บ่ายวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัล ผู้ประกอบการส่งออกดีเด่น Prime Minister’ s Export Awards 2019 ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางวิกฤติการส่งออกไทยที่ติดลบ มอบรางวัลเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขึ้นกล่าวว่า

วันนี้เราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่าง มีหลายคนพูดให้เกิดความสับสนอลหม่าน ซึ่งรัฐบาลทราบดีว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และจะแก้ไขอย่างไร How to do รัฐบาลต้องแก้ไขต่อไปในระยะยาว

นายกฯกล่าวอีกว่า ประเทศไทยติดปัญหาเรื่องความเข้าใจอะไรที่ดีขึ้นและอะไรที่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป วันนี้ดีใจได้เจอผู้ประกอบการ ได้สอบถามว่ายังมีกำไรอยู่หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ยังมีกำไร ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ดีขึ้น ขอให้กำลังใจทุกท่าน

ผมอ่านข่าวแล้วก็แปลกใจ ไม่รู้นายกฯมีความเข้าใจแค่ไหนกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้น และวิกฤติการส่งออกไทยที่ติดลบ แม้การส่งออกในเดือนกรกฎาคมจะกลับมาเป็นบวก แต่ คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ถ้าหักทองคำ (ที่ขยายตัว 407%) ออกไป การส่งออกในเดือนกรกฎาคมจะติดลบ 0.4% ส่งผลให้การส่งออกไทย 7 เดือนแรกยังติดลบอยู่

คุณดอน ยอมรับว่า แบงก์ชาติเคยประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกถดถอยมีค่อนข้างน้อย แต่ขณะนี้ยอมรับว่า ความเสี่ยงมีสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และขยายตัวต่อเนื่องมานานที่สุดเท่าที่เคยมีมา เริ่มเข้าสู่การชะลอตัว รวมทั้งความตึงเครียดจาก สงครามการค้า ที่ขยายวงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

คุณดอน ยอมรับว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หากดูตลาดโลก ถือว่าเป็นขาลงชัดเจน ขึ้นกับว่าประเทศไหนลงมากกว่ากัน ดอกเบี้ยนโยบายไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% เป็นระดับ เกือบจะต่ำที่สุดในโลก หาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยอีกลงมาอยู่ที่ 1.25% จะเป็นอันตรายต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของดอกเบี้ยไทย ดอกเบี้ยไทยเคยอยู่ในระดับ 1.25% มาแล้วในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์)

...

คุณวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ก็ออกมาเตือนในทิศทางเดียวกันว่า ภาวะ Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2 ปี สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ” มีมากขึ้น และอาจอยู่ไม่ไกล ขณะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อลดความเสี่ยงนี้ แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นในครั้งนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอยไม่แรง แต่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกซึมนาน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้ถดถอยประเทศเดียว ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จีดีพีเยอรมนี พี่ใหญ่สหภาพยุโรป ก็ติดลบไปแล้ว 0.1% ถ้าหาก ไตรมาส 3 ติดลบอีกก็เข้าขั้นเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ส่วน อิตาลี ไม่มีการขยายตัวเลย ฝรั่งเศส ขยายตัวแค่ 0.2% ขณะที่ เศรษฐกิจจีน และ ประเทศอื่นๆ ต่างก็ อ่อนแอกันทั่วหน้า

ที่สำคัญก็คือ ประเทศสำคัญเหล่านี้ ต่างก็ “กระสุนหมด” เกลี้ยงคลังไปแล้ว คือ มีหนี้สาธารณะสูง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับติดลบหรือใกล้ 0 กันทั้งนั้น หาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ยุโรป ถดถอยพร้อมกัน เศรษฐกิจโลกเหนื่อยแน่นอน

ก็เอามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบทุกประเทศทุกคน อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าใจด้วยว่า การดูวิกฤติเศรษฐกิจโลก เขาดูอะไรบ้าง ไม่ใช่ตัวเองไม่เข้าใจแล้วไปว่าคนอื่นไม่เข้าใจ พูดให้สับสน ส่วน กำไรบริษัทส่งออกที่ได้รับรางวัล เป็นคนละเรื่องกับวิกฤติโลกที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”