หลังจากที่ผมตัดสินใจลาออกจากราชการเมื่อปี 2540 มาทำงานไทยรัฐเต็มตัว เป็นเวลา 23 ปีเข้านี่แล้ว ผมก็โยนตำราเศรษฐศาสตร์ขึ้นหิ้งไม่เปิดดูเปิดอ่านอีกเลย หยุดความเป็นผู้ใช้วิชาทางเศรษฐศาสตร์ไว้เพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อกาลเวลาผ่านไปความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของผมก็ค่อยๆ ถดถอยลง จนบางครั้งแทบไม่กล้าออกความเห็นเมื่อเกิดปัญหาใหม่ๆที่ผมไม่เคยรู้ไม่เคยเรียนขึ้นทั้งในโลกนี้และในประเทศไทยเรา

บางเรื่องผมทนไม่ไหวเพราะมันผิดไปจากตำรา ผิดไปจากที่เราเคยเรียนเคยทำ ก็เลยออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง

แต่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ก็ไม่เห็นมีใครฟังไม่มีใครเชื่อ แถมยังมีข้อโต้แย้งด้วยว่าที่ผมคิดหรือเสนอออกมานั้นตกรุ่นไปแล้ว

ผมก็ได้แต่เจียมตัวว่าเราคงตกรุ่นแล้วจริงๆ ระยะหลังๆผมก็เลยเงียบไปไม่ค่อยพูดถึงอีก

ยกตัวอย่างเรื่องนโยบาย “แจกเงิน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เป็นข่าวใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลแถลงว่าในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังไวรัสโควิด-19 จะมีมาตรการแจกเงินอยู่ด้วยนั่นแหละครับ

นักเศรษฐศาสตร์ตกรุ่นอย่างผมเติบโตมากับคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์สมัยเก่าที่ว่า “เงินงบประมาณแผ่นดิน” เป็นเงินจากภาษีอากรของราษฎร ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งของ หยาดเหงื่อแรงงาน ที่เขาเสียสละมาให้แก่รัฐ เพื่อนำไปทำนุบำรุงแผ่นดิน

เราในฐานะคนของรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องใช้เงินงบประมาณทุกบาท อย่างให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าอย่างระมัดระวัง ไม่คดโกงแอบกินเงินก้อนนี้ ฯลฯ เพื่อให้เกียรติและเคารพต่อหยาดเหงื่อที่ประชาชนเสียสละ

จากหลักการที่ถูกสอนมาอย่างนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าๆ หรือที่แตกแขนงไปเป็นนักการคลัง นักการเงินรุ่นเก่าๆ จึงค่อนข้างเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงการคลังยุคเก่าๆ จะหวงแหนเงินภาษีอากรราวกับปู่โสมเฝ้าทรัพย์อย่างไรอย่างนั้น

...

ต่อมาเราก็ถูกสอนให้ยอมรับทฤษฎีปลุกเศรษฐกิจของท่านลอร์ด เคนส์ ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินภาครัฐในการลงทุนต่างๆ เพื่อให้คนมีงานทำมีเงินใช้จนเกิดการหมุนเวียน อันจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

เราเห็นด้วย เพราะการใช้เงินของรัฐผ่านโครงการเหล่านี้ มิใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่จะเกิดเป็นสิ่งปลูกสร้างขั้นพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภายหลัง

เช่น ถนนหนทาง เขื่อนกั้นน้ำต่างๆ ฝายต่างๆ ไปจนถึงการขยายการวางสายไฟฟ้าสายโทรศัพท์ไปยังท้องถิ่นกันดาร ฯลฯ

แต่ในช่วงหลังๆโลกเรามีปัญหาเศรษฐกิจหลายครั้ง และเริ่มมีความคิดใหม่ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะได้ผลกว่า คือการกระตุ้นไปที่ ผู้บริโภค คือแจกเงินไปให้ประชาชนใช้บริโภคโดยตรง

อ่านข่าวเจอว่าแม้สหรัฐอเมริกาก็ใช้ และล่าสุดรัฐบาลนี้ก็อ้างว่าแม้สิงคโปร์ยังใช้

นักเศรษฐศาสตร์ตกรุ่นอย่างผมแม้จะไม่พอใจ เพราะมันผิดไปจากอุดมการณ์เก่าๆ แต่เมื่อเขาอ้างว่าใช้แล้วได้ผลเร็ว เราก็คงต้องยอม

เหมือนคุณหมอ แม้จะรู้ว่า “มอร์ฟีน” เป็นยาอันตราย แต่เอามาใช้ชั่วคราวในการผ่าตัดคนไข้ เพื่อระงับอาการเจ็บปวดของคนไข้ แค่เข็ม 2 เข็ม แล้วหยุดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์

แต่รัฐบาลไทยเราไม่ใช่เช่นนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ ท่านแจกแล้วแจกเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนฉีดมอร์ฟีนไม่หยุดหย่อน

เตือนแล้วบอกแล้วท่านก็ยังแจก รวมทั้งหลังสุดในมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพื่อรับมือโควิด-19 ที่แถลงเมื่อวานนี้ก็เอาอีก

ผมดูแผนงานทั้งแผนเห็นว่าดีมาก มีทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ยืดชำระหนี้สำหรับบุคคลทั่วไป ไปจนถึงหักลดหย่อนภาษี ลดเงินสมทบประกันสังคม ตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบโควิด

ตลอดจนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ดอกพิเศษให้แก่ SME และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส ฯลฯ

ดีๆทั้งนั้น...มาเสียอยู่ติ่งเดี่ยว คือแจกรายละ 2,000 บาท เดือนละ 1,000 บาท 2 หน ให้แก่บุคคล 3 กลุ่ม นี่เอง

นี่แหละที่โบราณเขาว่า ปลาเน่าตัวเดียวพาเหม็นไปทั้งข้อง... เพราะโครงการแจกเงินเพียงโครงการเดียวเท่านั้น ทำให้ผู้เสียภาษีร้องยี้และอาจเป็นหตุให้ไม่เชื่อถือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไปเลยทั้งแผนก็ว่าได้...เสียดายจริงๆครับ.

“ซูม”