ทุกเดือน ทุกปี หลายที หลายหน คนไทยยังคงวนเวียนและมีปัญหาให้หงุดหงิดรำคาญใจกับเรื่อง “ฉันหิ้วของเข้าเมืองไทย อ้าว ฉันโดนศุลกากรเรียกเก็บภาษี!”
อันตัวเราไม่ได้โดนเข้าด้วยตัวเอง แต่ก็หัวร้อนแทนคนอื่นเขา “ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ศุลกากร บอกว่าไม่เก็บๆ แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ไปเรียกเก็บภาษีจากของที่เขาใช้แล้ว เขาคล้องกระเป๋าอยู่คาไหล่ด้วยซ้ำ ไปเรียกเก็บภาษีเขาได้ไง โอ้โห ฉันงง”
สรุปแล้ว จริงแท้อย่างไร? คนไปนอก ชอบช็อปปิ้ง หรือคนไม่ไปนอก ชอบฝากซื้อ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มองว่า ไม่ว่าอย่างไร คุณต้องรู้ไว้ เผื่อวันใดวันหนึ่งคุณอาจโดน!
...
- ฉันถือกระเป๋า(ใช้งานมาแล้ว) เข้าเมืองไทย ฉันต้องเสียภาษีหรือไม่ วานบอกที -
นายบุญเทียม โชควิวัฒน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชี้ชัดๆ ย้ำถี่ๆ ทีมข่าวแปลเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า...
สิ่งของส่วนตัวที่ใช้ระหว่างการเดินทาง หรือที่ชาวเราเข้าใจและเรียกกันว่า “ของใช้แล้ว” ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า หากสิ่งของเหล่านี้มีมูลค่าเกิน 2 หมื่นบาท และเป็นของใหม่เอี่ยมอ่อง ชนิดที่เพิ่งถอยจากร้านออกมาหมาดๆ นายบุญเทียม ย้ำว่า “ต้องชำระภาษี เพราะสิ่งของเหล่านี้มันมีภาระค่าภาษีในตัวของมัน”
**
ยกตัวอย่างเช่น : หากสินค้าเป็นกระเป๋า ผู้โดยสารจะต้องเสียภาษีศุลกากรร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าที่ซื้อมา + ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7
กระเป๋าแบรนด์เนม ใบละ 50,000 บาท คิดภาษีศุลกากร ร้อยละ 20 = 10,000 บาท + ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 = 4,200 บาท รวมเป็นเงิน(ภาษี)ท่ีต้องจ่ายเพิ่มเติมทั้งสิ้น 14,200 บาท
**
- ฉันเห็นข่าวสาวถือกระเป๋าใช้แล้ว มาใบเดียว แต่โดนเรียกเก็บภาษี ทำไมเป็นเช่นนั้น วานบอกที -
นายบุญเทียม กล่าวสั้นๆ ก่อนเข้าเรื่องว่า “เรื่องนี้ ข้อเท็จจริงพูดกันเพียงครึ่งเดียว”
“กระเป๋าราคาเกิน 2 หมื่นที่หญิงสาวถือมา ไม่ได้มีแค่ใบเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากร พิจารณาแล้ว เล็งเห็นว่า หญิงสาวคนนี้ใช้วิธีการพรางกระเป๋ามา ด้วยการเอากระเป๋าแบรนด์เนมออกมาจากกล่อง จากนั้น ก็ทำทีเป็นสะพายไหล่ใช้งาน ทั้งๆ ที่ในกระเป๋าใบนั้น ไม่มีสิ่งของใดๆ อยู่ในกระเป๋าเลย”
...
“เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้ว กระเป๋าของเธอไม่ได้ใช้อย่างปกติ เธอถือลงมาเฉยๆ จากเครื่อง ทั้งๆ ที่ข้างในไม่มีอะไรในกระเป๋า ซึ่งเป็นสิ่งผิดวิสัย ด้วยเหตุนี้ หญิงสาวคนนี้จึงต้องชำระภาษี แต่เจ้าหน้าที่ให้หญิงสาวชำระภาษีเพียงแค่กระเป๋าใบเดียว ซึ่งเธอก็ยินดีและปฏิบัติตามโดยที่ไม่มีปัญหาใดๆ ส่วนที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกสังคมออมไลน์ เป็นเพราะมีผู้ใดก็ไม่ทราบ แคปข้อความของเธอไปโพสต์โดยที่เธอไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย”
“เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะเก็บภาษีใครได้ก็ต่อเมื่อเขายินยอมพร้อมใจ มีเงินพร้อมจ่ายก็จ่าย หรือจะรูดบัตรจ่ายก็ว่ากันไป” นายบุญเทียม กล่าว
- ฉันถือกระเป๋าใหม่(ใช้งานมาแล้ว) เข้าเมืองไทย ใหม่ขนาดไหน ถึงต้องเสียภาษี วานบอกที -
คำถามต่อมา คือ สิ่งของชิ้นนั้น มันต้องใหม่ขนาดไหน ถึงจะเข้าเกณฑ์ชำระภาษี?
นายบุญเทียม ไขข้อข้องใจในคำถามนี้ว่า “เราต้องมาดูกันว่า เขาซื้อของชิ้นนี้มาในราคาเท่าไร ใช้มาหรือยัง โดยพิจารณาจากสภาพของสิ่งของ ถ้าเป็นของใหม่เอี่ยมก็ต้องชำระภาษี โดยคิดจากราคาเต็มของสิ่งของ แต่ถ้ามีร่องรอยการใช้งานมาแล้ว 6-7 วัน และมีสภาพมอมแมม เลอะเทอะ มีรอยตำหนิ หรือใส่ข้าวของต่างๆ อยู่(ในกรณีกระเป๋า) หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรพิจารณาดูแล้ว สามารถยกเว้นให้ได้ เราก็ยกเว้นให้อยู่แล้ว”
...
“ถ้าคุณถือสิ่งของเพียงชิ้นเดียวกลับเข้ามาประเทศไทย แล้วคุณก็ใช้งานมันจริงๆ แม้ราคาของมันจะเกิน 2 หมื่นบาทไปบ้าง เราก็ไม่ได้ไปเข้มงวดกับคุณหรอกครับ” นายบุญเทียม กล่าวแสดงความเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของประชาชน
- ฉันถือกระเป๋าใช้แล้ว ใช้เอง เข้าเมืองไทยหลายๆ ใบ ฉันต้องเสียภาษีหรือไม่ วานบอกที -
อีกคำถามที่ตามมาคือ ถ้าฉันซื้อสิ่งของราคาเกิน 2 หมื่นบาทจากเมืองนอกมาหลายชิ้นหลายอย่าง แต่ฉันใช้เองนะ และฉันใช้ไปแล้วด้วย ฉันต้องชำภาษีหรือไม่ อย่างไรเอ่ย...
นายบุญเทียม แจกแจงข้อสงสัยนี้โดยละเอียดว่า “ถ้าคุณถือสิ่งของใช้แล้ว สิ่งของใช้เอง (ที่มีราคาเกิน 2 หมื่นบาท) มาหลายชิ้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ต้องเรียกเก็บภาษีจากคุณ แม้ว่าสิ่งของนั้นๆ จะมีร่องรอยการใช้งานมาแล้ว 6-7 วัน หรือสิ่งของนั้นๆ จะมีสภาพมอมแมม เลอะเทอะ มีรอยตำหนิ เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องเก็บภาษี โดยคิดราคาตามสภาพ ซึ่งมูลค่าอาจจะลดลงมาอยู่ที่ราวๆ 60-70% จากราคาจริง”
...
“ถ้าเราตรวจเจอว่า คุณมีสิ่งของจำนวนมากๆ เกินคำว่า จะเอามาใช้เป็นของใช้ส่วนตัว และมีท่าทีว่าจะเอาเข้ามาในลักษณะของการค้า เราก็จับกุม แต่ถ้าคุณมีสิ่งของที่นำมาใช้เองราคาเกิน 2 หมื่นบาทเพียง 1-2 ชิ้น และเมื่อนำมานับรวมดูแล้ว เป็นเงิน 2 หมื่นหรือ 2 หมื่นนิดๆ กรณีอย่างนี้เราก็ไม่ได้ไปเข้มงวด เพราะถ้าคุณถูกจับมันก็จะดูเกินควรไปหน่อย”
“ส่วนใหญ่คนไปต่างประเทศนะครับ เขามักจะซื้อของที่ราคาเกิน 2 หมื่นบาท กลับมาเมืองไทยอยู่แล้ว ซึ่งบางคนอาจจะซื้อสิ่งของราคาสูงติดไม้ติดมือกลับมา 3-4 อย่างขึ้นไป ผมจะบอกว่า ในฐานะประชาชน คุณควรเสียภาษีให้แก่รัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็พิจารณาตามสมควร มิได้ใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสม”
- เมื่อมีคำว่า ดุลพินิจ เกิดขึ้น คำว่า ทุจริต ก็จะตามมาได้ง่ายหรือไม่? -
เมื่อมาถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า หากใช้คำว่า “ดุลพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ “ดุลพินิจ” ในที่นี้ อาจนำมาสู่การใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม หรือนำมาสู่การรับสินบนหรือไม่?
นายบุญเทียม ยอมรับว่า “คำว่า ดุลพินิจ ฟังดูแล้วอาจจะเป็นภาษาราชการ ซึ่งดุลพินิจอาจให้ความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกัน”
“การที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจนั้น ถือว่า น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ผู้โดยสารจะมีใบเสร็จอยู่แล้ว ฉะนั้น ราคาก็จะถูกกำหนดตายตัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่” นายบุญเทียม ตอบอย่างกว้างๆ
“ถ้าจะมีปัญหาในเรื่องการใช้ดุลพินิจ ก็คงจะเป็นเรื่องของการต่อรองราคา ถ้าสิ่งของที่คุณซื้อมาใหม่เอี่ยม คุณจะให้เราลดราคาได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ต้องเก็บภาษีเข้าประเทศอยู่แล้ว มิใช่ว่า จะเก็บเข้ากระเป๋าตัวเองเสียเมื่อไหร่” นายบุญเทียมกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
- ฉันใช้ของแบรนด์เนมทั้งร่างตั้งแต่เด็กจนโต เก็บภาษีทุกชิ้น มิอ่วมหรือ วานบอกที? -
นายบุญเทียม ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า “เรื่องปกติของบางคน คือ สิ่งของทุกชิ้นที่เขาใช้ เป็นของแบรนด์เนมทั้งหมด หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ เวลาเขาเดินทางกลับเข้าไทย มิต้องเก็บภาษีคนผู้นั้นทั้งหมดทุกชิ้นเลยหรือ คำตอบคือ โดยหลักแล้ว ศุลกากรจะเก็บภาษีเฉพาะของใหม่ ไม่ได้ไปเก็บของเก่า"
“ยกเว้นกรณีของคนที่ไปซื้อของมือสองกลับมาเป็นจำนวนมาก แม้ราคาจะไม่ถึง 2 หมื่นบาท ก็ต้องเสียภาษี เพราะถือว่าไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว” นายบุญเทียม กล่าวถึงคนหัวการค้าบางราย
"ถ้าของสิ่งนั้น อยู่ในวงเงิน 2 หมื่นบาท และมีแค่ชิ้นเดียว ไม่มีใครเขาไปเก็บภาษีหรอก
แต่ถ้าเป็นแสน หรือหลายๆ แสน ซึ่งจำนวนเงินเกิน 2 หมื่นบาทไปมากๆ
คุณก็ต้องเสียภาษีเข้ารัฐ เพราะหลักการของศุลกากร คือ ของที่เข้ามาใหม่ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น"
3 บรรทัดง่ายๆ ที่ ผอ.ศุลกากร ตรวจของผู้โดยสาร สุวรรณภูมิ อธิบายไว้ให้เข้าใจง่ายๆ
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : aot บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน)