เคยสงสัยกันไหม เวลามีคำสั่งเด้ง “ตำรวจ” ที่มีข่าวอื้อฉาว หรือถูกสงสัยว่าอาจจะกระทำความผิด มักจะถูกเด้งมาที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)
มาที่นี่เป็นสถานที่ลงโทษตำรวจงั้นเหรอ..?
มาที่นี่จะหมดหนทางเจริญก้าวหน้าในอาชีพหรือไร?
มาที่นี่จะถูกตัดเงินเดือนหรือไม่?
มาที่นี่ต้องมาอยู่กี่วันกี่เดือนกี่ปี?
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบกับทุกคำถาม พร้อมเบื้องหน้าเบื้องหลัง...
ก่อนจะลงลึกในรายละเอียด เรามาทำความรู้จักศูนย์ฯ นี้กันก่อน สำหรับ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์อำนวยการและสั่งการ ในการช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาติดตามสถานการณ์และประสานงานการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับทุกภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ
ทั้งนี้ ศปก.จะเฝ้าฟัง ติดตามสถานการณ์ทุกๆ เหตุการณ์ทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดเตรียมข้อมูลข่าวสารเบื้องต้น เพื่อรองรับระบบปฏิบัติการในทุกภารกิจ รายงานประมาณการณ์และข้อเสนอแนะแก่ผู้บังคับบัญชา เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขฉุกเฉิน ประชุมทางไกล รวมถึงประสานงานผู้เกี่ยวข้องด้วย
...
พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องการมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ว่า หลังจากที่รายงานตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะแยกไปปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาว่าจะมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนไหน ซึ่งจะอยู่นานแค่ไหนนั้น จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ เมื่อช่วยราชการครบกำหนดแล้วนั้น ตามระเบียบจะต้องส่งกลับไปยังสังกัดเดิมที่มา แต่หากระหว่างที่มาช่วยราชการมีคำสั่งโยกย้ายไปที่ไหน ก็ต้องส่งไปตามสังกัดที่ได้รับการแต่งตั้ง
“การมาช่วยราชการที่ ศปก.ตร. นั้น มีทั้งส่วนที่เป็นบทลงโทษ และส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยส่วนที่เป็นบทลงโทษก็ไม่ได้เข้มงวดอะไร ให้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามปกติ เหมือนคนที่สมัครใจมาปฏิบัติหน้าที่ปกติ” พล.ต.อ.สุชาติ ระบุ
ผู้การฯ สุทธิ ณ ศปก. เน้นประชุม ดูแลภาพรวม ไม่ได้มอบหมายงานให้เพราะเป็นข้าราชการระดับสูง
ขณะที่ พล.ต.ท.สุรพล พินิจชอบ ผู้บัญชาการสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า งานของ ศปก. มีทั้งเกี่ยวกับการศึกษา งานพัฒนาศูนย์ฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ช่วงนั้นว่ามีงานอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ประจำทำงานตลอด 24 ชม. แต่จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวร
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานใน ศปก. มีทั้งเจ้าหน้าที่ประจำ และชั่วคราว ถ้าเป็นกรณีพิเศษชั่วคราวนั้น จะปฏิบัติหน้าที่จนว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ขณะที่ หากเป็นกรณีที่สมัครใจมาปฏิบัติราชการที่นี่ หรือเจ้าหน้าที่ประจำ ศปก. จะอยู่ประมาณ 1 ปี ส่วนเรื่องเงินเดือนยังได้เหมือนเดิม เพราะเป็นการมาปฏิบัติราชการ
และที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่มาช่วยงานที่ ศปก. 90 คน ที่ถูกสั่งให้มา และไปอบรม ธำรงวินัย รักษาระเบียบวินัย และส่งกลับไปแล้ว ซึ่งเป็นนโยบายของ ผบ.ตร.ที่พูดคุยหารือกับทาง ผอ.ศปก.
“กรณีของ พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.ภ.จ.กาญจนบุรี นั้น ได้มอบหมายให้ดูแลงานพัฒนา ศปก.โดยร่วมประชุม ติดตามดูแลว่ามีการปฏิบัติงานภายในศูนย์ฯ อย่างไร ซึ่งงานไม่ได้ออกข้างนอก ทำงานอยู่ข้างในศูนย์ฯ เมื่อเช้าก็มาเซ็นชื่อทำงาน มาร่วมประชุมกับผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. กลางวันก็ช่วยเหลือดูแลงานภายใน ศปก. และศึกษาการพัฒนางานให้ ศปก.มีประสิทธิภาพ เป็นภาพรวมกว้างๆ เพราะเป็นผู้ใหญ่แล้วคงไม่ได้มอบหมายเป็นชิ้นๆ” พล.ต.ท.สุรพล กล่าว
...
ตบยุง ตัดอำนาจ จริงหรือ? เปิดเบื้องหลังคำสั่งเด้งฟ้าผ่า เข้ามา ศปก.
ข้างต้นที่กล่าวมานั้น เป็นแค่น้ำจิ้ม แต่ทีเด็ดและเบื้องลึกเบื้องหลัง ต้องถามคนนี้ อดีตตำรวจฝีปากกล้า “ผู้การฯ วิสุทธิ์ วานิชบุตร” ซึ่งแค่เอ่ยชื่อก็รู้แล้วว่าจะดุเด็ดเผ็ดมันแค่ไหน..
แล้วจะรอช้าอยู่ไยไปกันเลย
ผู้การฯ วิสุทธิ์ เริ่มต้นว่า.. การโยกย้ายข้าราชการที่สงสัยว่าการกระทำผิดที่จริงแล้วจะย้ายไปไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมมติว่าเหตุเกิดที่ จ.กาญจนบุรี แต่จะสั่งย้าย จ.นครปฐม ก็จะเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่...เรื่องนี้ไม่มีอะไรตายตัว เพราะบางครั้งก็พบว่ามีการโยกย้ายแบบมั่วๆ เช่นกัน
แต่โดยทั่วไปนั้น หากมีคำสั่งโยกย้ายแล้วก็มักจะมีการโยกย้ายที่ขาดจากตำแหน่ง เจตนารมณ์ก็เพื่อให้ตำรวจนายนั้นๆ พ้นออกจากพื้นที่ เพราะหากยังอยู่ก็อาจจะมีการไปยุ่งกับพยาน หลักฐาน หรือข่มขู่ เนื่องจากหากตำรวจนายนั้นยังอยู่ ก็จะทำให้พยานไม่กล้าให้การ หรือ บอกความจริง...
“เฮ้ย..เบอร์ 1 โดนไปแล้วนะ.. พวกมึงอย่านะ!” ผู้การฯ วิสุทธิ์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
...
ดังนั้น พวกหน่วยปฏิบัติงาน เช่น ภาค 1 ถึง 9 หากจะมีคำสั่งย้ายก็มักจะย้ายเข้ามาประจำกรมเลย
นอกจากนี้ อดีตมือปราบมือฉมัง ยังได้เล่าย้อนต้นกำเนิดของ ศปก. ว่า ศูนย์ฯ นี้เริ่มต้นจากที่มีปัญหาเรื่องม็อบการเมือง ทำให้เกิดหน่วยงาน ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ซึ่งที่นี่จะเป็นศูนย์รวบรวมข่าวสาร ข้อมูลคดีอุกฉกรรจ์ และภาพจากกล้อง CCTV จากพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีตำรวจมาเข้าเวรสลับหมุนเวียนกัน
“แต่หากผู้ที่ถูกเด้งเข้ามาเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ก็คงไม่ได้ทำงานอะไรมาก ดูซีซีทีวีบ้าง ประชุมบ้าง หรือเขียนรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรหรอก...นี่แหละประเทศไทย! ทั้งนี้ หากเป็นการย้ายระดับผู้การฯ จะส่งผลให้ระดับผู้กำกับ หรือรองผู้การฯ อาจรู้สึกหนาวๆ ร้อนหน่อย แต่หากคนคนนั้นเกี่ยวพันกับคดี ก็จะโดนย้ายออกทั้งหมด”
การโดนย้ายมาศูนย์ ศปก. มีผลกระทบอะไรบ้าง ทีมข่าวไม่รอช้า รีบยิงคำถาม ผู้การฯ วิสุทธิ์ อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นถูกดำเนินคดีอาญาด้วยหรือไม่ หากโดนคดีอาญาก็ต้องโดนพ่วงด้วยการตั้งกรรมการสอบวินัย ถ้าไม่โดนอาญา อาจโดนวินัยอย่างเดียวก็เป็นได้
"กรณีถูกตั้งกรรมการสอบวินัย เช่น เรื่องการเป็นหัวหน้าพนักสอบสวน แต่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง แบบนี้มีโอกาสที่จะโยกย้ายกลับไปยาก แต่ถ้าโดนคดีอาญาด้วย เช่น มีหลักฐานการทุจริต แบบนี้ยิ่งไม่มีโอกาสกลับไปตำแหน่งเดิมเลย แต่หากถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง อาจจะมีการส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) หรือ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ด้วยก็ได้" ผู้การฯ วิสุทธิ์ กล่าวและว่า
...
แต่หากมีการตั้งกรรมการสอบแล้ว รอดหมด ไม่โดนทั้งอาญาและวินัยโอกาสกลับมาก็ยังได้... หากมีลูกพี่ดีใจถึง ก็อาจจะได้กลับ!?
มุมร้าย ถูกเด้งย้ายเข้ากรม ตัดอำนาจ อะไรที่ควรได้ก็หดหาย
ผู้การฯ วิสุทธิ์ เผยว่า การถูกย้ายเข้ามาไม่มีผลกระทบกับเงินเดือน แต่..อะไรที่ควรได้ก็หดหาย เอาอย่างงี้ดีกว่า ยกตัวอย่าง ผู้การฯ จังหวัดหนึ่งถูกย้ายไป แล้วในจังหวัดหนึ่งๆ นั้นมีอะไรบ้าง คนจะคิดว่าเขาจะกลับมาไหม อะไรที่เคยได้ก็อาจจะหายไปหรือไม่ แล้วใครที่มาแทน อาวุโสกว่าหรืออายุน้อยกว่า เขาคนนั้นเป็นคนยังไง..
เพื่อความเข้าใจ ผู้การฯ วิสุทธิ์ ยังได้อธิบายความหมายของคำว่า “ผู้รักษาราชการแทน” ด้วยว่า คนนี้มีอำนาจเทียบเท่ากับตัวจริง (เด้งขาดจากตำแหน่ง) ทำแทนได้ทุกเรื่อง เช่น เข้าประชุม รับหรือมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย แต่คนที่ “ปฏิบัติหน้าที่แทน” (ชั่วคราว เช่น ไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ) มีอำนาจไม่เท่าตัวจริง ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง คนที่มาแทนเขี้ยวหรือไม่ คนที่โดนเด้งมีโอกาสกลับหรือไม่กลับ..ซึ่งเรื่องเงินที่จะเข้ามาก็อย่างที่เคยว่าไป เช่น กรณีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง พื้นที่เป็นเกรดไหน..
มุมดี ถูกเด้งเข้ากรม รอโอกาส ขยับขยาย ได้ไปพื้นที่เกรดดี
ผู้การฯ วิสุทธิ์ ยังปอกเปลือกเบื้องหลังการถูกเด้งเข้ากรมต่อไปว่า การเด้งมาที่ศูนย์ฯ ใช่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายเสมอไป... เพราะบางคนมีนายดี ก็ถูกดึงไปช่วยที่สำนักงานของนาย... ทำให้มีแต่ชื่อมาที่ศูนย์ฯ แต่ตัวไปอยู่กับนาย ปรากฏว่า นายคนนี้ดันเป็นคณะกรรมการ ก.ตร. ด้วย ถึงเวลาแต่งตั้งโยกย้าย จากโรงพักเกรด C อาจจะไปเกรด A เลยก็มี หรือว่ากลัวผลประโยชน์จะหาย ก็อาจจะทำงานทั้ง 2 อย่างเลย เช่น ทำงานใน ศปก. แล้วก็ช่วยสำนักงานด้วยก็เป็นได้ จากนั้นก็ให้นาย...กริ๊งไป แบบนี้ใครจะกล้าทำอะไรอีกไหม
“เรื่องแบบนี้ผมพูด 3 วัน ก็ไม่จบ... เพราะเรื่องจริงมันเป็นแบบนี้ ถึงเวลาแต่งตั้งก็ผงาดไปพื้นที่ดีๆ ก็เคยมีเยอะแยะ”
เด้งแบบเฮงซวย “จับบ่อน เด้ง 5 เสือ ไม่เป็นธรรม”
เมื่อพูดถึงกรณีนี้แล้ว ผู้การฯ วิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีการเด้ง 5 เสือ หากมีโรงพักไหนถูกจับเรื่องบ่อน ว่า การโยกย้ายแบบนี้มันเป็นเรื่องเฮงซวย ยกตัวอย่างเช่น ที่ สน.กอไก่ มีผู้กำกับ, รอง ผกก.ป., รอง ผกก.สส., สวป. และ สว.สส. ถูกเด้งเซ่นคดีทหารโผล่มาจับบ่อน ทั้งนี้ การเปิดบ่อน บางทีมีคนมีบารมีมาฝากฝังไว้ “ดูแลด้วย เขาขอมา..” ดังนั้นเวลาถูกย้าย 5 เสือจึงโดน แต่ก็โดนเป็นพิธีสุดท้ายก็มีคนเข้ามาช่วย พอเรื่องเงียบก็กลับมาอยู่เหมือนเดิม หรืออาจจะรอไว้ก่อนเพราะใกล้ช่วงโยกย้าย จากนั้นก็รอโอกาสย้ายไปอยู่ สน.เกรดดีๆ (อ่านประกอบ จัดอันดับโรงพักเมืองกรุง จำหน่ายเก้าอี้สีกากีกุมบังเหียนทำเลทอง!? ) แต่หากว่าผู้กำกับครบหลักเกณฑ์ก็มีโอกาสขึ้นรองผู้การฯ เลย
แล้วการโยกย้ายแบบฟ้าผ่าส่งผลต่ออนาคตตำรวจหรือไม่.. ผู้การฯ วิสุทธิ์ ตอบสวนทันทีเลย “ไม่มีหรอก...”(ลากเสียงยาว) แต่ว่าการย้ายเป็นไปตามระเบียบ กระแสสังคม เรื่องเงียบๆ ก็กลับไปที่เดิม หรือไปที่ๆ ดีกว่า หากไม่เชื่อลองไปศึกษาดู จะรู้ว่าพวกนี้ได้ดีหมด...
ทั้งนี้ แม้จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนก็จริง แต่โดยมากจะไม่ค่อยมีความผิด โดยเฉพาะกรณีเรื่องบ่อน โดยมักจะได้คำตอบว่ามีการตรวจสอบแล้ว พบว่าปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นตรวจตราแต่ไม่พบ แต่วันที่ถูกจับนั้น พบว่าเป็นบ่อนวิ่ง จากที่นู้นมาที่นี่ ทำให้ สน.นี้ไม่มีความบกพร่อง จึงยุติการตรวจสอบ ซึ่ง...ที่เห็นๆ การตั้งกรรมการสอบ เคยเห็นมีการลงโทษบ้างหรือไม่.. แล้วมาดูปลายปีสิ พวกที่ถูกเด้ง 5 เสือ ก็มักจะได้ดีด้วย
“ส่วนเรื่องการปฏิรูปตำรวจ เชื่อเลยว่าไม่กล้าหรอก เพราะกำลังตำรวจ เป็นรองเพียงทหารบก ซึ่งมีอยู่ 2 แสนกว่าคน ที่สำคัญเดี๋ยวนี้ตำรวจไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่น คือ 1.มือหนึ่งถือปืน อีกมือถือกฎหมาย 2.เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน และ 3.ให้คุณให้โทษกับประชาชนได้”
ข้อแนะนำสำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อดีตตำรวจชื่อดัง กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงกระบวนการยุติธรรม คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่สำหรับตนบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะก่อนที่จะมีต้นน้ำ จะต้องมีแหล่งน้ำก่อน คือพวกที่มีอำนาจจับ เช่น ด่านลอยต่างๆ เจอผิดกฎหมาย หากเป็นญาติ พรรคพวกกัน หรือเป็นคนมีอิทธิพลก็ปล่อย เป็นแบบนี้กระบวนการยุติธรรมจะมาถึงต้นน้ำหรือไม่ หากจับยาเสพติด รูดทรัพย์ เอาทอง เอาเงินไป ถามว่าพวกค้ายามันจะไปแจ้งความไหม.. ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมมันก็ไม่ถึงต้นน้ำ คือ พนักงานสอบสวน กลางน้ำ คือ อัยการ ปลายน้ำ คือ ศาล
“ข้อเสนอผม ถ้ามีการจับบ่อน ผมย้ายเลย ผู้กำกับ รองผู้การฯ ที่ดูแลในเขต และผู้การฯ หากย้ายแล้วต้องตั้งกรรมการสอบ นอกจากนี้ หากจะย้ายกลับลงพื้นที่ได้ ต้องผ่านมาแล้ว 5 ปี ทำแบบ ส.ส.เลย แบน 5 ปี โดนแบบนี้เชื่อว่าไม่มีใครกล้า เพราะการย้ายไอ้ 4 เสือนั้นมันไม่รู้เรื่องเลย บางคนมันอยากจะจับแต่ก็ทำไม่ได้ ส่วนแบ่งก็ไม่ได้ ทำแบบนี้พวกนี้มันน้อยใจ ส่งผลต่องาน ด้อยประสิทธิภาพลงไปอีก” ผู้การฯ วิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
- ติดตาม คลิปซีรีส์สกู๊ป ศึกชิงหวย 30 ล้าน จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ที่นี่ -
- สกู๊ปศึกชิงหวย 30 ล้าน ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่เกี่ยวข้อง -