ครม.เห็นชอบเมื่อวันอังคารให้ตั้ง กองทุนรวมเพื่อการออม Super Saving Fund (SSF) ขึ้นมาแทน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่กำลังจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ตามที่ กระทรวงการคลัง เสนอ เงินลงทุนในกองทุน SSF นำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนการออมแห่งชาติ เบี้ยประกันภัย ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกินปีละ 500,000 บาท จากเดิมที่ลดหย่อนได้ปีละ 1 ล้านบาท
ทำให้ สิทธิการออมเพื่อลดหย่อนภาษีลดลงจากเดิมเกิน 50% เมื่อรวมการออมอย่างอื่นเข้าไปด้วย โดยเฉพาะ LTF หายไปทั้งก้อน 5 แสนบาท
คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ให้ความเห็นว่า กองทุน SSF ที่ออกมานั้น ชนชั้นกลางรายได้สูงจะไม่ได้ประโยชน์ แต่ชนชั้นกลางรายได้ปานกลาง และชนชั้นกลางรายได้ต่ำ จะได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 15% ที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน LTF เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นปีละ 50,000–60,000 ล้านบาท แต่ปีนี้เม็ดเงินจากกองทุน LTF เข้ามาน้อยมาก คนเริ่มกังวล กลัวจะขาดทุน เมื่อไม่มีกองทุน LTF ภาวะตลาดหุ้นไทยปี 2563 ก็คาดว่าจะซบเซาลง แต่ยังไม่ใช่ตลาดหมี
ทุกวันนี้ตลาดหุ้นไทยก็ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ถ้าหากปีหน้าไม่มีเม็ดเงินจากกองทุนใหม่เข้าไปลงทุน ตลาดหุ้นไทยคงซบเซากว่านี้แน่นอน
รัฐบาลอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า การลดหย่อนภาษี LTF 500,000 บาท ลดหย่อนภาษี RMF อีก 500,000 บาท รวมเป็น 1 ล้านบาท มีแต่คนรวยได้ประโยชน์ แต่ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดของผู้ลงทุน ผมคิดว่า ผู้ลงทุนในกองทุน LTF/RMF ส่วนใหญ่จะเป็น “มนุษย์เงินเดือน” มากกว่า เศรษฐี และ มหาเศรษฐีไทย ซื้อกระเป๋าแอร์เมสใบเดียวก็มากกว่าค่าลดหย่อนทั้งปีแล้ว ผมจึงเชื่อว่า ผู้ลงทุนในกองทุน LTF/RMF ส่วนใหญ่จะเป็นมนุษย์เงินเดือนมากกว่า
...
เรื่องนี้ผมคิดว่า กรมสรรพากร รู้ดีที่สุด ผู้เสียภาษีเงินได้รายใหญ่ มีใครบ้าง อยากให้ลองเปิดเผยชื่อออกมาดูว่า มหาเศรษฐีไทยที่ร่ำรวยติดอันดับโลกมากมาย แต่ละท่านเสียภาษีเงินได้เท่าไหร่เมื่อเทียบกับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สูง ซึ่งต้องเสียภาษีขั้นสูงสุดถึง 35% ของเงินได้หลังจากที่หักลดหย่อนแล้ว
ทุกวันนี้ ระบบภาษีเงินได้ไทยไม่เป็นธรรม ทำให้เศรษฐีเสียภาษีกันน้อยมาก ช่วงเลือกตั้งผมจึงเห็นด้วยกับ พรรคพลังประชารัฐ ที่หาเสียงว่า จะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่รอจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้
เหตุผลที่ผมเห็นว่า ระบบภาษีเงินได้ไทยไม่เป็นธรรม เพราะ ตอนที่รัฐบาลลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาเหลือ 20% รัฐบาลไม่ได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมาให้ใกล้เคียงกันด้วย ทำให้ บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ 2–5 ล้านบาท เสียภาษีเงินได้ 30% รายได้ 5 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 35% แต่ บริษัทยักษ์ใหญ่มีกำไรเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท กลับเสียภาษีเงินได้แค่ 20% ดังนั้น เศรษฐี มหาเศรษฐีไทยที่ติดอันดับโลก จึงเลิกรับเงินเดือนหรือรับน้อยๆ แล้วหันมาใช้เงินของบริษัทแทน ทำให้เสียภาษีกันน้อยมาก หรือไม่เสียภาษีเลย เทียบกับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเสียภาษีกันทุกบาททุกสตางค์
ความจริงรัฐบาลต้องเอาใจ “ชนชั้นกลาง” ให้มากด้วยซ้ำ ทุกประเทศถือเป็น “สมบัติล้ำค่าของชาติ” เพราะเป็นทั้ง ผู้เสียภาษีมากที่สุด เก็บออมมากที่สุด จับจ่ายใช้สอยมากที่สุด และ ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักความยากจน อีกด้วย
ผมหวังว่ารัฐบาลจะนำไป คิดทบทวนใหม่อีกครั้ง เพื่อช่วยให้คนไทย “รวยก่อนแก่” อย่าให้ “แก่ก่อนรวย” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อีกเลย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”