ยังไม่ทันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. จะใช้คำสั่ง ม.44 ให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในไทย ตามที่ กระทรวงศึกษาฯ เสนอ เพื่อเปิดสอนสาขาวิชาที่ไทยขาดแคลน และมหาวิทยาลัยไทยเปิดสอนไม่ได้ ก็มีข่าวจาก สถาบันศศินทร์ จุฬา แจ้งว่า ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกสหรัฐฯ MIT Sloan School of Management เปิดหลักสูตรใหม่ “การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง” โดยมีนักศึกษาจากเอ็มไอทีมาร่วมเรียนในเมืองไทยด้วย จะเริ่มเรียนในเดือนหน้านี้แล้ว

MIT จับมือศศินทร์จุฬา เปิดหลักสูตรใหม่ในเมืองไทย

MIT หรือ Massachusetts Institute of Technology เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการของสหรัฐฯ ได้รับการจัดอันดับจาก QS World University Rankings ให้เป็น มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว

...

ศ.ดร.ดีพัค ซี.เจน ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตคณบดี Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐฯ เล่าให้ผมฟังว่า สถาบันศศินทร์ ได้ร่วมกับ สถาบันการบริหารจัดการเอ็มไอที ริเริ่มโครงการหลักสูตรใหม่ “การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง” (Action Learning Projects) ให้กับ นิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ของสองสถาบัน และในอนาคตจะขยายโครงการนี้ไปสู่ภูมิภาคอาเซียนด้วย

โครงการนำร่องนี้ประกอบด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง 3 โครงการ เริ่มกลางเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2017 แต่ละโครงการจะประกอบด้วยนิสิตรวม 4 คน จากสถาบันศศินทร์ 2 คน จากสถาบันเอ็มไอที 2 คน รวม 12 คน โดยเอ็มไอทีได้คัดเลือกสปอนเซอร์โครงการนี้ 3 ราย คือ กลุ่มซีพี คาราบาว และ การีนา ประเทศไทย

แต่ละบริษัทจะจัดสรรงานบริหารที่ท้าทายให้กับนิสิตแต่ละทีม อนุญาตให้ทีมนิสิตเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กร จัดหาที่ทำงานให้ และสนับสนุนการเรียนรู้ของนิสิต

สถาบันศศินทร์ ตั้งเป้าหมาย โครงการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อให้นิสิตศศินทร์และเอ็มไอทีพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการโครงการ การแก้ปัญหาในกรอบที่กำหนดไว้ และอาจารย์จากสองสถาบันที่ดูแลโครงการนี้ก็จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะเรียกว่าเป็นการเรียนแบบถ่ายทอดวิทยายุทธ์ก็คงไม่ผิดนัก

...

ศ.ดร.ดีพัค ซี.เจน กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้นิสิตศศินทร์เปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการให้กว้างขึ้นผ่าน นวัตกรรมการเรียนแบบ Action Learning Projects และผู้ที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นก็คือ คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ MIT

ผมนำโครงการนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อจะบอกนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยที่มีคุณภาพมีอยู่หลายมหาวิทยาลัย อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ติดอันดับโลกเหมือนกัน เพียงแต่ กระทรวงศึกษาไทย มีความรู้น้อย มีวิสัยทัศน์สั้น จึงเสนอให้นายกฯใช้อำนาจ ม.44 ไปขอให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในไทย แทนที่จะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างชาติ เปิดสอนวิชาใหม่ที่ประเทศไทยต้องการ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทย อย่างโครงการที่ สถาบันศศินทร์ ทำร่วมกับ เอ็มไอที มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก

วันก่อนมี อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬา ให้คะแนน ผลงานกระทรวงศึกษาฯ อยู่ที่ 3 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ถ้าเป็นนักเรียนไม่รู้จะให้เรียนต่อหรือเปล่า

ผมคิดว่าโครงการที่ สถาบันศศินทร์ ร่วมกับ MIT เป็นการ พัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับเวิลด์คลาส แต่การใช้ ม.44 ตามแนวทางของกระทรวงศึกษาฯมหาวิทยาลัยไทยจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย แถมยังไปแข่งสู้เขาไม่ได้อีกด้วย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”