วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่ช้ามาหลายเดือนเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร โดยให้เวลาอภิปราย 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 18.00 น. วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม กำหนดเวลาอภิปราย 35 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีชี้แจงภาพรวมงบประมาณ 2 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลอภิปราย 15 ชั่วโมง ฝ่ายค้านอภิปราย 15 ชั่วโมง ให้เวลาประท้วง 3 ชั่วโมง ผ่านวาระแรกตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติ 63 คน เกจิการเมืองเล่าว่า ขั้นแปรญัตตินี่แหละ จะเป็นช่องทางนำไปสู่ การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ได้อย่างสะดวกโยธิน

งานนี้ไม่ต้องลุ้น ส.ส.ยกมือผ่านฉลุย งูเห่าถูกทยอยรีดพิษออกหมดแล้ว

งบประมาณปี 63 มีวงเงินเพิ่มจากปีที่แล้ว 200,000 ล้านบาท ยังเป็น “งบขาดดุล” รายได้ไม่พอรายจ่าย รัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่ม 469,000 ล้านบาท งบที่ถูกจับตามากที่สุดคือ งบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 428,219.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.4% ของงบประมาณ และ งบกระทรวงกลาโหม 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,226.8 ล้านบาท 3 เหล่าทัพได้รับงบเพิ่มขึ้นทุกกองทัพ กองทัพบกได้เพิ่ม 2.3 พันล้านบาท เป็น 113,677.4 ล้านบาท กองทัพเรือได้เพิ่ม 1.8 พันล้านบาท เป็น 47,277.9 ล้านบาท กองทัพอากาศได้เพิ่ม 1.2 พันล้านบาท เป็น 42,882.8 ล้านบาท ทุกกองทัพได้งบเพิ่มแฮปปี้กันถ้วนหน้า

งบที่น่าสนใจอีกก้อนคือ “งบยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ” ที่กระจายอยู่ใน 3 เหล่าทัพ สำนักงานปลัดฯ และ กองบัญชาการทหารสูงสุด มีงบรวมกันสูงถึง 87,270 กว่าล้านบาท

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. ปฏิวัติยึดอำนาจปี 2557 งบกลาโหมเพิ่มขึ้นทุกปี จากวงเงิน 183,820 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มเป็น 227,126 ล้านบาทในปี 2562 และเพิ่มเป็น 233,253 ล้านบาทในปี 2563 ส่วนใหญ่ก็นำไปซื้ออาวุธ เช่น เรือดำน้ำ รถถัง รถหุ้มเกราะ แถมยังสร้าง “งบผูกพัน” ไปในอนาคตอีกหลายปี

...

(วันชาติจีน 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมเห็นกองทัพจีนแสดงแสนยานุภาพ “กองทัพโดรน” ทั้ง โดรนบนฟ้า โดรนใต้น้ำ แล้ว ก็คิดถึง เรือดำน้ำ 2 ลำ หลายหมื่นล้านบาท ที่ กองทัพเรือสั่งซื้อจากจีน จะส่งมอบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถึงเวลานั้นคงเป็น อาวุธโบราณ ไปแล้ว โลกอนาคตเขาสู้กันด้วย “โดรนใต้น้ำ” การสงครามก็เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม)

ผมเคยอ่านบทความของ คุณสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาล คสช. ท่านได้แสดงความห่วงใยถึงงบอีกก้อนหนึ่งที่ถูกซ่อนเร้นไว้ นั่นก็คือ วงเงินค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ เช่น หนี้เงินกู้ของ องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) ปี 60 มียอดหนี้ 102,000 ล้านบาท ปี 63 รัฐบาลอาจต้องค้ำหนี้เพิ่มเป็น 300,000 ล้านบาท การรถไฟฯ ก็มีหนี้ไม่น้อยกว่า 230,000 ล้านบาท ขสมก. ก็มีหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท อีกปีสองปีข้างหน้า 3 รัฐวิสาหกิจนี้จะมีหนี้ที่รัฐบาลต้องค้ำประกันไม่ต่ำกว่า 700,000 ล้านบาท เผลอๆอาจต้องค้ำประกันมากกว่านี้ก็ได้

ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับ “หนี้ขาดดุลงบประมาณ” ที่รัฐบาลต้องกู้มาใช้จ่ายทุกปี ไม่ต้องย้อนหลังไปไกล เอาแค่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตั้งแต่สมัย คสช.จนถึงปัจจุบัน งบปี 58 ขาดดุล 250,000 ล้านบาท งบปี 59 ขาดดุล 390,000 ล้านบาท งบปี 60 ขาดดุล 552,000 ล้านบาท งบปี 61 ขาดดุล 550,000 ล้านบาท งบปี 62 ขาดดุล 450,000 ล้านบาท งบปี 63 จะขาดดุลอีก 469,000 ล้านบาท เบ็ดเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 6 ปี รัฐบาลกู้เงินมาใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 2.65 ล้านล้านบาท งบปี 64 ถ้ากู้เพิ่มเท่าปัจจุบันก็เกือบเท่างบประมาณรายจ่ายพอดี ถ้าอยู่ครบเทอม 4 ปี ไม่รู้ต้องกู้มาใช้จ่ายอีกเท่าไหร่

น่าเป็นห่วงนะครับ รัฐบาลใช้เงินเพิ่ม แต่เศรษฐกิจประชาชนกลับแย่ลง

เป็นเรื่องที่ คนไทยผู้เสียภาษีต้องให้ความสนใจ หนี้สินเหล่านี้ ท่านและลูกหลานต้องเป็นผู้ใช้หนี้ทุกบาททุกสตางค์ในอนาคต โปรดจำไว้ให้ดี.

“ลม เปลี่ยนทิศ”