ใดๆ ก็ตามในโลกนี้ ล้วนมีคู่แข่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ หลังจากที่ Clubhouse โซเชียลมีเดียน้องใหม่ล่าสุดของวงการ ที่บุกเข้ามายึดหัวหาด ส่งผลให้คนในโลกออนไลน์ หันมามองและให้ความสนใจกับบริการนี้อย่างคับคั่ง
ทางฟากฝั่งทวิตเตอร์ (Twitter) ก็นั่งไม่ติดเก้าอี้ จำต้องรีบงัดเอาบริการของตัวเองที่มีชื่อว่า Spaces ซึ่งเคยมีการทดสอบในวงจำกัด ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา เพื่อเร่งออกให้บริการฟีเจอร์นี้โดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นกระแสทั้งหมดจะถูกเทกระจาดไปที่ Clubhouse แต่เพียงผู้เดียว
ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสทดลองการใช้งาน Twitter Spaces มาบ้างแล้ว ยอมรับว่าบางส่วนของ Twitter Spaces ก็มีความคล้ายคลึงกับ Clubhouse แต่บางส่วนที่ไม่เหมือนเลยก็มี เดี๋ยวเราค่อยๆ มาละเลียดกัน
เริ่มใช้งาน Twitter Spaces
Twitter Spaces เป็นบริการเสียง (Audio Chat Room) เวลานี้ใช้งานได้แล้วในระบบปฏิบัติการ iOS ส่วน Android สามารถกดเข้าไปร่วมคุยร่วมฟังได้
...
ก่อนอื่นการเข้าใช้ Twitter Spaces ต้องเริ่มจากการที่คุณจะต้องได้รับการเทียบเชิญ (Invitation) จากทวิตเตอร์เสียก่อน แต่กรณีที่คุณได้รับเทียบเชิญแล้ว ให้เปิดแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการของ Twitter แล้วเลือกไปที่ปุ่มสร้างข้อความ (Compose) ที่อยู่ด้านล่างขวาค้างไว้ แล้วเลือกปุ่ม Spaces ที่อยู่ด้านล่างสุด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เพื่อนของเรา ได้ตั้งห้อง Twitter Spaces เอาไว้แล้ว สามารถเข้าร่วมได้เลยจากฟีเจอร์ Fleets ซึ่งอยู่ด้านบนของแอปพลิเคชัน
เมื่อเข้ามาแล้ว ระบบของ Spaces จะถามคุณว่าต้องการสร้างห้องแบบใด โดยจะมีห้องที่เข้าได้ทุกคน (Everyone) ห้องที่เฉพาะผู้สร้างห้องกดติดตามเท่านั้น (People you follow) และเฉพาะคนที่คุณเชิญเท่านั้น (Only people you invite to speak)
ในการสนทนาจะมีผู้พูด (Speakers) ได้มากที่สุด 10 คน สามารถส่งเอโมจิ ประกอบการสนทนาได้ มีให้เลือกด้วยกัน 6 เอโมจิ
นอกเหนือจากนี้แล้ว Twitter Spaces มีระบบถอดคำของผู้พูดออกมาเป็นแคปชัน หรือ Live Transciptions เพียงแต่ยังรองรับเฉพาะภาษาอังกฤษ จากที่ลองใช้งานก็ดูจะยังไม่แม่นยำเท่าไรนัก
ส่วนกรณีที่ต้องการเป็นผู้สนทนาให้กดไปที่ปุ่มไมโครโฟนที่มีคำว่า Request แล้วรอให้โฮสต์ (Host) หรือเจ้าของห้องกดอนุมัติ
ข้อสังเกต
1. แม้ว่า Twitter Spaces จะสามารถตั้งห้องในวงจำกัดก็ได้ หรือห้องที่เปิดกว้างก็ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วเมื่อเทียบ Twitter Spaces กับ Clubhouse พบว่า Twitter Spaces มีความรู้สึกที่ให้บรรยากาศในการคุยกับเพื่อนๆ ในวงจำกัด ส่วน Clubhouse เปิดกว้างในการพูดคุย และสนทนากับคนแปลกหน้า
2. ต่อมา Twitter Spaces สามารถแชร์เอาทวีตที่น่าสนใจ หรือประเด็นต่างๆ มาไว้ด้านบนสุดของ Twitter Spaces ของห้องนั้นๆ ได้ ซึ่งจะมีชื่อกำกับเอาไว้ว่าถูกแชร์โดยใคร กรณีนี้ เราสามารถประยุกต์ โดยตั้งแฮชแท็กสำหรับห้องนั้นๆ ถ้าหากในทวิตเตอร์ใครที่ทวีตพร้อมติดแฮชแท็กดังกล่าว แล้วมีประเด็นน่าสนใจ ก็นำเข้ามาใน Twitter Spaces ได้เลย
3. Twitter Spaces มีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง เมื่อเทียบกับ Clubhouse นั่นคือ ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้งาน iOS ผู้ใช้งาน Android เข้าใช้งาน Twitter Spaces ได้เลยไม่มีปัญหา
...
4. นอกจากนี้ Twitter Spaces ไม่มีปัญหาเรื่องของจำนวนผู้ฟังในห้องนั้นๆ ยกตัวอย่าง Clubhouse เวลานี้ ห้องที่ได้รับความนิยมมากๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีคนฟังได้เต็มที่ประมาณ 8 พันคน ถ้าเต็มก็ต้องไปฟังในห้องถ่ายทอดเสียง แต่ของ Twitter Spaces ไม่จำกัดจำนวนผู้ฟัง
5. ระบบเสียงของ Twitter Spaces ในภาพรวมถือว่าดีกว่า Clubhouse อย่างไรก็ดี มันมีตัวแปรควบคุมอย่างคุณภาพของหูฟังอีกด้วย ถ้าหูฟังดี ไมโครโฟนดี การรับเสียงหรือกระจายเสียงก็จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
6. อินเตอร์เฟสของ Spaces ไม่ได้มีการแบ่งแยกเจ้าของห้อง (Host), ผู้พูด (Speakers) และผู้ฟัง (Listener) อย่างชัดเจน ผู้ใช้งานต้องสังเกตเอาเองว่าใครเป็นเจ้าของห้อง ใครกำลังเป็นผู้พูด และใครกำลังเป็นผู้ฟัง
ปัญหาที่พบ
1. จากการทดลองใช้ Twitter Spaces พบว่าถ้าหากเราเปิดใช้งาน Twitter Spaces พร้อมกับการอ่าน-ตอบอีเมล (แอปที่ใช้ คือ Microsoft Outlook) การใช้งานภายในแอปอีเมลจะหน่วงทันที แต่เมื่อกดปิด Twitter Spaces การใช้งานของแอปอีเมลก็กลับมาเป็นปกติ
2. ระหว่างที่ใช้งาน Twitter Spaces ด้านหลังของ iPhone (รุ่นที่ใช้ทดสอบคือ iPhone XR) ค่อนข้างร้อน นั่นแปลว่า การทำงานของหน่วยประมวลผลภายใน กำลังทำงานหนักทีเดียว ได้แต่หวังว่าเมื่อเปิดให้บริการจริง ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น