นับเป็นข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนวงการศึกษาไทยอย่างมาก! เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกโรง “เชือดไก่ให้ลิงดู” ประกาศ 182 หลักสูตรไม่ได้มาตรฐานขึ้นเว็บโชว์สาธารณะ ทั้ง ป.ตรี ป.โท และป.เอก ของมหาวิทยาลัยดัง 40 แห่ง หลังจากเมื่อต้นปี 60 ประกาศ 98 หลักสูตร ของ 10 มหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ได้มาตรฐาน ร้อนกันไปทั่วทุกหนแห่ง จนมหาวิทยาลัยที่มีชื่ออยู่ในลิสต์ต้องรีบแจ้นออกมาชี้แจงแถลงไขว่า แก้ไขปรับปรุงแล้ว ทำไม สกอ.ยังเอามาเปิดเผย ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง
ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปคุ้ยเบื้องหลัง “ยาแรง” ของ สกอ. และต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ว่า เพราะเหตุใด ถึงมีมหาวิทยาลัยถึง 40 แห่ง ที่เปิดหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน...
เปิดเกณฑ์ สกอ.ตรวจสอบมหา'ลัยทั่วประเทศ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงมาตรฐานการประเมินในครั้งนี้ เป็นการใช้ ‘ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร’ (IQA) ของปี 57 ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.การกำกับมาตรฐาน 2.บัณฑิต 3.นักศึกษา 4.อาจารย์ 5.หลักสูตร การเรียน การสอน การประเมิน ผู้เรียน และ 6.สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้
...
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ สกอ.เปิดเผยนั้น เป็นข้อมูลผลการประเมินเฉพาะองค์ประกอบที่ 1 การกำกับมาตรฐาน โดยประกอบไปด้วยเกณฑ์ 12 ข้อ ดังนี้ ...
90% ตกมาตรฐาน เหตุ อาจารย์ไม่ครบ!
นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ในเรื่องนี้ว่า ข้อมูลที่เปิดเผยเป็นข้อมูลของมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 58 และ 59 ส่วนปี 60 ยังไม่จบปีการศึกษา โดยจะเสร็จสิ้นช่วงมีนาคมปีนี้ ซึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่ 90% มักจะตกมาตรฐานที่ว่า อาจารย์ไม่ครบ มีอาจารย์ดูแลนักศึกษาไม่พอ และตารางสุดท้ายที่ตกการประเมินปี 58-59 คือ มีอาจารย์ไม่ครบทั้ง 2 ปี ส่วนสาเหตุต่อมาคือ ไม่ยอมปรับปรุงหลักสูตร
“ผมถามหน่อยว่า จบไปเด็กจะมีคุณภาพไหม และถามว่าเป็นความผิดของใคร ของราชการส่วนกลาง หรือ มหาวิทยาลัยที่หาอาจารย์มาสอนไม่ครบ ซึ่งเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยเองก็รู้ดี เพราะเขาเป็นคนกรอกข้อมูลในระบบ” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งคำถาม
จาก 182 หลักสูตร...ปิด-งดรับ นศ.แล้ว คงเหลือ 53 หลักสูตร
นอกจากนี้ ยังมีช่องสุดท้ายของตาราง เป็นรายละเอียดสถานะปัจจุบัน โดยจาก 182 หลักสูตรนั้น พบว่า ได้ดำเนินการปิดหลักสูตรไปแล้ว 59 หลักสูตร และงดรับนักศึกษาไปแล้ว รอปิดอีก 68 หลักสูตร ยังเหลืออีก 53 หลักสูตร คิดเป็น 0.29% ขึ้นสถานะว่า กำลังรอตรวจสอบและปรับปรุง ซึ่งมหาวิทยาลัยยังไม่ยืนยันว่าจะรับหรือปิดหลักสูตร
“ผมไม่เห็นว่า ข้อมูลที่เผยแพร่มันจะคลาดเคลื่อนตรงไหน ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลนี้ไม่ใช่เผยแพร่โดยพลการ แต่เป็นมติของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งมีมติให้เราเผยแพร่ต่อสาธารณะ และมอบหมายให้ผมเป็นคนเผยแพร่ครับ ผมเผยแพร่อย่างถูกกฎหมาย และข้อมูลนี้เป็นข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่กรอกและเข้ามาประมวลผลตรงกลาง ซึ่งเขาก็เห็น ถ้าเขาไม่เห็นเขาจะปิดหลักสูตรทำไม” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา อธิบาย
...
สกอ.ให้เวลา 90 วัน ปรับปรุงหลักสูตรตามมาตรฐาน ยันทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เปิดเผยเพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ว่า หลักสูตรเหล่านี้มีปัญหาในปี 58-59 หากผู้เรียนจะเลือกเรียนก็อาจจะต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ไม่ถึงกับเสี่ยงเกินไป เพราะภายในหลังสงกรานต์ สกอ.จะตอบคำถามสังคมได้ว่า 53 หลักสูตรที่เหลืออยู่นั้น มีอะไรที่ปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำแล้วบ้าง
ทั้งนี้ สกอ.ไม่มีอำนาจในการไปปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้ แต่ทำได้แค่ว่า แนะนำว่ามหาวิทยาลัยควรจะปรับปรุงอะไร แต่หากยังยืนยันที่จะเปิดหลักสูตรต่อไปและมีผู้เรียน ท้ายสุดผู้เรียนก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ซึ่ง สกอ.ให้เวลาปรับปรุงหลักสูตรให้เสร็จภายใน 90 วัน หากไม่เสร็จจะเสนอให้งดรับนักศึกษาในหลักสูตรที่มีปัญหา ก่อนจะประกาศรายชื่ออีกครั้งในเดือนเมษายน
“เรื่องการตรวจสอบมาตรฐานมีมานานหลายปีแล้ว แต่ สกอ.ชุดอื่นเขาไม่กล้าเปิดเผย กลัวมหาวิทยาลัยจะโกรธ กลัวจะเสียชื่อ แต่คำถามคือว่า แล้วรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค ผู้เรียน ผู้ปกครอง และประเทศชาติหรือเปล่า เปิดเผยไปจะมีผลกระทบอะไรหรือ สาธารณะชนควรจะรู้ความจริงไหม ผมยืนยันว่า เป็นข้อมูลของท่านเองไม่ใช่ข้อมูลของผม ท่านประกาศข้อมูลสาธารณะ แต่เราบอกได้ว่าท่านทำได้ครบตามเกณฑ์หรือเปล่า และยืนยันว่าเราทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าว
...
สกอ.เชื่อ นศ.ไม่รับผลกระทบจากหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน
เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ยังเชื่อว่า นักศึกษาจะไม่ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย เพราะหลักสูตรเหล่านี้ นักศึกษาได้รับทราบไปแล้ว ก่อนพิสูจน์ว่า มีปัญหา 2 ปี คือ ปี 58 และ ปี 59 เพราะฉะนั้น หลักสูตรทั้งหมดจะถูกปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นี้
และนักศึกษาก็จะถือว่าเรียนอยู่ในหลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ สกอ.รับรอง จะไม่มีผลต่อปริญญาของผู้เรียน หมายความว่า ตอนแรกที่เรียนยังไม่เข้ามาตรฐานแต่กำลังจะปรับให้เข้ามาตรฐาน สกอ.ถืออนุโลมให้ เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้เรียน เป็นความผิดของสภามหาวิทยาลัยที่ไม่กำกับดูแลให้ดี
ขณะนี้ ยังไม่มีนักศึกษามาร้องทุกข์ เพราะยืนยันว่า ปริญญานั้นมีศักดิ์และสิทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ถึงแม้ว่า จะมี “ของเสีย” ในกระบวนการ แต่จะปรับให้ทัน เช่น จบปี 59 ปัญหาก็จะอยู่ในช่วงปี 58-59 แต่ปี 56-57 ที่เรียนสมบูรณ์อยู่ สกอ.มีมติแค่ว่าประกาศรายชื่อ แต่ไม่เกี่ยวว่ามีผลต่อปริญญา แต่จะเกี่ยวต่อเมื่อ 3 ปีซ้อน ปี 58-60 สกอ.อาจจะมีมติบางเรื่อง ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าเรียนใหม่ แต่ให้แก้ไขให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งส่วนใหญ่อาจารย์ไม่ครบ ส่วนบางหลักสูตร ไม่ได้ปรับปรุงหลักสูตรเมื่อครบรอบ 5 ปี ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงที่แก้ไขได้
“ถามว่ามีผลต่อจบปริญญาหรือไม่ อาจจะมีก็ได้ แต่ยืนยันว่า ปริญญานั้นมีศักดิ์และสิทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่หลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานระยะ 2 ปี แต่ว่าอย่างที่บอก ท่านอาจจะมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ แต่คำถามก็คือ ไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นไหม หากมหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบ”
...
สกอ.แจง ไม่มีอำนาจลงโทษมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม นายสุภัทร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ทาง สกอ.ไม่มีอำนาจลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น ต่อให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรที่ไม่มีมาตรฐานเลยทั้งมหาวิทยาลัย สกอ.ก็ไม่มีบทลงโทษ แต่มีสิทธิ์ได้แค่เผยแพร่ข้อมูลจากการประเมินเท่านั้น เพราะการอนุมัติให้เปิดหลักสูตร การอนุมัติให้จบการศึกษา การอนุมัติปริญญา เป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย และย้ำมาโดยตลอดว่า มหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
กลไก 3 ชั้น คลอดหลักสูตรการศึกษาไทย
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้คลุกคลีกับหลักสูตรการศึกษา กล่าวว่า ในการเปิดหลักสูตรจะอยู่ในกรอบ 2 กรอบ คือ 1.ระดับมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งถูกกำหนดโดยสภาวิชาชีพ เช่น ครุศาสตร์ ก็เป็นคุรุสภา แพทยศาสตร์ ก็เป็นแพทยสภา จะดูในเชิงเนื้อหาของหลักสูตร และ 2.กรอบมาตรฐานคุณวุฒิบัณฑิตของ สกอ. ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ในเชิงการบริหารจัดการหลักสูตร
ชั้นแรก ระดับคณะ : ร่างหลักสูตรขึ้นมาโดยอาจารย์ผู้รับผิดชอบในหลักสูตรนั้น เพื่อนำหลักสูตรเข้าที่ประชุมหมวดวิชาการของคณะ เพื่อกลั่นกรองรอบแรก จากนั้น ยื่นเรื่องไปที่บอร์ดบริหารคณะ เพื่อกลั่นกรองรอบที่สอง
ชั้นที่สอง ระดับมหาวิทยาลัย : หลังจากหลักสูตรผ่านคณะแล้ว จึงเข้าสู่ระดับสภามหาวิทยาลัย
ชั้นที่สาม ระดับกระทรวงศึกษาธิการและวิชาชีพ : เมื่อหลักสูตรผ่านสภามหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องนำไปให้องค์กรภายนอกตรวจสอบอย่างสภาวิชาชีพ เช่น คุรุสภา แพทยสภา สถาปัตย์ วิศวกรรม เป็นต้น แต่หากเป็นคณะวิชาที่ไม่ได้มีสภาวิชาชีพอยู่ เช่น รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ ก็จะมีแค่ สกอ. เป็นคนดูแล ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินมาจากงานวิจัยที่รับรอง โดยมีคณะกรรมการบริหารของ สกอ.ดูแลอยู่ และเกณฑ์เหล่านี้ก่อนจะประกาศใช้มีการส่งสัญญาณเตือนก่อน ยกตัวอย่างเช่น สกอ.กำหนดสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา เช่น 1 ต่อ 30 คน แต่ของแพทย์จะต้องมี 1 ต่อ 8 คน สกอ.จะเปิดช่องให้สภาวิชาชีพเสนอแนะได้ ซึ่งเป็นการต่อรองร่วมกันระหว่างสภาวิชาชีพ กับ สกอ. และมหาวิทยาลัย คณะวิชาต่างๆ จะมีส่วนในการช่วยกันร่างตัวเกณฑ์ขึ้นมาร่วมกัน
“สกอ.อาจจะมีการสุ่มตรวจในบางมหาวิทยาลัยว่า เป็นไปตามเอกสารที่ส่งไปหรือไม่ หรือมหาวิทยาลัยที่มีเรื่องร้องเรียน เช่น เมื่อก่อนมีมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ไปจัดสอนต่างจังหวัดเยอะ สกอ.ก็จะเข้าไปตรวจสอบดูแล้วว่า เป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ไปเปิดหลักสูตรสอนอยู่ที่ต่างจังหวัด มีอาจารย์สอนครบไหม เป็นใคร ห้องเรียนเป็นอย่างไร แหล่งค้นคว้า ห้องปฏิบัติการมีไหม ซึ่งพอสุ่มก็จะเจอหลายมหาวิทยาลัยที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่สอดคล้องกับเอกสารที่ส่งให้ สกอ.” ผศ.อรรถพล อธิบาย
สถาบันการศึกษา มอง ‘นักศึกษา’ คือ ‘ลูกค้า’ ยิ่งมีจำนวนมาก ธุรกิจยิ่งอยู่รอด
ผศ.อรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้หลายหลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์มาตรานั้น คือ สัดส่วนอาจารย์ไม่เพียงพอ หมายความว่า ใช้อาจารย์ไม่กี่คนสอนทุกวิชา โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก อาจารย์ต้องจบวุฒิตรงที่เทียบเท่า หรือเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เอาคนจบไม่ตรงสายมาสอนในหลักสูตร ซึ่งตัวเองไม่ได้มีความชำนาญ เพราะเมื่อคุมวิทยานิพนธ์เด็ก ต้องมีความรู้ในขอบเขตของศาสตร์นั้นๆ
และเวลาคุมวิทยานิพนธ์เด็กคนหนึ่งใช้เวลาในการทำงานร่วมกันเยอะมาก จึงต้องจำกัดจำนวน คือ อาจารย์ 1 คนต่อนักศึกษา 5 คน นี่คือตัวเลขที่ดีที่สุด ต้องมีเวลาในการตรวจงานเด็ก คอมเมนต์งานเด็ก ค้นคว้าไปด้วยกัน ช่วยให้งานวิจัยบรรลุตามเป้าหมาย เพราะฉะนั้น สัดส่วนอาจารย์กับนักศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แต่ปัญหาคือ หลายมหาวิทยาลัยตอนนี้ต้องการจะรับเด็กจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็หาอาจารย์มาสอนไม่ได้ จึงใช้อาจารย์ที่จบไม่ตรงวุฒิ เอามาประจำอยู่ในหลักสูตร ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่เด็กจบออกไปแล้วไม่ได้คุณภาพ หรือคุมวิทยานิพนธ์เด็ก เมื่อกรรมการข้างนอกเข้ามาตรวจก็เกิดปัญหาว่า วิทยานิพนธ์ไม่มีคุณภาพมากพอ
“ตลอด 10 กว่าปีมานี้ก็เป็นเรื่องนี้แหละ ทำให้การศึกษาไทยช้า เพราะมหาวิทยาลัยมองเป็นเรื่องธุรกิจ ต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ เพราะถ้ารับเด็กน้อยก็จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ และสถาบันการศึกษามองเป็นเรื่องของธุรกิจ เห็นผู้เรียนเหมือนกับลูกค้า ที่ยิ่งมีคนเข้าเรียนมาก ยิ่งมีรายได้มากเช่นเดียวกัน” อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะ
มหา'ลัย ปรับกลยุทธ์ เล่นตามกระแสตลาด ค่านิยมสะสมใบปริญญา จ่ายครบ จบแน่!
ผู้คลุกคลีในแวดวงการศึกษา ยังกล่าวถึงต้นตอปัญหาที่สำคัญด้วยว่า เมืองไทยยังไม่ยอมรับความจริงที่ว่า "ใบปริญญา ไม่ได้ช่วยการันตีความรู้" และปัจจุบันคนหันมาเรียนปริญญาโทกันมากขึ้น ขณะที่ บางสาขาปั๊มด็อกเตอร์จบออกมากันมากมาย ทั้งที่จริงไม่จำเป็น เพราะคนให้คุณค่ากับใบปริญญามากกว่าคุณภาพ ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษามองตามการตลาด นั่นคือ การแข่งขัน พยายามหาลูกค้าให้ได้มากที่สุด การันตี "จ่ายครบ จบแน่" โดยไม่ได้คำนึงคุณภาพบัณฑิตที่จบออกมา
ดังนั้น จึงมีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ทั้งขนาดกลางและเล็ก ที่ต้องอยู่ด้วยการหาเงินจากหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้ ก็พยายามจะเปิดหลักสูตรตอบรับกระแสตลาด เพราะหากเรียนมหาวิทยาลัยใหญ่ จะเข้มงวดเรื่องคุณภาพอาจใช้เวลานานในการเรียน มหาวิทยาลัยเหล่านี้ จึงเป็นทางเลือกในอีกระดับของนักศึกษา
สกอ.เล่นยาแรง! ม.โดนเหมายกเข่ง ประชาชนเข้าใจผิด
หลังจากที่ สกอ.เผยแพร่ประกาศออกไปนั้น ผศ.อรรถพล ให้ความเห็นว่า สกอ.ไม่มีการสื่อสารโดยตรงกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของหลักสูตร แต่มาสื่อสารกับสังคม ซึ่งมีโอกาสที่จะสื่อสารอย่างไม่ครบถ้วนได้ หากคนที่รับสารไม่ได้เข้าใจเรื่องกลไกในการทำงานของมาตรการเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยนั้น จะตกเป็นจำเลยของสังคมไปว่า จัดการศึกษาไม่ได้คุณภาพ
“ผมว่าเขาใช้ยาแรง ซึ่งยาตัวนี้มันแรงไป ทุกคนจะโดนเหมาหมดเลยว่า 40 มหาวิทยาลัยที่มีรายชื่อนั้น มีปัญหา ซึ่งเขากำลังแก้ไขอยู่หรือแก้ไขไปแล้ว และยอมรับในการปิดหลักสูตร แต่มันก็ยังอยู่ในแบล็กลิสต์อยู่ ซึ่งมันเป็นข้อมูลของปีการศึกษา 58-59 ซึ่งมันผ่านมา 2 ปีแล้ว มันก็มีผลต่อความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย และหลายมหาวิทยาลัยก็ออกมายอมรับว่าเกิดปัญหา แต่ได้แก้ไปแล้ว หรือรอการแก้ไขอยู่ ก็เป็นรีแอ็กชั่นของสังคม ซึ่งมันก็เป็นไปตามกลไก สกอ.ก็ต้องรอบคอบมากขึ้นในการสื่อสารกับสังคม” ผศ.อรรถพล ให้ความเห็น
ขณะเดียวกัน สกอ.จำเป็นที่จะต้องจัดการกับหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ และช่วงหลังมานี้ กระแสสังคมเริ่มกดดัน มีเรื่องร้องเรียนบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนมาเรียนแต่ปรากฏว่าหลักสูตรไม่ผ่าน มีข่าวร้องเรียนตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น เรียนพยาบาล หรือ หลักสูตรบริหารการศึกษา เรียนจบแล้วแต่รับปริญญาไม่ได้ เพราะว่าหลักสูตรนั้นไม่ผ่านการประเมิน และสกอ.ก็เป็นหน้าด่านรับเรื่องฟ้องมา ก็ต้องยกระดับทำงานเชิงรุก เพิ่มความเข้มข้นเอาจริงเอาจัง เป็นที่มาที่ทำให้ สกอ.หาวิธีการสื่อสารกับสังคมและเตือนมหาวิทยาลัย
แนะทางแก้ไข ยึด นศ.เป็นตัวตั้ง อย่าติดกับดักการตลาด หวั่นอนาคตกระทบทุกสถาบัน
สำหรับวิธีการแก้ปัญหา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า แล้วแต่กรณี อย่างเช่น จบด้วยหลักสูตรที่มีปัญหาไม่ได้ก็ต้องไปจบด้วยหลักสูตรอื่น เช่น นักศึกษาเรียนมาแล้วปีครึ่ง กำลังอยู่ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ แต่หลักสูตรมีปัญหา อาจารย์ยกโขยงออกจากมหาวิทยาลัยนี้และไปอยู่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่มีหลักสูตรใกล้เคียงกัน และให้นักศึกษาขอย้ายหน่วยกิตไป เพราะรับเด็กเข้ามาก็ต้องช่วยให้เด็กจบ เพราะคนที่รับกรรมก็คือ "นักศึกษา"
แต่สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องเอานักศึกษาเป็นตัวตั้ง และจงอย่าลืมว่า นักศึกษา ไม่ใช่ ลูกค้า! เพราะนี่คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไทย
“....ผมมองว่า การที่หลักสูตรไม่ผ่านไม่ควรเปิดรับเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาหลายมหาวิทยาลัยยังดื้อเปิด เพราะมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ พอรับนักศึกษาเข้ามาก็กลายเป็นตัวประกัน ที่นี่คุณก็เอานักศึกษาออกหน้าทำเรื่องฟ้อง ซึ่งก็ไม่แฟร์กับ สกอ.อีก เพราะเขาต้องทำหน้าที่ควบคุมกฎ ผมว่าถ้าเกิดตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับผิดชอบร่วมกัน และจัดการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา ธรรมาภิบาลมันก็เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย มันก็ไม่หลุดไปเป็นปัญหาสังคม เพราะหลักสูตรการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ นะครับ...” ผู้คลุกคลีในแวดวงการศึกษา ฝากทิ้งท้าย
สุดท้ายแล้วเราต่างหากที่ต้องมานั่งทบทวนดูว่า...แท้จริงแล้ว “ใบปริญญา”
สำคัญความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ จริงหรือเปล่า?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน