ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนของคนไทยอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สภาพัฒน์ไปจนถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยเฉพาะผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นข่าวใหญ่อยู่หลายวัน
สภาพัฒน์ซึ่งเกาะติดเรื่องหนี้ครัวเรือนของคนไทยมาโดยตลอด รายงานไว้ในเอกสาร “ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 พ.ศ.2562” ว่า หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน
ดูเหมือนดีเมื่อเทียบระหว่างไตรมาส 2 กับไตรมาสแรก แต่ในภาพรวมเมื่อนำยอดหนี้ไปเทียบกับจีดีพีของประเทศก็ยังสูงอยู่ที่ร้อยละ 78.7 เท่ากับไตรมาสที่แล้ว
ในขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแถลงว่า ลงไปสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,201 ราย ระหว่าง 11-23 พ.ย.ที่ผ่านมาพบว่า 88.1 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างในการสำรวจระบุว่ามีหนี้สิน
เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดผู้อยู่ในข่ายสำรวจระบุว่า มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 340,054 บาทต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากปีก่อนที่เฉลี่ยประมาณ 316,624 บาท
สาเหตุของหนี้สินมากสุดคือใช้จ่ายทั่วไป อันดับ 2 คือซื้อยานพาหนะ และอันดับสามคือซื้อบ้าน
สำหรับอายุเฉลี่ยของผู้เป็นหนี้สิน มหาวิทยาลัยหอการค้า พบว่า กลุ่มเจเนอเรชันวาย หรือเจน Y (เกิดระหว่าง พ.ศ.2523-2540) มีอัตราการก่อหนี้สูงสุด และระบุด้วยว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของคนไทย ที่อยู่ราวๆ 78 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีนั้นติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
กล่าวกันว่า อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่น่าห่วงก็คือ ร้อยละ 80 ซึ่งของเรามาที่ 78 กว่าๆ ก็ถือว่าฉิวเฉียดเต็มทีแล้ว
สรุปแล้วรายงานทั้ง 2 ฉบับนี้ ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ยังเป็นปัญหาที่ต้องระมัดระวัง และจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปจะบั่นทอนกำลังซื้อในอนาคต
...
ประเด็นที่รายงานทั้ง 2 ฉบับ มีข้อมูลที่สอดคล้องกันก็คือ ประชากรกลุ่มเจเนอเรชันวาย (Y) หรือกลุ่มอายุ 22-39 ปี เป็นกลุ่มที่มีหนี้สูงสุด
โดยเฉพาะของสภาพัฒน์ ศึกษาข้อมูลละเอียดสำหรับกลุ่มนี้แล้วพบว่า อายุระหว่าง 22-28 จะมีมูลค่าหนี้รถยนต์สูงสุดถึงร้อยละ 41 ส่วนอายุ 30-38 ปี เป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 45.8
สภาพัฒน์ระบุด้วยว่า กลุ่มอายุดังกล่าวนอกจากจะมีหนี้บุคคลสูงสุดแล้วก็ยังเป็นกลุ่มที่มี “หนี้เสีย” สูงสุดอีกด้วย
ผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่คัดลอกตัวเลขมาลงยุบยิบไปหน่อย (จากของจริงที่เขามีมากกว่านี้) เพราะถ้าไม่คัดมาเสียเลยก็จะมองไม่เห็นภาพว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลใจของสังคมไทย
แถมที่น่ากังวลมากขึ้นไปอีกก็คือ กลุ่มอายุที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกันก็คือ กลุ่ม “เจนวาย” ดังที่ยกตัวอย่างมาให้อ่านกันในวันนี้
คนเหล่านี้คือ “พลัง” ของประเทศชาติ ถ้าคนกลุ่มนี้เป็นหนี้มากๆ แถมหนี้เสียก็มากด้วย จะเอาพลังที่ไหนไปพัฒนาชาติได้ล่ะ
ข้อสังเกตของสภาพัฒน์อีกข้อก็คือ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันเป็นผลจาก พฤติกรรม ทั้งผู้ ปล่อยกู้ และ ผู้กู้ ควบคู่กัน
ผู้ ปล่อยกู้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างๆมักแข่งกันทำตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต และตลาดสินเชื่อรถยนต์นำไปสู่การเสาะหาผู้กู้ในกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่ด้อยลงเรื่อยๆ
ส่วนพฤติกรรมของ ผู้กู้ นั้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายที่มักต้องการความสะดวกสบาย อยากได้ของใช้ทันสมัยที่คนรุ่นใหม่ “ต้องมี” เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือไปจนถึงการเข้าอาศัยในคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ ฯลฯ เป็นเหตุให้เป็นกลุ่มที่สร้างหนี้สูงสุด
ก็ขออนุญาตเขียนเตือนตามประสาคนแก่ที่ผ่านโลก และผ่านโรคมาพอสมควรว่า...ต้องพยายามลดความอยากทั้งหลายแหล่ลงให้ได้ อย่าใช้จ่ายเกินตัว และอย่าสร้างหนี้เร็วเกินไปนักลูกหลานเอ๊ย ยิ่งฟังเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้เป็นหนี้เร็วตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มๆสาวๆก็ชักใจหาย
ความไม่เป็นโรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด ความไม่เป็นหนี้ล้นพ้นตัวก็เป็นมงคลแก่ชีวิตของลูกๆหลานๆฉันนั้น...ขอให้โชคดีมีชัยเอาตัวรอดจากวิกฤติหนี้ครัวเรือนให้ได้นะครับ ลูกๆหลานๆ
ชาว “เจนวาย” ทั้งหลาย อย่าให้ “วาย” (ภาษาไทย) ไปซะก่อนละกัน.
“ซูม”