เป็นงงกับนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลาพูดฟังดูดีมาก ถ้าทำได้อย่างที่พูด ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองไปนานแล้ว แต่ภาคปฏิบัติกลับเป็นบ้องกัญชา นายกฯเพิ่งพูดในงาน 20 ปีเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก แห่งสหประชาชาติ ถึง “วิถีคิดของผู้นำในสถานการณ์วิกฤติ ประสบการณ์จากสถานการณ์โควิด–19” ที่ไทยได้รับการยกย่องว่ารับมือโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก และประกาศ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของไทย ที่เรียกว่า Bio–Circular–Green Economy แต่รัฐบาลกลับไม่สนับสนุนการผลิตวัคซีนต้านโควิด–19 ที่คนไทยวิจัยได้เองในราคาถูกจาก “ใบยาสูบ” ที่เป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศ

เรื่องนี้ ผมไม่ได้กล่าวหารัฐบาล แต่มี นายแพทย์จุฬาฯชื่อดัง เป็นผู้ยืนยัน

ต้นเดือนมิถุนายน ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รก.แทนรอง อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยกับสื่อว่า บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็น บริษัทสตาร์ตอัพ ของ คณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ สามารถผลิตวัคซีนจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่กำหนดให้สร้างโปรตีนสำหรับทำวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว โดยมี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นผู้รับผิดชอบการทดสอบ ผลการทดสอบในหนูพบว่า หนูทดลองสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สูงมาก เป็นระดับที่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้

ศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า เดิมทีมวิจัยจะทดสอบวัคซีนในสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือลิง แต่เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้สูงมาก และไม่มีสิ่งบ่งบอกว่ามีสิ่งที่ทำอันตรายต่อคน เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของพืช จึงมีความ ปลอดภัยสูง ก็จะข้ามไปทดลองในคน ขณะนี้ รพ.จุฬาฯ อยู่ระหว่างเตรียมอาสาสมัครทดลองวัคซีน คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 เดือน การทดลองจะใช้เวลา 1 ปี

...

วันที่ 29 สิงหาคม 63 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แถลงผลการทดสอบ วัคซีนจากโปรตีนพิเศษในใบยาสูบ อีกครั้งยืนยันว่า สามารถยับยั้งไวรัสโควิด-19 ได้จริง แต่ต้องผลิตด้วยโรงงานที่มีศักยภาพสูง ต้องลงทุนสูง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ “แต่ที่น่าเสียดายคือโครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร” ไม่ว่าจะเสนอทั้ง กระทรวงสาธารณสุข หรือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ก็ไม่ได้รับความสนใจ เท่าที่ควร เรื่องนี้หากภาครัฐสนับสนุนจะทำให้สำเร็จได้มากขึ้น ขณะนี้ เดินมากว่าครึ่งทางแล้ว

ทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดบนเวทีสหประชาชาติเมื่อสองวันนี้โดยสิ้นเชิง รวมทั้ง โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG–Bio–Circular–Green Economy ด้วย

โครงการผลิตวัคซีนจากโปรตีนใบยาสูบ ไม่ใช่เพิ่งมาคิดกันตอนนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยว่า คณะเภสัชฯ จุฬาฯ โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ ดร.วรัญญู พูลเจริญ กับทีมวิจัยได้วิจัยมา 12 ปีแล้ว คนไม่ทราบว่าต้นไม้สามารถสร้างโปรตีนได้ เพียงแต่ต้องมี การชักนำด้วยการใส่รหัสพันธุกรรมลงไป บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ไม่ได้ทำแค่เรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ก็ได้พัฒนาโปรตีนอื่นๆ เช่น ยาต้านอีโบลา ไข้สมองอักเสบ เซรุ่มพิษสุนัขบ้า เมื่อโควิด-19 เข้ามา จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หันมาทำเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ

แต่ ผู้บริหารประเทศ เช่น รัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีการ อุดมศึกษาฯ กลับไม่สนับสนุน ถ้านายกฯได้อ่านคอลัมน์ของผมวันนี้แล้ว ช่วยเจียดเงินซื้อเรือดำนํ้างวดแรก 3 พันกว่าล้านบาทมาตั้งโรงงานผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ไหม เพื่ออนาคตของประเทศไทย เพื่อสุขภาพของคนไทย 68 ล้านคน เราผลิตได้เอง ทำไมต้องรอซื้อจากต่างชาติ หวังได้อะไรหรือ

ผมขอแสดงความชื่นชม ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ ดร.วรัญญู พูลเจริญ สองสตาร์ตอัพคณะเภสัชฯ จุฬาฯ ที่สามารถ วิจัยพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จากโปรตีนใบยาสูบที่ปลูกในประเทศได้สำเร็จ เก่งมากจริงๆ แต่เสียดายที่รัฐบาลไม่สนับสนุนคนไทยกันเองอย่างที่พูด ไม่ว่าเรื่อง สตาร์ตอัพ หรือ การผลิตวัคซีน ก็ไม่รู้รักชาติกันแบบไหน?

“ลม เปลี่ยนทิศ”