หนุ่มวัย 34 ถึงกับงง? ผ่านมา 19 ปี ใช้บัตรประชาชนติดต่อราชการได้ปกติไร้ปัญหา จู่ๆ ไปทำพาสปอร์ตครั้งที่สาม เจ้าหน้าที่เช็กข้อมูลในทะเบียนราษฎรย้อนหลังพบพิรุธ เมื่อรูปในบัตรประชาชนเป็นคนละคน!!! แถมรูปภาพบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนจนไม่รู้ว่าเป็นใคร ก่อนไปแจ้งแก้ไขที่อำเภอ ยิ่งปวดหัวมึนตึ้บหนักกว่าเดิม ปลัดให้พาพ่อแม่มายืนยันตัวบุคคลว่าเป็นคนเดียวกัน ทั้งที่มีระบบตรวจสอบลายนิ้วมือ 

ข้างต้นเป็นเรื่องราวคร่าวๆ ของประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็มีเรื่องเดือดร้อนมาถึงตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนก่อ ซึ่งกรณีนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการร้องทุกข์จากหนุ่มคนหนึ่งที่ประสบปัญหาความยุ่งยากในชีวิต กับระบบทะเบียนราษฎรที่มีความผิดพลาด และเจ้าตัวได้ขอนำเสนอเรื่องราว เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ตรวจสอบข้อมูลของตนเอง และหวังให้ทุกระบบงานมีความผิดพลาดให้น้อยที่สุด

หนุ่มสุดงง? ทำพาสปอร์ตไม่ได้ รูปบัตร ปชช.เป็นหน้าคนอื่น

นายพีระวัฒน์ โชติกนกรัตน์ อายุ 34 ปี เจ้าของธุรกิจกาแฟ Coffzilla Coffee เริ่มต้นเล่าให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ฟัง ถึงเรื่องราวอันน่าปวดหัวในครั้งนี้ว่า...เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 60 เวลา 09.00 น. ตนได้ไปทำพาสปอร์ตเล่มที่ 3 เพราะเล่มเก่าใกล้หมดอายุ ที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ.จันทบุรี

เมื่อถึงขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียนราษฎร เจ้าหน้าที่ระบุว่า ไปเจอภาพบัตรประชาชนใบแรกของตนในฐานข้อมูลเป็นภาพของบุคคลอื่น ซึ่งภาพนั้นมีลักษณะไม่ชัด บิดเบี้ยว จนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้ให้ตนเดินทางไปที่อำเภอ เพื่อทำการแก้ไขข้อมูลต่างๆ

นายพีระวัฒน์ เล่าต่อว่า หลังจากเดินทางไปที่ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่นั่น โดยได้เข้าพบกับปลัดอำเภอ แต่เรื่องราวกลับกลายเป็นว่าทางปลัดอำเภอไม่เชื่อว่าผิดตัวหรือเป็นความผิดพลาด แต่มองว่า ตนจำใบหน้าตนเองเมื่อครั้งทำบัตรประชาชนใบแรกไม่ได้ รวมทั้งอาจจะเกิดปัญหาของทางกรมการกงสุลมากกว่า

...

เลขที่อนุญาตให้ทำบัตรไม่ตรงกันกับข้อมูล
เลขที่อนุญาตให้ทำบัตรไม่ตรงกันกับข้อมูล


ทำให้ปลัดอำเภอเปิดดูฐานข้อมูลผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ และตนได้สังเกตเห็นว่า ตัวเลขที่อยู่ใต้รูปภาพนั้น ไม่ตรงกับเลขคำขอ จึงแย้งในประเด็นนี้และชี้ให้ทางปลัดอำเภอได้ดู จนสุดท้ายลงความเห็นว่า เป็นการลงภาพผิดตัวบุคคล ตนจึงสอบถามเพิ่มเติมว่า หน่วยงานใดเป็นผู้ทำงานนี้ ทางปลัดอำเภอ ระบุว่า เป็นหน่วยงานกลาง และแนะนำว่า ต้องให้พ่อแม่มายืนยันตัวเพื่อแก้ไขข้อมูล

“ผมงงมากในประเด็นที่ต้องให้พ่อแม่มายืนยันตัวผม ทั้งที่การทำบัตรประชาชนมีการเก็บลายนิ้วมือไว้ ซึ่งข้อมูลตรงนี้มันช่วยยืนยันตัวตนผมไม่ได้เลยหรอ และพ่อแม่ผมอยู่กระบี่ เดินทางลำบากเพราะท่านนั่งเครื่องบินไม่ได้ หากเป็นอะไรขึ้นมากลางทาง ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งทางปลัดก็ยืนยันจะให้หาคนมายืนยันตัวตนของผมให้ได้ และซักข้อมูลไปเรื่อย ก่อนถามผมว่า จำได้มั้ยวันที่มาทำบัตรครั้งแรกมากับใคร แล้วใส่เสื้อสีอะไร โห คุณผ่านมาเป็นสิบปีใครจะไปจำได้ นี่คือระบบพิสูจน์ตัวตนของประเทศไทยเหรอครับ” หนุ่มผู้เสียหาย กล่าวอย่างเสียอารมณ์

แต่สุดท้าย ทางอำเภออนุโลมให้พี่สาวมายืนยันตัวตนแทนพ่อแม่ และข้ามเรื่องการเก็บลายนิ้วมือลงระบบไปโดยที่ไม่พูดถึงอีกเลย นายพีระวัฒน์ จึงตั้งข้อสงสัยว่า การเก็บประวัติลายนิ้วมือไม่มีประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคลได้เลยหรือ?

ภาพมีลักษณะบิดเบี้ยว และแถบขาวคาดบริเวณใบหน้า
ภาพมีลักษณะบิดเบี้ยว และแถบขาวคาดบริเวณใบหน้า
ผู้เดือดร้อน เผย ทำบัตรครั้งแรกตรวจสอบถูกต้อง ไม่เคยพบปัญหาติดต่อราชการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ‘ครั้งแรกที่ไปทำบัตรประชาชนได้ตรวจสอบข้อมูลบนบัตรหรือไม่?’ นายพีระวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อปี 2541 ตนได้ไปทำบัตรประชาชนใบแรกกับแม่ที่เทศบาลปราจีนบุรี และตรวจสอบข้อมูลแล้วว่าเป็นข้อมูลของตนจริงทุกประการ รวมทั้ง รูปก็เป็นรูปหน้าตนชัดเจน เพราะหากไม่ใช่ เมื่อได้รับบัตรมาตนกับแม่ก็ต้องท้วงติงเจ้าหน้าที่แล้ว โดยเฉพาะบัตรใบแรก เด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่ได้ทำ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องดูรูปตัวเองอยู่แล้ว

...

“ในชีวิตนี้ผมทำบัตรประชาชนมาทั้งหมด 8 ครั้งครับ ทั้งหาย ย้ายที่อยู่ แต่ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ส่วนทำพาสปอร์ตครั้งแรกเริ่มทำเมื่อปี 2545 และครั้งที่สองปี 2556 ไม่มีปัญหาเช่นกัน ซึ่งผมได้ถามทางกงสุลว่า ทำไมการทำพาสปอร์ตครั้งก่อนๆ ไม่มีปัญหา เจ้าหน้าที่ได้บอกว่า ข้อมูลของทางกงสุลยังไม่ได้ลิงก์กับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร รวมทั้ง ใบขับขี่ผมเพิ่งไปต่อเมื่อมีนาคมปีนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพิ่งจะมีปัญหาเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้เอง แต่ทำไมที่ผ่านมาไม่มีปัญหา” หนุ่มวัย 34 ตั้งข้อสังเกต

ภาพเปรียบเทียบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ภาพเปรียบเทียบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
จนท.เช็ก พบรูปในบัตรหนุ่มวัย 34 เป็นรูปผู้หญิงที่ถ่ายรูปทำบัตรคิวถัดไป 

นายพีระวัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนกลางติดต่อมาหาตน ระบุว่า เกิดความผิดพลาดมาจากคนที่นำไมโครฟิล์มไปใส่ผิด โดยรูปที่บิดเบี้ยวเป็นของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งถ่ายรูปทำบัตรประชาชนต่อจากตนในวันนั้น และทางเจ้าหน้าที่เอารูปมาใส่ผิด

...

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า นำรูปผู้หญิงคนนั้นออกให้ และมีหลักฐานที่ทำบัตรวันนั้นแล้วว่าเป็นรูปตนจริง พร้อมแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องแล้ว โดยถ่ายรูปส่งมาให้ และได้มีการประสานงานกับสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ.จันทบุรี ให้เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถเดินทางไปทำพาสปอร์ตได้ตามปกติ ข้อมูลลิงก์กันเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้มีเอกสารทางราชการยืนยันใดๆ ทั้งสิ้น

“ตอนที่เกิดเรื่องใหม่ๆ ได้โทรปรึกษากับทนายความ โดยทนายบอกว่าสามารถฟ้องได้ แต่โทษที่เจ้าหน้าที่ได้รับคงเป็นโทษทางวินัย ซึ่งจะเรียกค่าเสียหายได้ไหมต้องพิสูจน์ว่าผมสามารถเรียกร้องอะไรได้แค่ไหน แต่ผมมองแล้วว่าผมไม่เสียเวลาดีกว่า คงไม่ฟ้องอะไรครับ” ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทิ้งท้าย

ข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร
ข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร
ผอ.สำนักทะเบียน ออกโรงชี้แจงปม รูปบัตร ปชช.เป็นรูปบุคคลอื่น

...

ด้าน นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสาเหตุของความผิดพลาดกรณีนี้ว่า เป็นการสแกนคำร้องขอมีบัตรประชาชนผิดใบ โดยเอาเลขคำขอของบุคคลหนึ่งไปสแกนผิดให้อีกบุคคลหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตนั้นจะเป็นการทำด้วยมือ โดยใช้ฟิล์มเนกกาทีฟจากการอัดรูป และนำมาแปะลงในใบคำร้อง ก่อนที่จะนำใบคำร้องมาสแกนทีละใบ เจ้าหน้าที่อาจจะหยิบสลับกัน

“อันนี้เป็นเลขคำร้องขอมีบัตรประชาชน คนหนึ่งทำบัตร 1 ใบ จะต้องมีคำร้อง 1 ใบ เราก็จะเก็บหลักฐานคำร้องเราไว้ เพียงแต่ว่าการเก็บถ้าในระบบปัจจุบันนั้น ใช้ระบบคอมพิวเตอร์จะเก็บข้อมูลได้ตรงเป๊ะเลย แต่ในอดีตเป็นระบบมือ ต้องใช้คนเอาคำร้องมาสแกนทีละอัน และค่อยๆ บันทึก ขณะที่ ความผิดพลาดกรณีนี้เกิดจากการคีย์เลขหนึ่งแต่เอาใบคำร้องอีกใบมาสแกน” ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน อธิบาย

ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
โยน กรมการกงสุล ย้อนดูข้อมูลทะเบียนราษฎรลึกเกินไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ‘มีการตรวจสอบบ้างหรือไม่ว่ามีการผิดพลาดกี่ราย?’ นายวิเชียร ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่รู้หรอก มันต้องเจ้าตัวถึงจะรู้ เพราะว่าเราทำงานหลักสิบล้าน ไม่ได้ทำงานหลักร้อย”

ผู้สื่อข่าว แย้งต่อว่า ‘ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรในเมื่อข้อมูลหน้าบัตรถูกต้องทุกประการ ขณะที่ ข้อมูลอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ซึ่งเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ผิดเพี้ยนไป?’ นายวิเชียร ตอบว่า “อันที่จริงกรมการกงสุลดูข้อมูลมากเกินไป ควรดูเฉพาะบัตรประชาชนใบปัจจุบันก็เพียงพอแล้วว่าถูกหรือไม่ ส่วนในอดีตเป็นเรื่องของทางสำนักทะเบียนต้องดู และกรมการกงสุล เมื่อเชื่อมข้อมูลตรงนี้ได้จึงดูลึกเกินไป และเมื่อสักครู่ได้คุยกับผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทางแล้ว โดยบอกว่าการพิจารณาออกพาสปอร์ตดูว่าเป็นคนไทย รายการฐานข้อมูลตรงกับบัตรก็สามารถทำได้แล้ว แต่เรื่องเกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่เขาดูย้อนหลัง

หลังจากที่ได้คุยกับผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทาง ผมจึงตำหนิไปว่า คุณควรดูเฉพาะสถานภาพปัจจุบันของประชาชนที่มาทำพาสปอร์ต แต่คุณไปดูลึกเกินไปเป็นสิบปี และมันเป็นหน้าที่ของนายทะเบียน ไม่ใช่ของคุณ”

ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
แจง ภาพบิดเบี้ยว เกิดจากความผิดพลาดทางวิธีสแกน

ส่วนกรณีภาพบิดเบี้ยวนั้น เกิดจากการดึงออกมาเร็วเกินไป ขณะที่ระบบยังสแกนไม่เสร็จเรียบร้อย ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะบิดเบี้ยวเพี้ยนไป เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ยังเก็บข้อมูลได้ไม่ครบเท่านั้นเอง ไม่ได้เกิดจากการแฮกระบบ หรือเรื่องทุจริตแต่อย่างใด ตนขอยืนยัน

รูปบัตร ปชช.เป็นคนอื่น ยัน ไร้ปัญหาเป็นแค่ใบคำร้องไม่ตรง

ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน กล่าวถึงปัญหากรณีรูปบัตรประชาชนเป็นรูปบุคคลอื่น โดยยืนยันว่า ไม่มีปัญหา ไม่มีผลอะไร เพราะได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ส่วนเหตุที่การทำบัตรประชาชนครั้งต่อๆ มาทำไมจึงไม่พบปัญหา เนื่องจากว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ดูข้อมูลลึกไปถึงการทำบัตรครั้งแรก เช่นเดียวกับการทำบัตรครั้งนี้กับครั้งก่อน มีลายพิมพ์นิ้วมือตรงกัน ภาพใบหน้าตรงกันก็ทำบัตรให้ แต่เจ้าหน้าที่จะดูลึกลงไปต่อเมื่อเวลาไปวางนิ้วมือแล้วข้อมูลไม่ตรงกันเท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าวย้อนถามต่อว่า ‘จากกรณีดังกล่าว สามารถใช้ลายนิ้วมือเพื่อยืนยันตัวตนได้หรือไม่?’ นายวิเชียร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การใช้ลายนิ้วมือเพื่อยืนยันตัวตนนั้น สามารถใช้ได้ แต่กรณีนี้เป็นดุลพินิจของปลัดอำเภอ ซึ่งบางคนต้องการข้อมูลให้ชัวร์แบบ 100% และปลัดอำเภอก็ไม่ได้ฉลาดทุกคน แต่ยืนยันว่าโดยระบบลายนิ้วมือสามารถใช้ยืนยันตัวตนได้

ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ขอความเห็นใจ งานทะเบียนราษฎรต้องตามแก้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น

ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน กล่าวว่า ทางตนตามแก้ไขความผิดพลาดมาโดยตลอด และยังต้องแก้ต่อไปไม่มีหมด ซึ่งคนจำนวน 65 ล้านคนไม่มีทางที่จะถูกต้อง 100% ได้ และเป็นอาชีพของงานทะเบียนที่จะต้องแก้ข้อมูลประชาชนให้ถูกต้อง ดังนั้น การพบว่ามีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่เป็นเรื่องปกติของความผิดพลาดจากการจัดเก็บด้วยมือ จึงต้องตามแก้ให้ถูกต้อง แต่เดิมถูกแค่ 90% แต่ปัจจุบันมั่นใจว่าทำได้ 99% แล้ว โดยมีเป้าหมายในอนาคตคือ ข้อมูลถูกต้อง 100%

“พอเราทราบข่าว เราก็ให้เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องนี้ในอดีตมาดู โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า สาเหตุของรูปบัตรประชาชนเป็นรูปบุคคลอื่นเป็นการสแกนผิดพลาด และเขาก็ปรับให้ถูกต้อง พร้อมแจ้งทางอำเภอ และทางเจ้าตัว รวมทั้ง ประสานงานกับทางกงสุลให้เขาไปทำพาสปอร์ตใหม่ได้แล้ว อันนี้ไม่ใช่ความผิดของประชาชน ซึ่งอะไรที่ไม่ใช่ความผิดของประชาชน เราจะแก้ให้เลยโดยที่ไม่ต้องยื่นคำร้อง” ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน ชี้แจง

ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว
ผอ.สำนักทะเบียน ย้ำชัด ไม่สั่งสอบ จนท. เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ทุจริต

นอกจากนี้ นายวิเชียร ระบุด้วยว่า จะไม่มีการสั่งสอบเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการกรอกข้อมูลผิดพลาดสำหรับกรณีนี้แต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า เรื่องเหล่านี้เป็นความผิดพลาดด้านการทำงาน ไม่ใช่เรื่องทุจริต เป็นเรื่องธรรมดาที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในการทำงาน

“ขอเรียนให้ทราบว่า งานทะเบียนราษฎรเป็นงานที่แก้ปัญหาการทำระบบด้วยมือ ที่ในอดีตงานทะเบียนราษฎร งานทำบัตรประชาชนนั้น เป็นการทำด้วยมือทั้งสิ้น ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเราบริการประชาชนปีละ 24 ล้านราย เจอความผิดพลาด 1 ราย และตีเราจนตาย ผมว่ามันไม่ยุติธรรมเลยนะครับ” ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน ทิ้งท้ายขอความเห็นใจ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน