ผมเขียนเรื่องการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมาหลายรอบ ภาพรวมของอุตสาหกรรมมือถือในรอบ 4-5 ปีให้หลังนั้น เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง บรรดาผู้ผลิตมือถือรายเดิมๆ อย่างโนเกีย โมโตโรลา ซีเมนส์ อีริคสัน ปาล์ม แบล็คเบอร์รี ฯลฯ ถูกบริษัทไอทีอย่างแอปเปิลและกูเกิลบุกเข้ามาตีเมืองแตกในช่วงเวลาไม่กี่ปี บางรายที่ปรับตัวไม่ทันถึงกับต้องล้มหายตายจากหรือขายกิจการทิ้งไปเลยก็มี

หัวหมู่ทะลวงฟันอย่างแอปเปิลใช้ยุทธศาสตร์ข้ามาคนเดียว รวยคนเดียวไม่ยุ่งกับใคร ส่วนกูเกิลที่ตามหลังมาติดๆ ด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์กลับกลายเป็นโอกาสใหม่ๆ ให้บริษัทอย่างซัมซุงขึ้นมาผงาดบนเวทีโลกได้สำเร็จ

ในทางกลับกัน ราชันแห่งวงการมือถืออย่างโนเกียกลับตกต่ำลงมากจนต้องหนีไปซบไมโครซอฟท์ โมโตโรลาต้องขายกิจการให้กูเกิล ปาล์มขายกิจการให้เอชพี (และเลิกทำมือถือไปในที่สุด) ส่วนอีริคสันขายหุ้นทิ้งให้โซนี่ดูแลต่อไป

ค่ายแบล็คเบอร์รี มือถือมีคีย์บอร์ดจากแคนาดาที่เคยฮิตมากในช่วงหนึ่ง ก็ประสบชะตากรรมแบบเดียวกับโนเกีย

ในช่วงแรกที่ไอโฟนและแอนดรอยด์บุกเข้ามา แบล็คเบอร์รียังแข่งขันได้ด้วยฟีเจอร์ด้านคีย์บอร์ดและแชตที่ยอดเยี่ยม แต่เมื่อโลกมือถือพัฒนาไป กลายเป็นโลกของแอพจอสัมผัส แบล็คเบอร์รีก็แสดงอาการเหนื่อยล้าออกมาให้เห็น เนื่องจากระบบปฏิบัติการตัวเดิมไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับจอสัมผัส และกระบวนการสร้างแอพบนแบล็คเบอร์รีนั้นยุ่งยากมากเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ

ตัวบริษัทแบล็คเบอร์รีเองก็รับทราบปัญหานี้ดี และเตรียมทางแก้ไขโดยพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ชื่อ BlackBerry 10 ขึ้นมาทดแทนระบบปฏิบัติการตัวเดิม ออกแบบใหม่หมดให้รองรับหน้าจอสัมผัสมาตั้งแต่ต้น และแก้ไขเรื่องวิธีการสร้างแอพให้ง่ายขึ้นมาก (แถมยังสามารถนำแอพจากแอนดรอยด์มาใช้ได้ด้วย แต่ไม่สมบูรณ์นัก)

...

แต่การปรับตัวของแบล็คเบอร์รีนั้นช้าเหลือเกิน กว่าจะออกมือถือตัวแรกที่ใช้ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ก็ต้องรอนานถึงต้นปี 2556 นี้เอง (มันคือ BlackBerry Z10 รุ่นจอสัมผัสไร้คีย์บอร์ด) ก่อนจะตามมาด้วยมือถือแบบมีคีย์บอร์ดอันเป็นเอกลักษณ์ในชื่อ BlackBerry Q10 ในช่วงกลางปี

ยอดขายของมือถือ BlackBerry 10 ช่วงแรกถือว่าดีพอตัวในบางประเทศ (เมืองไทยดับสนิทครับ) แต่หลังจากเปิดตัวได้สักพัก กระแสก็หายไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น มือถือมีคุณภาพแต่ยังไม่มีจุดขายเด่นพอที่จะโค่นไอโฟน-แอนดรอยด์ ปัญหาแอพน้อย การตลาดไม่โดดเด่น ตั้งราคาขายแพงเกินไป ฯลฯ

ล่าสุดทางบริษัทแบล็คเบอร์รีเองก็ยอมรับกลายๆ แล้วว่า BlackBerry 10 ไม่สามารถฉุดรั้งสถานการณ์ของบริษัทให้กลับคืนมาได้ และตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อหาทางออกทางธุรกิจของบริษัทต่อไป

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ประเมินทางเลือกของแบล็คเบอร์รีว่าน่าจะร่วมกิจการ (joint venture) หรือขายกิจการบางส่วนให้กับบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทมือถือฝั่งเอเชียอย่าง ZTE, Huawei, HTC รวมถึงบริษัทไอทีที่ทำธุรกิจอื่นๆ เช่น Amazon ที่ขายแท็บเล็ต หรือ IBM ที่ทำซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร

ส่วนทางเลือกอื่นๆ ที่เหลือของแบล็คเบอร์รีที่ยังไม่ปิดประตูเสียเลยทีเดียวคือการขายกิจการยกบริษัท หรือ การถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ธุรกิจคล่องตัว-ไม่ต้องเน้นทำกำไรตลอดเวลา

ผมคิดว่าปัญหาของแบล็คเบอร์รีนั้นคล้ายกับโนเกียมาก นั่นคือมือถือแบบเดิมๆ เก่าและล้าสมัยเมื่อเจอสมาร์ทโฟนยุคใหม่ที่มากับจอสัมผัส และบริษัทมือถือเหล่านี้ก็หยิ่งทะนง ไม่สนใจคู่แข่งหน้าใหม่ๆ แทนที่จะปรับตัวต่อสู้ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

โนเกียซึ่งถือเป็นบริษัทที่ใหญ่กว่าแบล็คเบอร์รีมากยังเอาตัวไม่ค่อยรอด ต้องยอมทิ้งศักดิ์ศรีไปจับมือกับไมโครซอฟท์ ร่วมกันผลักดันระบบปฏิบัติการ Windows Phone (ขนาดสองบริษัทยักษ์ใหญ่จับมือกัน ยังมีส่วนแบ่งตลาดนิดเดียว)

แบล็คเบอร์รีมีขนาดเล็กกว่าโนเกีย แต่ดันเลือกใช้วิธีเดินหน้าสู้ต่อไปเพียงลำพัง เดิมยังกลับตัวช้ากว่าโนเกียหลายปี ดูสภาพการณ์แล้วก็น่าจะแย่กว่าโนเกียครับ

ตลาดไอทีมีแนวโน้มที่จะมีผู้เล่นน้อยราย ตอนนี้ผู้เล่นเบอร์หนึ่งและเบอร์สองนั้นชัดเจนแล้วว่าเป็นแอนดรอยด์และไอโฟน พื้นที่ว่างอันน้อยนิดที่เหลืออยู่คงเหลือพอสำหรับอันดับสามเพียงรายเดียว ซึ่งก็น่าจะเป็นขั้วของไมโครซอฟท์-โนเกีย มากกว่าเป็นของแบล็คเบอร์รีครับ


มาร์ค Blognone