจ่ายราคาเต็ม ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วมีราคาถูกกว่าการใช้บริการอื่น

Grab ตั้งกฎเข้ม! ผู้ขับขี่ทำผิดร้ายแรง ฟันไม่เลี้ยง!

นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า สำหรับกฎระเบียบของ Grab หากกระทำความผิดข้อใดจะถูกตักเตือน โดยมี SMS แจ้งเตือนให้ปรับปรุงให้บริการดีขึ้น โดยบทลงโทษจะขึ้นตามความร้ายแรงของการกระทำความผิด

เช่น การตักเตือน ขับรถผิดกฎจราจร ไม่สวมหมวกกันน็อก, ใช้เวลาเกินกว่า 15 นาทีในการไปถึงสถานที่ต้นทาง, สภาพรถ เครื่องแต่งกาย ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

ส่วนการระงับบริการ 3 วันนั้น จะต้องมีความผิดถึงขั้นตักเตือนไปแล้ว และการระงับบริการ 7 วัน ผู้ขับขี่ต้องเคยถูกระงับ 3 วันแล้ว รวมทั้ง การระงับบริการ คือ การปิดระบบถาวร หมายความว่า เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่สามารถใช้สมัครขับ Grab ได้อีกต่อไป

ผู้ขับขี่ Grab แจงคำครหา "ชุบมือเปิบ" ยัน ผู้ใช้บริการมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุด! 

จากบทสัมภาษณ์ในตอนที่แล้วนั้น ผู้ขับขี่วินฯ ต่างให้มุมมองกับ Grab ว่า เป็นผู้ชุบมือเปิบ แย่งอาชีพที่เคยมีมาก่อนแล้วนั้น 

นายธวัชชัย ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า คำว่า "ชุบมือเปิบ" ถ้ามองในฝั่งวินฯ คงจะใช่! แต่หากมองในฝั่งของผู้ขับขี่ Grab จะมองว่า ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายสงวนสิทธิ์ผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากกฎหมายที่ระบุว่า หากจะรับคนต้องมีใบขับขี่สาธารณะ และรถต้องจดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง

ขณะที่ ความต้องการของผู้ใช้บริการกับวินฯ ที่มีนั้น ไม่สอดคล้องกัน ทั้งเรื่องของจำนวนไม่มีทันต่อความต้องการ จะเห็นได้ว่า มีผู้โดยสารต่อแถวรอคิวขึ้นวินฯ ยาวมาก และในบางพื้นที่ก็ไม่มีวินฯ ให้บริการ ทำให้เกิดเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดความคิดที่ว่า จะสามารถเติมช่องว่างตรงนี้ได้อย่างไร รวมทั้งเมื่อมีเทคโนโลยีทำให้สะดวกขึ้น ทำให้เป็นอีกตัวเลือกที่ทำให้ผู้ใช้บริการมีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตของตัวเอง

จริงหรือ? ทำถูก ก.ม.ได้ แต่ไม่ทำ! ผู้ขับขี่ Grab ยอมรับผิด ชี้ เป็นเรื่องธุรกิจ

ส่วนกรณีที่กลุ่มวินฯ กล่าวหาว่า Grab ไปแย่งอาชีพนั้น นายธวัชชัย มองว่า เมื่อไหร่ที่มีรถให้บริการลักษณะเดียวกันเพิ่มเข้าไปในระบบขนส่ง เท่ากับว่าเป็นการแบ่งส่วนแบ่งของรายได้แน่นอน

แต่ทั้งนี้ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่า Grab ผิดจริง! เนื่องจากระบบของ Grab ไม่ได้บังคับให้ผู้ขับขี่ จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ หากจะสมัครมีแค่ใบขับขี่ เอกสารของรถ มีการตรวจประวัติอาชญากรรมเท่านั้น ก็สามารถร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ของ Grab ได้แล้ว ส่วนจะถูกตำรวจจับข้อหาใช้รถผิดประเภทก็เป็นความเสี่ยงของผู้ขับขี่เอง บริษัท Grab จะไม่รับผิดชอบ

"Grab เองก็ยังลังเลอยู่ว่า จะมีนโยบายการทำธุรกิจอย่างไร เพราะหากระบุเงื่อนไขว่า จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ รถที่ใช้จะต้องจดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง เขาก็มองว่า ธุรกิจของเขาอาจจะไปไม่รอดได้ เพราะหากออกเงื่อนไขดังกล่าว ขณะที่ ผู้ขับขี่แค่ต้องการงานเสริม ออกวิ่งงานไม่บ่อยคงจะลังเลที่จะเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของ Grab

ผมจึงมองว่า ถ้า Grab จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เขาคงทำตั้งแต่เริ่มเข้ามาตั้งธุรกิจในเมืองไทยแล้วครับ แต่ว่าเขาเลือกที่จะไม่ทำมากกว่า" หนุ่ม Grab วัย 34 ปี แสดงทัศนะ

ฟังอีกมุม! หนุ่ม Grab ตอบปม ถูกกล่าวหาไม่แฟร์กับพี่วินฯ

จากกรณีที่กลุ่มวินฯ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก Grab คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้? ทีมข่าวตั้งคำถาม

ในฐานะผู้ขี่ Grab มามากกว่า 1 ปี ให้คำตอบว่า หากจะให้ยกเลิก Grab ไปเลย มองว่า ยาก เนื่องจาก Grab ปูพื้นฐานจนตอบโจทย์ผู้โดยสารได้แล้ว ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เริ่มต้นและโดนใจผู้โดยสารแล้ว สุดท้ายหากไม่มี Grab ก็ยังมีแพลตฟอร์มอื่นที่ตอบโจทย์ผู้โดยสารลักษณะแบบนี้

“ถามว่าแฟร์ไหม ส่วนตัวมองว่า ต้องย้อนกลับไปว่า สิ่งที่วินฯ เคยได้รับก่อนหน้านี้ มันแฟร์กับผู้โดยสารหรือเปล่า เพราะว่า ถ้าวินฯ บอกว่า ทำถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรมกับผู้โดยสาร นั่นหมายความว่า ตอบโจทย์ผู้โดยสารแล้ว ถึงจะมี Grab ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่พอ Grab มาโดยอาศัยช่องว่างข้อด้อยของระบบวินฯ ในปัจจุบันมาใช้ บังเอิญว่าโดนใจผู้โดยสาร เรียกว่า สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาดีกว่า

ดังนั้น หากรัฐบาลจะพลิกโฉมระบบขนส่ง เปิดเสรี ทำให้ตอบโจทย์ผู้โดยสาร ทุกอย่างแฟร์เหมือนกันหมด ไม่ต้องผูกขาดกับระบบวินฯ ระบบพื้นที่ และสิ่งที่รัฐพยายามกำกับควบคุมให้อยู่ในกรอบที่คนอื่นเข้าแข่งขันไม่ได้ ผู้โดยสารก็จะเลือกในสิ่งที่รัฐจัดสรรให้ก็จะไม่เกิดการแข่งขัน สุดท้ายก็จะวนมาเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นตลอด” นายธวัชชัย ให้ความเห็น

ผู้บริหาร Grab เผยข้อจำกัดป้ายขาววิ่งรับคน ชวนพี่วินฯ ขี่ Grab

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำบริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงกรณีที่กลุ่มวินฯ ออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ Grab ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่นำมอเตอร์ไซค์ป้ายขาวมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ว่า วินฯ รับจ้างสาธารณะในปัจจุบันทำให้เกิดข้อจำกัดและความท้าทายต่อตัวผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์จะช่วยแก้ไขปัญหาใน 3 ด้าน คือ

1. เพิ่มรายได้ให้ผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็น GrabBike Win รับ-ส่งผู้โดยสาร, GrabFood รับ-ส่งอาหาร และ GrabDelivery ส่งสิ่งของ
2. สร้างความปลอดภัยให้ตัวผู้ขับและผู้ใช้บริการ โดยมีประกันอุบัติเหตุสูงสุด 150,000 บาท และประกันค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 7,500 บาท ครอบคลุมทั้งคนขับและวินฯ
3. สร้างความโปร่งใสด้านราคาให้บริการ โดยนำมาตรฐานการกำหนดราคาให้บริการท่ีโปร่งใส อ้างอิงจากกรมขนส่งทางบกด้วย


สำหรับประเด็นที่ Grab นำรถป้ายขาวมาให้บริการรับ-ส่งคนอย่างไม่ถูกกฎหมาย นายธรินทร์ กล่าวว่า ระบบของ Grab มีการแบ่งชัดเจนว่า GrabBike Win (ป้ายเหลือง) และ GrabDelivery (ป้ายขาว) แต่ด้วยกรณีที่บางครั้งป้ายเหลืองอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้บางครั้งอาจจะเห็นป้ายขาวออกไปวิ่งขับรับ-ส่งผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ยืนยันว่าไม่มีผลในการคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ขับขี่ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและอุบัติเหตุ

“เราเข้าใจกฎเกณฑ์ของกรมขนส่งทางบกที่ห้ามมอเตอร์ไซค์ป้ายขาววิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร แต่กฎหมายที่เรามีในวันนี้ก็ต้องมองภาพย้อนกลับด้วยว่าสังคมมองเรื่องนี้ในปัจจุบันอย่างไร เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับกรมขนส่งฯ เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมันก็ต้องเกิดสถานะที่วิน-วินกับรัฐบาล วินมอเตอร์ไซค์ ผู้ใช้บริการด้วย หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ เราก็ไม่ควรจะทำธุรกิจนี้ และ Grab ก็คุยกับรัฐบาลและทุกหน่วยงาน แต่ก็ค่อนข้างเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน จะใช้ระยะเวลากี่เดือนผมคงไม่ทราบ แต่ผมคิดว่ามันคงถึงเวลาที่เราควรมานั่งคุยกันอย่างจริงจังได้แล้ว” นายธรินทร์ ระบุ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์​ ได้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ที่ 1550 อาคารธนภูมิ ชั้น 30 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2556 ทุนจดทะเบียน 15,000,000 บาท วัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัท เพื่อให้บริการและพัฒนาช่องทางการเช่ารถแท็กซี่ รวมทั้งบริการเรียกแท็กซี่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์เครื่องมือที่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชัน

ปีที่แจ้งงบการเงินล่าสุด คือ ปี 2559 มีรายได้รวม 104,131,569 บาท รายจ่ายรวม 620,271,535 บาท ขาดทุน 516,139,966 บาท

ปัญหาวินจักรยานยนต์รับจ้างปะทะ Grab Bike จะมี "ทางออก" อย่างไร และผู้ใช้บริการมี "สิทธิ์" เลือกหรือไม่ โปรดติดตามต่อได้ในวันพรุ่งนี้...


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง