ผมกำลังรู้สึกว่าตอนนี้บ้านกับวัด ทำท่าจะขัดกัน พระพวกหนึ่งอยากเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งได้พระท่านอยากเลือกเพื่อไล่พรรคทหาร ปัญหาของชาวบ้าน จะเลือกหรือไม่เลือกพรรคทหาร

ขณะปัญหาชาววัด “ทางเลือก” ตอนนี้ พระจะจับเงิน หรือไม่จับเงิน

เรื่องของชาววัด คนรู้เรื่องวัดมีน้อย ปล่อยให้โยมไพบูลย์ ที่ยังไม่ผ่านหลักสูตร “บัณฑิต” ก็ “ทิด” พระสึกใหม่น่ะครับ เสียงดังอยู่คนเดียว คงไม่ไหว

ประเด็นพระควรจับเงินหรือไม่...ควรทำความเข้าใจขนบพระไทยไว้ก่อน

ตามพระวินัย พระจับเงิน (หรือทอง) เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (อาบัติเบา ปลงได้) อาบัติข้อนี้ อยู่ในพระปาติโมกข์ พระท่านสวดตรวจทานของท่านให้ถูกต้องครบถ้วน ทุกวันพระ 15 ค่ำ

พระไทย เดิมทีมีนิกายเดียว จนเมื่อรัชกาลที่ 4 ท่านตั้งนิกายธรรมยุต พระส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เข้าด้วย ก็ถูกเรียก “มหานิกาย” พระไทยจึงมีสองนิกายมานับแต่นั้น

พระสองนิกาย สวดปาติโมกข์ฉบับเดียวกัน แต่มีวัตรปฏิบัติ ตึงหย่อนกว่ากัน เช่น ธรรมยุตฉันกาแฟไม่ใส่นม ในเวลาวิกาล (หลังเที่ยง) มหานิกายฉันกาแฟใส่นม

ข้อที่กำลังถกกันวันนี้ พระธรรมยุตไม่จับเงิน มหานิกายจับเงิน

ญาติโยมคงเห็นเจนตา เวลาเอาซองใส่เงินถวายพระ ถ้าธรรมยุตก็ต้องเอาไปให้ลูกศิษย์รับแทน ถ้าพระมหานิกาย ท่านก็รับซองใส่ย่ามด้วยมือของท่านเลย

ย้อนไปอ่านพระวินัย พระไม่จับเงิน ตีความคำว่า “จับ” ไว้ แล้วเอาไปดูวิธีปฏิบัติของพระไทย พระธรรมยุตท่านไม่ “จับ” พระมหานิกาย “จับ”

พระสองนิกายมีนัยตรงกันคือท่าน “รับเงิน”

และเงินที่พระท่านรับ พระธรรมยุตเวลาจะใช้ ท่านก็ให้ลูกศิษย์ไปใช้ พระมหานิกาย ท่านมีเงินอยู่ในย่ามของท่านไว้แล้ว เวลาจะใช้ท่านก็ควักจากย่าม

...

บทสรุปข้อแรก “พระสองนิกายรับเงิน” นำไปสู่บทสรุปข้อที่สอง พระสองนิกาย ในวิถีความเป็นไปในโลกวันนี้ ต้องเดินทาง ต้องไปเรียนหนังสือ ไปกิจนิมนต์ บิณฑบาตไม่พอ ต้องซื้ออาหารมาฉัน ฯลฯ พระท่านจำเป็นต้องใช้เงิน

ยังไม่รวมเหตุปัจจัยอีกหลายประการ อย่าลืมพระท่านก็เป็นมนุษย์ มีญาติโยมที่ต้องดูแล สมัยพุทธกาล พระที่โยมแก่เฒ่าเลี้ยงตัวไม่ได้ พระท่านก็ไปรับมาดูแลในวัด

ในวินัยไม่มีบัญญัติ แต่ใน “ธรรมะ” เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าย้ำ “ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี”

ในความแตกต่างเรื่องวัตรปฏิบัติตึงหรือหย่อนกว่ากัน ข้อปฏิบัติของพระธรรมยุต เมื่อมีพระมหานิกายมาขออยู่ด้วย ก็ต้องเข้าโบสถ์ “บวชใหม่”

เรื่องนี้พระด้วยกันรู้แต่กับคฤหัสถ์ผู้ใหญ่ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ศรัทธาไปบวชพระถึงอินเดีย กลับมาไทยไปขอจำวัดอีกนิกาย ถูกนำเข้าโบสถ์บวชใหม่ ผู้ใหญ่ท่านนั้นออกอาการ “เหวอ” ไปเลย

ไม่คิดเลย พระห่มผ้าเหลืองเหมือนกัน แตกต่างกันถึงขั้นนี้

เด็กวัดเก่าอย่างผมขอวิจารณ์ พระที่ถือว่าเคร่งวินัย และใช้ความเคร่งนั้นมาชี้ว่า ดีกว่า บริสุทธิ์กว่า ก็พร่องด้านธรรม ข้ออติมานะ คือยกตนถือตัว

คุยมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มสงสัย ที่ตั้งประเด็นว่า บ้านกับวัด รัฐบาลกับสงฆ์ขัดกันนั้น อาจผิด เพราะความจริงกลับเป็น “พระกับพระ” ท่านทะเลาะกันเอง สองนิกายร้าวลึกบาดหมางกันมานาน

ถึงวันนี้ มีเค้าธรรมกาย “นิกายที่สาม” พระกับพระจะทะเลาะกันต่อไปอีกนานแค่ไหน เป็นปัญหาที่ญาติโยมจะเลือก “ใส่บาตร” ตามศรัทธา เลือกยกมือโมทนาสาธุๆกันเอง.

กิเลน ประลองเชิง