โครงการ “เมืองการบินอู่ตะเภา” พื้นที่ 6,500 ไร่ ของ กองทัพเรือ ที่ระยองเปิดซองเสนอราคากลุ่มสุดท้าย ธนโฮลดิ้ง ในเครือซีพีไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันศุกร์ แม้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือประธานการประมูลฯ จะไม่แถลงข้อเสนอราคา แต่ก็มีรายงานข่าวระบุว่า กลุ่มธนโฮลดิ้งเสนอราคาที่ 120,000 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีบีเอสที่เสนอราคาสูงสุด 305,000 ล้านบาท และ กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เทียมเสนอราคาต่ำสุด 101,000 ล้านบาท การประกาศผลจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม แต่ผลอย่างไม่เป็นทางการ กลุ่ม BBS เสนอราคาชนะขาดลอยไปเลย

กลุ่ม BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพฯ เจ้าของสายการบิน บางกอกแอร์ ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮสดิ้ง เจ้าของ รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ คุณคีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 35% และ บมจ.ซิโน–ไทย บริษัทรับเหมาก่อสร้างของ ตระกูลชาญวีรกูล ของ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถือหุ้น 20% ถือเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพราะมีธุรกิจในเครือสนับสนุนโดยตรง

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. เปิดเผยหลังการเปิดซองราคากลุ่มสุดท้ายแล้วว่า จากนี้ไปคณะกรรมการคัดเลือกฯจะตรวจสอบ ข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา ของ 3 กลุ่มอย่างละเอียด เช่น สมมติฐานทางการเงินเพื่อให้ผลตอบแทนแก่รัฐดีที่สุด คาดว่าจะประกาศผลได้ในเดือนมีนาคม ซึ่ง พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ รองปลัดบัญชีทหารเรือเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดเผยว่า จะไม่มีการประกาศราคาที่เป็นทางการแต่จะประกาศผลการคัดเลือกเลย หลังจากที่ ครม.อนุมัติแล้ว

การพิจารณา “ซองที่ 3” ด้านราคา เอกชนจะต้องเสนอส่วนแบ่งรายได้ ให้รัฐไม่ต่ำกว่า 5% และ จำนวนเงินขั้นต่ำของส่วนแบ่งรายได้แต่ละปี ซึ่ง ต้องไม่ต่ำกว่า 49,000 ล้านบาท เอกชนที่ยื่นซองเสนอราคา จะต้องแสดงแบบจำลองทางการเงินที่แสดงรายได้รวมแต่ละปีตลอดอายุโครงการ 50 ปี เพื่อประกอบการพิจารณา ตอนนี้ กลุ่มบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด คิดเป็นมูลค่าในอีก 50 ปีข้างหน้าเท่ากับ 1.3 ล้านล้านบาท

...

เท่าที่ผมดูจากแผนพัฒนา สนามบินอู่ตะเภา และ เมืองการบินอู่ตะเภา พื้นที่รวม 6,500 ไร่ ถ้าหากมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ผลตอบแทน 1.3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปีข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะส่วนที่เอกชนต้องลงทุนตามเงื่อนไข ล้วนเป็นส่วนที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำทั้งสิ้น

เช่น อาคารผู้โดยสาร 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน สิทธิการขายสินค้าปลอดภาษี 50 ปี ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน มีทั้ง เขตการค้าเสรี ศูนย์โลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงทั้งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ศูนย์ธุรกิจการค้าหรือเมืองสนามบิน ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ศูนย์ฝึกอบรมทางการบิน ที่สำคัญก็คือจะมี Medical Cluster เมืองอุตสาหกรรมการแพทย์และการรักษาพยาบาล โดยมี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของ เครือซีพี เป็นระบบขนส่งหลักที่สะดวกรวดเร็วที่สุด ลงจากเครื่องบินก็เดินไปขึ้นรถไฟความเร็วสูงได้เลย

แม้ โครงการสนามบินอู่ตะเภา จะล่าช้ากว่าแผนเดิมไปหลายปี จากเดิมที่กำหนดเสร็จในปี 2566 แต่ กองทัพเรือยังไม่สามารถสร้างรันเวย์ที่ 2 ได้ ยังติดปัญหารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี 6 เดือน คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่รันเวย์ 2 ได้ในปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้างอีก 6 ปีตามแบบราชการ กว่าจะได้ใช้สนามบินอู่ตะเภาใหม่คงต้องรอไปถึงปี 2570โน่น

ปัญหาใหญ่ที่ภาคเอกชน ต้องเจรจากับ กองทัพเรือ ก็คือ ให้สามารถเปิดบริการได้ทีละเฟสเมื่อสร้างเสร็จ เหมือน รถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงหมอชิต-คูคต สร้างเสร็จสถานีไหนก็เปิดให้บริการสถานีนั้น ไม่ต้องรอสร้างเสร็จทั้งโครงการเหมือน รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สร้างกันสิบสี่ชั่วโคตรจนรางและสถานีขึ้นสนิมหมดแล้วยังปิดใช้ไม่ได้ ต้องรอเสร็จทั้งโครงการ

ผมก็หวังว่า สนามบินใหม่อู่ตะเภา และ รถไฟความเร็วสูง จะสร้างเสร็จพร้อมกันในอีก 6 ปีข้างหน้า ไม่งั้นคงเหงาทั้งคู่ ลงทุนกับราชการไทยก็เป็นแบบนี้แหละ ต้องปลง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”