ก็ความที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่เชื่อกันว่ารักษาพระธรรมวินัย และขนบธรรมเนียมสมัยพุทธกาลไว้ทุกอย่าง ผมจึงเชื่อไปตามที่พระเทศน์ เราคงใช้ พ.ศ. หรือ พุทธศักราชกันมา นับปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

แต่ความจริง ไม่ใช่...เราเพิ่งใช้ พ.ศ.กันเต็มที่เมื่อร้อยกว่าปีนี่เอง

ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เขียนไว้ในหนังสือ “วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช” (ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จำหน่ายพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2553) ว่า

ปีศักราชกลียุค 8645 พระเจ้าอัญชนะทรงตั้งอัญชนศักราชจนถึงปี 148 ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระเจ้าอชาติศัตรูกับพระมหาเถรกัสสปได้ยกเลิก หรือ “ตัด” อัญชนศักราช ตั้งพุทธศักราชขึ้น

พุทธศักราชใช้กันแพร่หลายในจารึกพม่า ไทย ลาว กัมพูชา แต่มักใช้เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวการพระศาสนา แต่ถ้าเป็นเรื่องฝ่ายอาณาจักร ก็จะใช้มหาศักราช หรือจุลศักราช

พุทธศักราชมีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง “ปัญจอันตรธาน” ที่ว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ต่อไปเพียง 5,000 ปี หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน วันเพ็ญเดือน 6

เพราะฉะนั้นจึงเริ่มต้นปีพุทธศักราชที่ 1 ในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6

หลักฐานเอกสารชี้ว่า ในสมัยโบราณไทยยังนับพุทธศักราช สอดคล้องกับประเทศที่นับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทอื่นๆ คือยึดตามลังกา แต่ภายหลังพุทธศักราชของไทยเป็นกรณีเฉพาะ คือช้ากว่าลังกา พม่า เขมรอยู่ 1 ปี

เช่นปี พ.ศ.ไทย 2545 แต่ลังกา พม่า เขมร ถือเป็น พ.ศ.2546 เพราะใช้เกณฑ์ เอา 544 ลบพุทธศักราชเป็นปีคริสต์ศักราช ส่วนไทยใช้ 543 เป็นจำนวนลบพุทธศักราชเป็นปีคริสต์ศักราช

ความแตกต่างนี้มาจากวิธีนับ ลังกานับปีย่าง ขณะที่ไทยนับปีเต็ม

...

ดร.วินัยบอกว่า มีข้อเท็จจริงจากการขุดค้นด้านโบราณคดี และจารึกศึกษา ว่าพระพุทธโคดม ปรินิพพานเมื่อ 483 ปี ก่อนคริสตกาล

ขณะที่ชาวพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบคติความเชื่อจากผู้เขียนคำอธิบายคัมภีร์ของลังกาว่าพระพุทธองค์ปรินิพพาน เมื่อ 543 ปี ก่อนคริสตกาล

คลาดเคลื่อนไป 1 รอบพฤหัสบดีจักร

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เชื่อว่า ความคลาดเคลื่อน 60 ปีของพุทธศักราช เริ่มมาจากรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราช อันเป็นผลมาจากการนับพฤหัสบดีจักรผิดไปหนึ่งวัฏจักร

โดยอำนาจการเมือง คติความเชื่อ พระพุทธศักราช ควรเป็นศักราชหลัก และสำคัญกว่าจุลศักราช เพราะเป็นเครื่องค้ำจุนพุทธศาสนานั้น ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ใช้พุทธศักราชเป็นศักราชประจำชาติ แทนรัตนโกสินทร์ศก

เหตุผลก็คือ พุทธศักราชช่วยเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้

นับแต่นั้น ประเทศไทยก็ใช้พุทธศักราชเรื่อยมา...แม้มีข้อมูลใหม่...ว่ามีการนับรอบพฤหัสบดีจักรผิดไป 60 ปี แต่ก็ยังยินยอมพร้อมใจใช้กันอยู่

มนุษยชาติอยู่ร่วมกันโดยสันติเป็นคณะใหญ่ ก็มีความเชื่อร่วมกันนี่แหละ

ความเชื่อที่ว่านี้ ทำเรื่องผิดให้เป็นถูก และทำเรื่องถูกให้เป็นผิด เพราะความผิดความถูกนั้นเป็นนามธรรมในใจ สร้างขึ้นได้เปลี่ยนแปลงได้

ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อว่า นายกฯต้องมาจากเลือกตั้ง เวลาเปลี่ยนไป ก็พร้อมใจกันว่า นายกฯทหารเลือกมาตั้งก็ใช้ได้ คนไทยเคยเชื่อเคยใช้มาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักหรอก.

กิเลน ประลองเชิง