กลายเป็นข่าวที่สื่อรายงานกันเมื่อวันก่อน สำหรับ กรณี นางศิริพร ปสิรภัทร ชาว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่ได้เข้าร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือกรณี น.ส.ต้องจิตต์ แซ่เตี่ย พี่สาว ถูกกรมบังคับคดีขับไล่ออกจากบ้านพักตัวเอง โดยมีการปลอมแปลงเอกสารและปลอมลายเซ็น ซึ่งเรื่องราวเริ่มต้นได้อย่างไรนั้น ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้โอกาสพูดคุยกับ นางศิริพร ซึ่งได้ไปยื่นร้องขอความเป็นธรรม ที่บังคับคดีจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ (24 ส.ค.)
นางศิริพร ได้เล่าต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจาก คู่กรณี ได้มีอาชีพขายผักที่หน้าบ้านเลขที่ 40 อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นบ้านของพี่สาว ซึ่งต่อมาเขาขายผักมีลูกค้ามากจึงทำให้มีการขยายแผงผักออกไปเรื่อยๆ จากนั้น จึงเริ่มมีปัญหาทะเลาะกันกับ น.ส.ต้องจิตต์ พี่สาวตน เรื่องนี้มีตำรวจมาห้ามทัพ ซึ่งเราโดนค่าปรับกันทั้งสองฝ่าย ก็นึกว่าเรื่องจบ แต่ไม่จบคู่กรณีได้ให้ทนายความไปฟ้องศาลในข้อหาหมิ่นประมาท โดยที่ฝ่ายตนไม่ทราบเรื่องมาก่อน
...
ต่อมาได้มีทนายคนหนึ่งก็มาหาที่บ้าน บอกว่า “ป้าถูกฟ้องนะ ต้องเสียเงิน 6 หมื่น จากนั้น ก็ถามว่าจะจ้างเขาไหม “ถ้าคุณยายไม่จ่ายอาจจะติดคุกนะ” ทนายคนดังกล่าวบอกกับพี่สาวตน จากนั้นก็เลยยอมจ้าง โดยเก็บเงินไป 30,000 บาท ก็นึกว่าเรื่องจบ แต่หลังจากนั้น พี่สาวตนได้ไปขึ้นศาลครั้งหนึ่ง แล้วก็นำใบอะไรไม่ทราบมาให้จากนั้นเขาก็เรียกเงินอีก 5,000 บาทเป็นค่าน้ำมันรถ พี่สาวตนก็เลยตัดสินใจยกเลิก “ไม่เอาแล้ว...เสียเงินทุกเที่ยวเลย”
“กระทั่งต่อมา ก็มีเรื่องกันอีกครั้ง คราวนี้มีปัญหากับลูกสาวคู่กรณี ลูกสาวคู่กรณีได้เข้ามาทำร้ายพี่สาวตน โดยใส่แหวนต่อยเข้าไปที่ดวงตาจนตอนนี้ตาพี่สาวตนบอด พี่สาวตนต้องนอนอยู่ รพ.นาน 4 เดือน ซึ่งต่อมาศาลตัดสินจำคุกลูกสาวคู่กรณีจำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญา ทางเทศบาลก็แนะนำว่าสามารถฟ้องแพ่งได้ เพราะใช้เงินรักษาไป 700,000 - 800,000 บาท แต่ก็ไม่ได้ฟ้อง เนื่องจากคู่กรณีได้มีการมาเจรจากัน บอกว่าหากเราไม่ฟ้องแพ่ง “ขอให้ทุกอย่างจบ เงิน 60,000 บาท ที่ว่าก็จะจบกันไป” ซึ่งตรงนี้มีการพูดคุยกันปากเปล่า” นางศิริพร กล่าวอ้าง
น้องสาว น.ส.ต้องจิตต์ เล่าต่อว่า แม้จะตกลงกันแบบนั้น แต่ฝ่ายนั้นกลับไม่ทำตามที่พูดคุย แล้วเรื่องก็มาถึงกรมบังคับคดี ที่จะต้องบังคับให้ขายบ้านเพื่อจ่ายเงินค่าปรับ 60,000 บาท รวมดอกเบี้ยเป็นเงินแสนกว่าบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ถูกบังคับคดี พี่สาวตน ได้ไปที่ศาลเพียงครั้งเดียว ซึ่งแกก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง
"กระทั่งต่อมา ได้มีทนายอีกคนหนึ่ง (คนเดิมเสียชีวิตไปแล้ว) นายเอ (นามสมมติ) มาปลอมลายเซ็นพี่สาวตน แล้วไปขึ้นศาล แล้วไปบอกศาลว่าพี่สาวตนจะไม่จ่ายเงิน 60,000 บาท โดยอ้างว่าโทรศัพท์ไปถามแล้ว ทั้งที่พี่สาวตนไม่มีโทรศัพท์ เพราะเป็นคนแก่แล้ว อายุ 70-80 ปี พอเป็นแบบนี้ ศาลจึงสั่งให้ยึดทรัพย์บังคับคดี จากนั้นอีกฝ่ายก็เสนอให้ยึดบ้านเลขที่ 17 ซึ่งบ้านหลังนี้ไม่ใช่บ้านของพี่สาวตน แต่บ้านหลังนี้เป็นของตน เพราะซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2545 แต่ก็ให้พี่สาวอยู่ และตนได้แต่งงานไปอยู่ที่ จ.ภูเก็ต" นางศิริพร กล่าวอ้าง
นางศิริพร เล่าต่อว่า ตนเองก็ไม่รู้ว่าทำไม หมายของบังคับคดีไปติดบ้านเลขที่ 53 ถ.ศรีสำราญ 2 ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้องซึ่งเป็นบ้านญาติพี่น้องกันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีความ จึงไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงส่งหมายไปที่นั้น ทั้งที่ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 40 ซึ่งเขาเห็นอยู่ว่าอยู่ตรงนั้น เพราะเกิดและโตจากบ้านตรงนั้น แต่หมายบังคับคดีกลับส่งไปที่บ้านร้าง ที่เป็นเหมือนกระต๊อบ ที่ไม่มีคนอยู่ ซึ่งตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขารู้ได้อย่างไรว่ามีที่ดินตรงนั้น
หลังจากถูกบังคับคดี แค่เปิดขายวันแรก ก็มีคนมาซื้อทันที จากราคา 5 ล้านกว่า แต่ซื้อไปราคา 5.8 แสนบาท ซึ่งเงินดังกล่าวยังอยู่ที่กรมบังคับคดี ซึ่ง น.ส.ต้องจิตต์ มารับเงินดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากบ้านหลังนั้นไม่ใช่ของ น.ส.ต้องจิตต์ แต่กลับมายึดของคนอื่นไปขายได้ยังไง ตนก็ยังงงอยู่ เรามีสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่จะมาโอนที่ดิน ตนได้นั่งเครื่องบินมาลงดอนเมือง จากนั้นนั่งรถประจำทางกว่าจะถึงสุพรรณฯ และไปถึงสำนักงานที่ดินประมาณบ่าย 2 โมง จากนั้น สำนักงานที่ดินก็อ้างว่าเลิกงานแล้ว เพราะการโอนต้องใช้เงินด้วย เพราะเขาบอกว่าเขาส่งเงินไปแล้ว เพราะต้องส่งเงินก่อน 3 โมง ซึ่งสาเหตุที่ถูกบังคับขายเพราะชื่อยังเป็นของ น.ส.ต้องจิตต์ อยู่
...
“ที่ผ่านมา พี่สาวตนเคยถูกคนเข้ามาทำร้ายถึงในบ้าน โดยเป็นชาย 3 คน เข้ามาทำร้ายถึงในบ้าน ส่วนตนเองก็รู้สึกเครียดมาก อยากได้บ้านของเราคืน จึงเดินสายไปร้องกับ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม จากนั้น ท่านก็เลยแนะนำให้มาร้องให้บรรเทาทุกข์ที่บังคับคดี ที่ จ.สุพรรณบุรีก่อน เนื่องจาก เขามาติดป้ายไล่ให้ออกจากบ้าน ภายใน 7 วัน”
คดีค่อนข้างซับซ้อน ขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
ด้าน พ.ต.อ.ดุษฎี ได้กล่าวถึงคดีนี้ว่า ตอนนี้กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ส่วนกรณีบังคับคดีนั้น เราก็จะประสานไปยังกรมบังคับคดี ว่าอย่าเพิ่งบังคับคดีนี้ เพื่อที่เราจะได้ตรวจสอบก่อน ซึ่งที่ผ่านมา ก็เคยมีการร้องเรียนในลักษณะนี้เข้ามาบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิสูจน์ในชั้นศาล เพื่อให้ศาลได้เห็น ทั้งนี้ บางกรณีถึงขนาดเจ้าของบ้านขายบ้านไปแล้ว แต่ปรากฏว่านำหมายไปติดว่าจะยึดเขา โดยบอกว่านำหมายไปติดหน้าบ้าน แต่เมื่อไปตรวจสอบกลับกลายเป็นไร่อ้อย จากนั้นมาอ้างทีหลังว่ามาติดที่ต้นอ้อย ซึ่งเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ขณะที่ นายอินทราวุธ สมมาตร ผู้อำนวยการศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตอนนี้กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ยังรีบร้อนไม่ได้ เนื่องจากเรื่องราวค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งเรากำลังตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด เช่นการ ส่งหมาย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น ได้รับแล้ว แกล้งไม่ได้รับหรือไม่ หรือมีการแจ้งที่อยู่อีกที่หนึ่งไว้ในสารบบของศาลหรือไม่ การขายทอดตลาดเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นล้วนซับซ้อน และเป็นคำสั่งศาล ซึ่งทางคู่กรณีเขามีสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย ที่สำคัญ คือ เรื่องการบังคับคดีครั้งนี้ได้ดำเนินการมานานแล้ว ส่วนเงินจากการขายที่เกิน ก็ต้องถามว่าได้รับคืนแล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้จะมีการตรวจสอบเอกสารจากหลายส่วน ทั้งจากผู้ร้อง บังคับคดี และศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วย
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์