ในฤดูกาลการเลือกตั้ง การถกเถียงเรื่องการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ไปประชุม ครม.สัญจรที่เชียงราย เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงเพลงต่อต้านเผด็จการ “ประเทศกูมี” ว่าเป็นเผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าเผด็จการผมไม่ต้องมาแบบนี้ ถ้าเผด็จการนั่งสั่งอย่างเดียว และหาประโยชน์เท่านั้น แต่ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น

คำพูดของนายกรัฐมนตรีเป็นการเปิดประเด็นสู่การถกเถียงว่า เผด็จการคืออะไร? เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าประชาธิปไตยคืออะไร? เผด็จการในโลกนี้อาจมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่อนถึงระดับแรง แต่ถึงขั้น “นั่งสั่งอย่างเดียวและหาประโยชน์” อาจไม่ใช่เผด็จการธรรมดา แต่อาจเข้าขั้น “ทรราช” ที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างว่า “ข้าคือรัฐ ข้าคือกฎหมาย”

มองเตสกิเออ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 กล่าวว่า ระบอบทรราชคือการปกครองของคนคนเดียวโดยไม่ต้องมีกฎหมาย เพราะคำสั่งของผู้มีอำนาจคือกฎหมาย หลักการของระบอบนี้คือ “ความกลัว” เป้าหมายสำคัญคือ “ความสงบ” ทำให้คนกลัวอย่างจับจิตจับใจปกครองประชาชนเหมือนกับสัตว์ แต่ความสงบภายใต้ทรราช คือความสงบแห่งหลุมฝังศพที่วังเวง

แต่ระบอบเผด็จการธรรมดาๆ ได้แก่การปกครองโดยคนคนเดียว หรือกลุ่มเดียวและออกคำสั่งเป็นกฎหมาย บังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนไร้เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น และไม่มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งเป็นอันตราย เพราะผู้มีอำนาจมักจะลุแก่อำนาจ จึงต้องใช้อำนาจยับยั้งอำนาจด้วยกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดเหลิงอำนาจ

ประเทศไทยหลังยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านระบอบการปกครองมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือระบอบเผด็จการ แต่เผด็จการไทยมักจะไม่สุดโต่ง ส่วนใหญ่ยังให้มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา แต่เป็นสภาตรายางที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญบางฉบับมีเพียงไม่กี่มาตรา แต่มีมาตราสำคัญที่ขาดไม่ได้

...

ในบางยุคบางสมัย มีธรรมนูญการปกครองประเทศชั่วคราว แต่ใช้ปกครองประเทศนับสิบๆปี มีมาตราสำคัญ เช่น ม.17 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรี อาจเปรียบเทียบได้กับ ม.44 ในยุค คสช. ตามประเพณีการปกครองแบบเผด็จการของไทย สิ่งหนึ่งซึ่งจะขาดไม่ได้ คือคำสั่งห้ามสื่อมวลชนและประชาชนแสดงความเห็นหลายเรื่อง

ผู้เผด็จการไทยบางคนเป็นคนน่ารัก ได้รับสมญานามจากหนังสือพิมพ์ว่า “ขวัญใจประชาชนบ้าง” เป็น “นายกฯคนซื่อ” บ้าง แต่ในบั้นปลายของชีวิต หนังสือพิมพ์เปลี่ยนสมญานามให้ใหม่เป็น “ทรราช” ก็มี เพราะตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินเงินทองร่ำรวยมหาศาล อันเป็นผลจากระบอบการปกครองที่ไม่มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ.