ผอ.ซิป้า แฉโดนสกัดดาวรุ่ง อาศัยจังหวะช่วงบอร์ดซิป้าประเมินผลการทำงาน ขณะที่บางสมาคมใช้ช่องการเมืองเล่นงาน ยืนยันกว่า 2 ปี ซิป้ามีผลงานชัด ตั้งเป้าดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 1.5 หมื่นล้านบาท ใน 3 ปี...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายรุ่งเรื่อง ลิ้มชูปฎิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และ 11 สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ เอทีเอสไอ สมาคมเอาท์ซอร์ส สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคม SMEs แห่งประเทศไทย สามาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย หรือแทคก้า สมาคมคอมพิวเตอร์ สมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวยืนยันความสัมพันธ์ยังเหนียวแน่นไม่มีความแตกแยกแต่อย่างใด

นายรุ่งเรือง กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีสมาคมหนึ่งยื่นร้องเรียน เรื่องการทำงานของ ผอ.ซิป้า ขณะเดียวกัน บอร์ดซิป้าก็เร่งพิจารณาประเมินผลการทำงานของตน เนื่องการการประเมินล่าช้าไปมากแล้ว โดยการประเมินกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.2552 ทั้งนี้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อปี 2551 ได้ทุ่มเทกับการทำงานและกว่า 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่เข้าเริ่มงานชัดเจน คือ การผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี ขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี ก็ถูกสกัดกั้นจากคนเสียผลประโยชน์เพียงบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมาเน้นการร่วมกันทำงานของสมาคม สมาพันธ์ในอุตสาหกรรมให้เดินหน้าไปพร้อมกัน จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างทำงาน

ด้านนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ตัวแทนสมาคมสมาคมเอาท์ซอร์สแห่งประเทศไทย และเลขานุการกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารภายในซิป้าทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สะดุดมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน วงการซอฟต์แวร์ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะมีฝ่ายกำหนดนโยบายที่ชัดเจนฟันธงจากซิป้า และยังส่งเสริมให้มีการออกแบบฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ฝีมือคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ตัวแทนสมาคมสมาคมเอาท์ซอร์สฯ กล่าวต่อว่า ผลงานที่ผ่านมาเห็นได้จากทิศทาง และมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนไฟฟ้า และโทรคมนาคมทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าส่งออก 1.6 ล้านล้านบาท และขายในประเทศ 7 แสนล้านบาท ในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยเป็นรองจีน และไต้หวัน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้รับการส่งเสริมจากซิป้าด้วยการช่วยออกแบบชิ้นส่วน แทนการนำเข้าจากต่างประเทศเพียงฝ่ายเดียว

นายเชียร กล่าวอีกว่า ผลของการปักธงด้วยนโยบายดันเอาท์ซอร์สประเทศไทย สู่สากล กำลังผลิดอกผล เนื่องจากประเทศไทยได้ไต่ระดับประเทศที่น่าลงทุนทำเอาท์ซอร์สเป็นอันดับที่ 4 จากการสำรวจของ AT KEARNEY REPORT รองจากจีน อินเดีย มาเลเชีย ทั้งนี้ หากมีการทำงานที่ต่อเนื่องเชื่อว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจะไปได้ไกลกว่านี้

"การร้องเรียนที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความไม่พอใจของบางสมาคมที่ไม่ได้เป็นคนไทย แต่เป็นเพียงสมาคมนอมินีต่างชาติ เพราะมีต่างชาติอยู่มากกว่า 83% เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ครั้งนี้เป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ" ตัวแทนสมาคมสมาคมเอาท์ซอร์สฯ กล่าว

...