แม้คณะกรรมาธิการฯจะยอมถอย ตัดทิ้งไปหลายมาตรา แต่เครือข่ายกลุ่มชาวนาหลายจังหวัดก็ยังดาหน้าออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว ทั้งที่ขอนแก่น พิจิตร ชัยนาท ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ เพราะเป็นห่วงว่าอาจทำให้ชาวนาไม่สามารถเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวได้ อาจมีการผูกขาดโดยทุนใหญ่ เพียงไม่กี่ราย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างจากสภา

ร่าง พ.ร.บ.ข้าวผ่านความเห็นชอบ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 และจะพิจารณาลงมติวาระสุดท้าย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเป็นร่างของ สนช.ที่เสนอมายังรัฐบาล และรัฐบาลมุ่งหวังที่จะดูแลเกษตรกร แต่จำเป็นต้องมีกระบวนการ แต่มีการเผยแพร่ข้อความที่ไม่ใช่กฎหมายตัวจริง ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันไปหมด

น่าสังเกตว่ามีกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวกับเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือโรงสีต่างคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แสดงความเห็นว่าการตรากฎหมายข้าวเป็นเหตุผลที่ดี ต้องการแก้ปัญหาชาวนา แต่กลับเน้นการใช้อำนาจกรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว

ดร.นิพนธ์วิจารณ์ว่า เมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับ การซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าวจะผิดกฎหมายทันที เพราะกรมการข้าวยังไม่ได้รับรองเมล็ดพันธุ์ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการค้าขายของประชาชนอย่างร้ายแรง ขณะที่อัยการท่านหนึ่งพูดถึง ม.3 ที่ห้าม “จำหน่าย” พันธุ์ข้าวที่มีคำจำกัดความไม่ชัดเจน ถ้าชาวนาขายพันธุ์ข้าว จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน เข้าข่ายหรือไม่

มีเสียงวิจารณ์ด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไม่มีบทบัญญัติส่งเสริมและพัฒนา ให้อาชีพชาวนามั่นคง หรือสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ยึดอาชีพทำนา และคณะกรรมการข้าวก็ประกอบด้วยภาคราชการถึง 20 คน ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน แต่มีตัวแทนชาวนาเพียง 5 คน นับเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก สำหรับองค์กรที่จะต้องดูแลชาวนา 18 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพใหญ่

...

เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มชาวนาและกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทำให้น่าสงสัยว่าก่อนที่ สนช.จะตรากฎหมายฉบับนี้ ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยครบถ้วนหรือไม่ นั่นก็คือจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องคือชาวนา รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้าน และเปิดเผยต่อประชาชน แต่ไม่ใช่แค่เป็นพิธีกรรม

น่าสงสัยด้วยว่าทำไม สนช.และรัฐบาลจะต้องเร่งรัดออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อชาวนาและคนไทยทั้งประเทศ ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ในช่วงนี้รัฐบาลและ สนช.ไม่น่าคิดออกกฎหมายสำคัญๆ ให้รัฐบาลใหม่และรัฐสภาใหม่ ซึ่งมี ส.ส. 500 คน เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง และเข้าใจเข้าถึงปัญหาชาวนาเป็นผู้พิจารณาดีกว่า.