หลังจากที่มีบทวิเคราะห์จากทางอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่งเกี่ยวกับคดีศึกชิงหวย 30 ล้าน โดยอ้างว่ามีกระบวนการติดตามไทม์ไลน์จากโทรศัพท์มือถือของครูปรีชา พบว่า ครูปรีชามาที่ตลาดเรดซิตี้ วันที่ 27 ต.ค. 60 เวลา 17.05-17.22 น. เพื่อซื้อลอตเตอรี่ จากเจ๊บ้าบิ่น และในวันที่ 31 ต.ค. 60 ครูปรีชา ไม่ได้มาที่ตลาดเรดซิตี้

ขณะที่ จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของ ร.ต.ท.จรูญ และภรรยา พบว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 60 ทั้งคู่ได้เดินทางมาที่ตลาดเรดซิตี้จริง!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับการแกะรอยทางโทรศัพท์มือถือ จาก Base Station โดย ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย เป็นผู้ให้ข้อมูลในประเด็นนี้...

แกะรอย Base Station ยุทธวิธีล่าคนร้าย โยงพิกัดที่อยู่จากสัญญาณโทรศัพท์

...

ทำความรู้จัก Base Station คืออะไร?

Base Station หรือ Base Transceiver Station หรือ สถานีฐาน จะเป็นตัวติดตั้งเครื่องรับ-ส่งสัญญาณ เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณวิทยุที่อยู่ระหว่างระบบสื่อสารแบบไร้สาย และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย โดยมีลักษณะเป็นเสาโครงข่าย

Base Station แต่ละแห่งจะมีระยะที่ครอบคลุม บางแห่งมีรัศมี 500 เมตร หรือบางแห่ง 200 เมตร และเมื่อใช้งานโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นโทรออกหรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ก็จะรับสัญญาณจาก Base Station ที่อยู่บริเวณนั้น ฉะนั้นแล้ว ผู้ที่จะทราบข้อมูลตรงนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นั่นคือ โอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการ หรือ ค่ายมือถือ นั่นเอง!

“ถามว่าคล้ายกับ GPS ไหม ไม่คล้ายนะ เพราะ GPS ติดอยู่ที่เครื่อง แต่ข้อมูลของเสา Base Station อยู่ที่โอเปอเรเตอร์ เพราะโอเปอเรเตอร์มีหน้าที่เก็บค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต” ดร.โกเมน อธิบาย

แกะรอย Base Station ยุทธวิธีล่าคนร้าย โยงพิกัดที่อยู่จากสัญญาณโทรศัพท์

หลายคนอาจจะยังมองไม่ออกถึงกระบวนการ ดร.โกเมน จึงยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ ดังนี้...

ยกตัวอย่างเช่น...

มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะเป็นการโทร การเชื่อมต่อผ่าน WIFI เปิดอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์ เล่นเกมออนไลน์ ใช้ไลน์ เฟซบุ๊ก อยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งสมมติว่าเป็นซอย 3 จากนั้น จะมีการรับสัญญาณจาก Base Station หรือเสาส่งสัญญาณของค่ายมือถือ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น Base Station อยู่ที่ซอย 3

ระหว่างนั้นที่ใช้งานก็ได้เดินทางมาเรื่อยๆ จนทะลุซอย 4 ซึ่งจะมี Base Station ของซอย 4 อยู่ ผู้ใช้งานก็ได้ไลน์คุยกับเพื่อน ทำให้โทรศัพท์ก็จะไปรับสัญญาณจาก Base Station ซอย 4

แกะรอย Base Station ยุทธวิธีล่าคนร้าย โยงพิกัดที่อยู่จากสัญญาณโทรศัพท์

หากยังไม่เข้าใจ ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่ง...

เมื่อวานนี้ นาย ก. โทรศัพท์อยู่ที่ถนนวิภาวดี ส่วนวันนี้ นาย ก. เดินทางไป จ.กาญจนบุรี และใช้โทรศัพท์ไม่ว่าจะโทรหรือใช้อินเทอร์เน็ต ข้อมูลก็จะบันทึกไว้ที่เสา Base Station ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี

ดังนั้น โอเปอเรเตอร์หรือค่ายมือถือผู้ให้บริการก็จะมีข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ของลูกค้าได้ และไม่เกี่ยวด้วยว่า จะต้องเป็นซิมแบบเติมเงิน หรือ รายเดือน

“การโทรเข้าหรือใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเช็กได้ว่า มีการส่งข้อมูล ส่งสัญญาณ จาก Base Station แต่เรื่องของเนื้อหาไม่ทราบได้ เช่น โอเปอเรเตอร์รู้ว่าคุณโทรมาจาก จ.กาญจนบุรี ผ่าน Base Station นี้ แต่โอเปอเรชั่นอาจจะไม่รู้ว่าคุณคุยอะไรกับผมบ้าง” ดร.โกเมน อธิบาย

...

แกะรอย Base Station ยุทธวิธีล่าคนร้าย โยงพิกัดที่อยู่จากสัญญาณโทรศัพท์
โอกาสพลิกลิ้น อ้างว่าโทรศัพท์ไม่ได้อยู่กับตัวได้หรือไม่?

สมมติว่า ตำรวจไปจับ นาย ก. มาที่สถานีตำรวจ แล้วสอบถามเบื้องต้นว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ของคุณใช่ไหม? นาย ก. ตอบว่า ใช่ครับ โทรศัพท์เครื่องนี้อยู่กับคุณตลอดเวลาไหม? นาย ก. ตอบว่า ใช่ครับ มีเบอร์อื่นอีกไหม? นาย ก. ตอบว่า ไม่ครับ

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำโทรศัพท์ของนาย ก. ไปสอบถามกับโอเปอเรเตอร์ว่า มีการใช้โทรศัพท์ที่ไหนบ้าง โดยที่โอเปอเรเตอร์ให้ข้อมูลว่า เมื่อวานนาย ก. ไปที่ จ.กาญจนบุรี

หมวดจรูญ และ ครูปรีชา ต่างยืนยันว่าตนเองอยู่ที่ตลาดเรดซิตี้ ในวันที่ 31 ต.ค. 60
หมวดจรูญ และ ครูปรีชา ต่างยืนยันว่าตนเองอยู่ที่ตลาดเรดซิตี้ ในวันที่ 31 ต.ค. 60

...

เพราะฉะนั้น ถามว่าสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าไปที่กาญจนบุรี? คำตอบก็คือ “ยืนยันได้ครับ!!! เพราะว่า สามารถเช็กกับเสา Base Station ได้ และหลังจากที่คุยเสร็จมีการยืนยันแล้วว่าโทรศัพท์เป็นของคุณ ติดตัวอยู่ตลอดเวลา”

ดร.โกเมน กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญคือ ตอนที่ตำรวจจับ โทรศัพท์เครื่องนี้เป็นของคุณใช้หรือไม่ โทรศัพท์เครื่องนี้อยู่กับคุณตลอดเวลาไหม มีเบอร์อื่นอีกไหม ก็จบแล้วถือเป็นคำยืนยัน แต่หากต่อมาภายหลังปฏิเสธ ให้คนอื่นถือโทรศัพท์แทน หรือคำกล่าวอ้างอื่นๆ ก็เท่ากับเป็นการเปลี่ยนคำให้การ

ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
แกะรอยผ่าน Base Station ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?

ในแง่ของกฎหมายนั้น ดร.โกเมน กล่าวว่า ตำรวจจะสืบคดีต้องมีหมายศาลหรือหมายของตำรวจที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดแต่อย่างใด

...

ขณะที่ หากคุณเป็นคนบริสุทธิ์ แล้วมีตำรวจอยากรู้ว่าคุณโทรหาใครบ้าง แบบนี้ถือว่า ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่หากสายรายงานว่า คุณค้ายาบ้าอยู่ ตำรวจไปขอหมายศาลมา แล้วไปขอข้อมูลจากโอเปอเรเตอร์ ว่า คุณโทรหาใครบ้างสามารถทำได้

ในกรณีของครูปรีชานั้น เป็นข่าวและเป็นคดีความแล้ว หากมีหมายก็สามารถทำได้!

นอกจากนี้ วิธีการแกะรอยจาก Base Station ยังเป็นที่ยอมรับในชั้นศาลด้วย เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องขอหมายศาล เพื่อไปแจ้งแก่โอเปอเรเตอร์ ในการขอข้อมูลเหล่านี้

“การเช็ก Base Station เป็นการรวบรวมหลักฐานประกอบในการยืนยันที่อยู่ของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น” ดร.โกเมน ระบุ

แกะรอยจนนำไปสู่การพบตัวนายอาเดม คาราดัก ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดราชประสงค์
แกะรอยจนนำไปสู่การพบตัวนายอาเดม คาราดัก ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดราชประสงค์
ย้อนคดีดัง! Base Station ล่ามือบึมราชประสงค์

จากการตรวจสอบ พบว่า ในประเทศไทยยังได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการแกะรอยคนร้ายด้วย โดยคดีที่โด่งดังมากเมื่อปี 2558 ก็คือ คดีวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ สังเวยชีวิตประชาชนไป 20 ราย

โดยในการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงแรก ได้พยายามค้นหาสัญญาณโทรศัพท์ใกล้กับจุดเกิดเหตุ กระทั่ง พบความผิดปกติของเบอร์โทรศัพท์เบอร์หนึ่ง ซึ่งได้ปิดการใช้บริการตั้งแต่หลังเกิดเหตุระเบิด ผ่านมา 2 สัปดาห์ ตำรวจพบสัญญาณจากเบอร์ดังกล่าวอีกครั้งในย่านหนองจอก จากนั้น จึงได้แกะรอยจนนำไปสู่การตรวจค้นพูลอนันต์ อพาร์ตเมนต์ ก่อนพบตัวนายอาเดม คาราดัก หรือ นายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด ผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทร นั่นเอง

“เพียงแค่รู้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถขอข้อมูล Base Station จากโอเปอเรเตอร์ได้ โดยจะมีเรคคอร์ดอยู่ แต่จะให้บอกจุดเป๊ะๆ คงไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่ว่าอยู่บริเวณนั้น ตำบลนั้นแน่นอน ซึ่งหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะใช้วิธีการค้นหาตัวคนร้ายตามยุทธวิธีต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย กล่าว

แกะรอย Base Station ยุทธวิธีล่าคนร้าย โยงพิกัดที่อยู่จากสัญญาณโทรศัพท์
ตามรอยพิกัดจากมือถือ ค้นหาความเชื่อมโยงคดีอุ้มทนายสมชาย

และหากย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อปี 47 คดีอุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม โดยขณะที่มีการสืบพยานโจทก์ พ.ต.ต.ทินกร เกษรบัว สารวัตรสืบสวนสอบสวน (สว.สส.) สน.ดอนเมือง ได้เล่าถึงขั้นตอนการสืบสวนจากการวิเคราะห์จุดพิกัดการใช้โทรศัพท์มือถือ

โดยเมื่อเปรียบเทียบการโทรเข้า-ออก ระหว่างจำเลยทั้ง 5 คน ในช่วงวันที่ 6-10 มี.ค.47 ปรากฏว่า มีจำนวนน้อยครั้งการโทร ขณะที่ ในวันที่ 12 มี.ค. กลับมีมากถึง 75 ครั้ง และเมื่อนำผลตรวจสอบจุดพิกัดการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งห้า มาเทียบเคียงกับการใช้โทรศัพท์ของนายสมชายทำให้พบว่า มีความสอดคล้องกับข้อมูลสถานที่อยู่

ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์จุดพิกัดโทรศัพท์สามารถระบุได้ว่า กลุ่มบุคคลที่ถือโทรศัพท์ตามที่ตรวจสอบนั้นได้ติดตามนายสมชายตั้งแต่ช่วงเช้า ที่ ซ.รัชดาภิเษก 32 ไปขึ้นทางด่วนประชานุกูล แล้วต่อไปที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กระทั่งย้อนกลับมาที่ ซ.รัชดาภิเษก 32 อีกครั้ง แล้วไปสิ้นสุดที่อาคารเอฟบีที คอมเพล็กซ์ ซ.รามคำแหง 65 ที่ยุติเมื่อเวลา 20.30 น.

และนี่ก็เป็นคดีที่ยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นภาพสำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยังมีข้อมูลเชิงลึกอีกมากมาย ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

- ติดตาม คลิปซีรีส์สกู๊ป ศึกชิงหวย 30 ล้าน จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ที่นี่ - 

- สกู๊ปศึกชิงหวย 30 ล้าน ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่เกี่ยวข้อง -