เมื่อวานนี้ผมเขียนตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ 1 รัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่แก้ปัญหาภัยแล้งล่าช้าจนเข้าขั้นวิกฤติ วันวาน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้ทำเฉพาะตอนที่มีปัญหา ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาของเราเกิดจากอะไร ประเทศเรามีน้ำมาจากฝน มีการกักเก็บน้ำไว้ทั้งในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีการเก็บน้ำไว้ในอ่างน้ำในพื้นที่ แต่ปัญหาที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยเกินไป เนื่องจากฝนทิ้งช่วง สาเหตุเกิดจากสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง เราจึงต้องระมัดระวังให้มาก
สรุปก็คือ นายกฯโทษฝนที่ตกลงมาน้อยเกินไปทำให้เกิดภัยแล้ง พูดอีกก็ถูกอีก
นายกฯกล่าวต่อว่า วันนี้มีปัญหามากที่สุดก็เรื่องการเกษตร ต้องมาดูว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร กลับมาดูกระบวนการว่าจะแก้อย่างไร ต้องทำให้การเพาะปลูก สอดคล้องกับน้ำที่มีอยู่ ต้องมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่จะแก้ปัญหาได้ วันนี้เราแก้ปัญหาได้ในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค การประปา ทุกหน่วยพยายามทำเต็มที่ แต่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ก็คือ เราจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
เป็น “คำถามที่ดีมาก” ผมอยากให้นายกฯถามตัวเองบ่อยๆ เพื่อตอกย้ำ อยากให้ถาม ครม.ทุกคนทุกครั้งที่ประชุม ครม. “บ้านเมืองของเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป” ท่ามกลางปัญหามากมาย ปัญหาส่วนใหญ่ก็มาจาก “การทุจริตคอร์รัปชัน” เป็นต้นเหตุทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ “ภัยแล้ง” ถ้าไม่เชื่อผมอยากให้นายกฯเรียก “โครงการแก้ภัยแล้งทุกโครงการ” มาดูได้
เมื่อวานนี้ผมได้อ้างอิงข้อมูล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า ภัยแล้งปีนี้ถือเป็นภัยแล้งนอกฤดูกาล เพราะ “แล้งในหน้าฝน” และแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก “ข้าวนาปี” พอดี ซึ่งข้าวนาปีส่วนใหญ่จะปลูกในภาคอีสาน มีผลผลิตมากถึงร้อยละ 46.4 ของข้าวนาปีที่ปลูกได้ทั้งประเทศ แต่ พื้นที่ปลูกข้าวนาปีร้อยละ 90 กลับอยู่นอกเขตชลประทาน จึงต้องพึ่ง
ฝนฟ้าเป็นหลัก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องแก้ปัญหาให้เกษตรกร
...
พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกรัฐมนตรี ใน รัฐบาล คสช. มานานถึง 5 ปี ย่อมรู้ปัญหานี้ดี ผมจึงได้ถามท่านว่า ปล่อยให้ปัญหาภัยแล้งมานานขนาดนี้ได้อย่างไร แต่ท่านกลับไปโทษฝนที่ตกน้อยเกินไป 5 ปีของรัฐบาล คสช. ทำไมระบอบชลประทานในภาคอีสานจึงไม่เพิ่มขึ้นเลย
ผมลองไปค้นข่าวสมัย รัฐบาล คสช. ท่านนายกฯได้แก้ปัญหาภัยแล้งอย่างไรบ้าง ก็พบว่า การประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ได้อนุมัติงบประมาณตามยุทธศาสตร์การบริการจัดการทรัพยากรนํ้า 10 ปี 2560-2569 ของภาคอีสาน มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีเกษตรฯ สมัยนั้นเป็นประธาน วงเงิน 95,532 ล้านบาท ใน 8 พื้นที่ภาคอีสาน โดยมุ่งพัฒนาแม่นํ้าโขง ชี มูล ซึ่งก็คือ โครงการผันนํ้าโขง-ชี-มูล ที่เป็นมหากาพย์ของชาวอีสานมานานถึง 30 ปีนั่นเอง
ก่อนหน้านั้น ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ) เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะฟื้น “โครงการบริหารจัดการนํ้าโขง-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง” กลับมาอีกครั้ง โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อย มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
แต่รายงานผลการศึกษาเรื่อง “โครงการโขง-ชี-มูล” ของ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2552 ที่ คุณสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการ ครม. สมัยนั้นได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงที่เกี่ยวข้องทราบ ระบุว่า “รัฐบาลควรยกเลิกระบบผันนํ้าตามแผนของ “โครงการโขง-ชี-มูล” เดิม เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมินิเวศฯของภาคอีสาน ไม่สามารถกระจายนํ้าเพื่อการเกษตรได้ ซ้ำก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาเศรษฐกิจ และสร้างภาระงบประมาณต้องตามแก้ไขมากว่า 13 ปี”
ผมก็เอามา เล่าให้นายกฯฟัง ครับ ไม่อยากเห็นรัฐบาลทำผิดซํ้าซากอีก.
“ลม เปลี่ยนทิศ”