สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แจ้งผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตในเมืองไทยว่า ล่าสุดคนไทยประมาณ 30% ใช้งานเน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เฉลี่ยสูงถึง 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

หรือพูดอีกอย่าง เท่ากับเวลานี้มีคนไทยราว 21 ล้านคน ใช้เวลาประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน (เกือบ 1ใน 3 ของวัน) ขลุกอยู่กับอินเตอร์เน็ต ทั้งเพื่อความบันเทิง ขายสินค้า หาข้อมูล หรือใช้เพื่อการอื่นใดก็ตาม โดยนิยมใช้งานผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าใช้ผ่านช่องทางอื่นๆ

เฉพาะการใช้งาน “เน็ต” ผ่านโทร.มือถือ เพื่อคุยกัน ในโซเชียล มีเดีย หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ประเภท เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรือ อินสตาแกรม (ไอจี) ได้รับความนิยมพุ่งพรวดสูงถึง 78.2%

สัดส่วนการใช้เน็ตผ่านมือถือ เพื่ออ่านข้อมูลข่าวสาร มีเพียง 57.6% และใช้เพื่อ การค้นคว้าหาความรู้ มีแค่ 56.5%

เทียบกับการใช้งานเน็ตผ่านทางคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ถูกใช้เพื่อการ รับ–ส่งอีเมล มากที่สุดถึง 82.6% ใช้เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ 73.3% และใช้เพื่ออ่านข่าวสารอีก 63.8%

เห็นได้ว่ายิ่งสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ และ อินสตาแกรม ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ได้รับความนิยมเพียงไร ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้งานอินเตอร์เน็ตในสังคมไทยและสังคมโลกด้วยอัตราเติบโตที่ก้าวกระโดดขึ้นเพียงนั้น

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารบนโลกไซเบอร์ (Cyberspace) ซึ่งผู้คนสามารถสัมผัสการเคลื่อนที่ของภาพและข้อมูลต่างๆผ่านทางสายตา จากที่หนึ่งไปยังอีกที่ได้อย่างรวดเร็ว จนเกือบจะเป็นเวลาเดียวกับโลกแห่งความเป็นจริง ท่ามกลางความเสมือนจริงที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ตามมา

...

เพราะยิ่งผู้คนนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากเท่าใด ย่อมเปิดช่องทางหรือโอกาสให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีแฝงตัวเข้าไปล่อลวง แสวงหาประโยชน์ หรือกระทำในสิ่งผิดกฎหมายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ตัวอย่างพื้นๆ การที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ทำการ เช็กอิน ลงบนเฟซบุ๊ก จะส่งผลให้มีการระบุสถานที่ วัน เวลา ว่าขณะนี้ผู้เช็กอินปรากฏตัวอยู่ ณ ที่ใด เท่ากับเป็นการชี้เป้าให้ผู้ไม่ประสงค์ดีทราบความเคลื่อนไหวของท่าน เช่น รู้ว่าท่านได้ออกจากจุดหนึ่งไปอยู่ ณ อีกจุดหนึ่งแล้ว ไม่ต่างกับการชี้โพรงให้โจรดีๆนี่เอง

ทำนองเดียวกับ การแชร์ (แบ่งปัน) หรือ โพสต์ รูปภาพส่วนตัวลงบนเฟซบุ๊ก โดยตั้งค่าสถานะไว้ที่ “สาธารณะ” ซึ่งจะทำให้ใครก็ได้ทั้งที่เป็นเพื่อน หรือมิได้เป็นเพื่อนกับท่าน สามารถเห็นรูปภาพของท่านได้ทุกคน

กรณีเช่นนี้หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำรูปภาพของท่านไปทำการตัดต่อ หรือนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อน เสียหาย หรืออันตรายถึงตัว ดังที่มักปรากฏเป็นข่าว จึงมาสู่คำถาม ทำอย่างไรจึงจะให้สังคมไทยใช้โซเชียล มีเดียอย่างสร้างสรรค์ ไม่เกิดผลกระทบเชิงลบ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบ เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล

มาลี วงศาโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) บอกว่า ขณะนี้ทั้งประเทศมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 70 ล้านคน หรือราวๆ 21 ล้านคน

เฉพาะโซเชียล มีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ใช้จำนวนมากถึง 28 ล้านคน ยังไม่นับจำนวนผู้ใช้งานโซเชียล มีเดียอื่น อย่างเช่น ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ และ อินสตาแกรม อีกนับไม่ถ้วน

“ยอมรับว่ายากที่จะไปกำกับควบคุม ที่ทำได้ก็คือพยายามหาทางให้ผู้ใช้งานโซเชียล มีเดีย เกิดความตระหนักรู้เท่าทันถึงภัยคุกคามจากโลก

ไซเบอร์ ให้ทุกคนรู้จักนำไปใช้งานอย่างไตร่ตรองและเลือกสรร จึงจะมีภูมิคุ้มกัน กระทรวงไอซีทีจึงได้จัดทำเป็นเฟซบุ๊กเพจขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Thailand Creative Society เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยกันสร้างเครือข่ายในการแก้ปัญหานี้”

ส่วนวิธีที่จะทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจยุคดิจิทัล มาลีบอกว่า นอกจากต้องพัฒนาคนให้สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างสร้างสรรค์ กระทรวงไอซีทียังต้องหาทางทำให้โครงสร้างพื้นฐาน มีราคาถูกลง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น

ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ บอกว่า หลังจาก สตีฟ จ๊อบส์ อดีตซีอีโอของบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ผู้พัฒนามือถือไอโฟน สามารถคิดค้นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่ไร้ปุ่มกด โดยมีหน้าจอให้สัมผัสแทน ทำให้เทคโนโลยีหลายอย่างในโลกนี้โดนฆ่าทิ้ง

เขาบอกว่า สมาร์ทโฟน หรือมือถือที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ที่แท้ก็คือ คอมพิวเตอร์ขนาดย่อม ซึ่งภายในประกอบด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อยู่ในเครื่องเดียวกัน

“อีกหน่อยซอฟต์แวร์จะไม่อยู่โดดๆอีกต่อไป เรื่องใดที่คนเราเคยทำได้ยากในอดีต จะทำได้ง่ายขึ้น นั่นคือ ต่อไปนี้ถ้าโอกาสพร้อม และรู้จักใช้โอกาส ทุกคนสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้ไม่ยาก”

เขายกตัวอย่าง ในอดีตข้อมูลข่าวสารหลายอย่างมักต้องไปเอามาจากสื่อหลัก อย่างหนังสือพิมพ์และทีวี แต่ทุกวันนี้สื่อหลักกลับต้องไปเอาข้อมูลข่าวสารของดารา นักร้อง มาจากสื่อออนไลน์ เช่น เอามาจากอินสตาแกรมของดารา นักร้อง หรือคนดังทั้งหลาย ซึ่งเปิดอินสตาแกรมไว้ให้คนติดตามตัวเอง

“หรือสมัยก่อนใครอยากจะทำเพลงของตัวเองขึ้นมาสักเพลง หรือสักอัลบั้ม ต้องไปเว้าวอนออดอ้อนนายห้างเทปหรือแผ่นเสียงจึงจะได้

...

แจ้งเกิด ผิดกับสมัยนี้ ทำเพลงเสร็จไม่ต้องง้อใคร โพสต์ขึ้นยูทูบเลย ถ้าความสามารถคุณถึง หรือเข้าตาผู้คน ก็อาจโด่งดังได้แจ้งเกิดกันง่ายๆเพียงแค่ข้ามคืน นั่นคือทุกวันนี้การสื่อสารในโลกออนไลน์กำลังทำให้สื่อหลักทั้งหลาย ลดอิทธิพลหรือบทบาทลงไปเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตาม ฉัตรชัยบอกว่า ในข้อดีก็มีข้อเสีย สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ ยังขาดผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลให้แก่ผู้รับสาร ผลเสียที่ตามมาจึงอาจมีทั้งข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวปล่อย ทั้งเรื่องหุ้น ดารา การเมือง หรือเรื่องใดก็ตาม ผู้เสพสื่อจึงต้องใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรอง และกลั่นกรองเอาเองว่าสิ่งที่ปรากฏเชื่อได้หรือไม่

ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Kapook.com มองว่าการที่สมาร์ทโฟนยุคนี้มีส่วนประกอบที่เป็นคอมพิวเตอร์ CPU คีย์บอร์ด (แป้นพิมพ์) แถมยังมีกล้องความคมชัดสูงไว้ให้ถ่ายภาพ วางขายในราคาที่ถูกลง และมี แอพพลิเคชัน (ซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะทาง) ให้เลือกใช้มากมายถือเป็นเรื่องดี

“ทีนี้ก็อยู่ที่คนใช้แล้ว แค่ใช้งานให้เป็น ใช้อย่างมีสติ และใช้ให้คุ้มค่า เช่น รู้จักเอาไปทำมาหากินด้วยการโพสต์ขายของลงในกูเกิล หรือใครมีความรู้ทางด้านเขียนโปรแกรม อาจลองเขียนโปรแกรมขึ้นมาให้คนโหลดไปใช้งานฟรี บางทีเพียงชั่วข้ามคืน ก็อาจได้แจ้งเกิดมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายโฆษณา”

“อีกหน่อยข้อมูลข่าวสารจะเริ่มล้นทะลัก สิ่งใดที่เคยฟังดูเว่อร์ หรือยากจะจับต้องได้ จะจับต้องได้ง่ายขึ้น กฎหมายที่มีอยู่จะล้าหลัง ตามไม่ทันเทคโนโลยี ผู้คนจะได้สัมผัสกับสินค้าหรือบริการใหม่ๆที่ดีขึ้นกว่าเก่า ถ้าเราสามารถทำให้ผู้คนใช้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในทางที่ถูก เราก็จะอยู่กับมันได้อย่างสร้างสรรค์”

...

พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐสัมพันธ์ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อคิดเป็นรายสุดท้ายว่า

“ดีใจที่รัฐบาลชุดนี้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี ตราบใดที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หมั่นปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันกับการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ย่อมผลักดันให้สังคมไทยเกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างสรรค์ได้ไม่ยาก”.