ซีอีโอติ๊กต่อก ตอบข้อซักถามที่ใครหลายคนคาใจ โดยเฉพาะในเรื่องของการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน ยืนยันไม่เคยถูกขอ และถ้ามีการยื่นเรื่องมาก็จะปฏิเสธ

เป็นเรื่องที่พบเห็นไม่บ่อยนัก เมื่อ Shou Zi Chew ซีอีโอของติ๊กต่อก จะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ แต่จากงานคอนเฟอเรนซ์ที่มีชื่อว่า DealBook จัดโดยสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ นับเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกๆ ของ Shou Zi Chew เลยก็ได้ว่าได้

Shou Zi Chew ในวัย 40 ปี มีประวัติการทำงานที่น่าสนใจโดยเฉพาะการเป็นอดีตผู้บริหารสูงสุดทางการเงินของเสียวหมี่ (Xiaomi) และถ้าย้อนไกลกว่านั้น เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา เขาเคยผ่านการฝึกงานที่เฟซบุ๊ก (Facebook) มาด้วย

แต่เมื่อก้าวขึ้นมาสู่การเป็นซีอีโอของติ๊กต่อก Shou Zi Chew เปิดเผยกับพิธีกร แอนดรูว์ รอสส์ ซอร์กิน งานของเขาในฐานะซีอีโอติ๊กต่อก ก็คือ การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทั้งหมด

Shou Zi Chew (ซ้าย)
Shou Zi Chew (ซ้าย)

...

ในเวลาเดียวกัน เมื่อ Shou Zi Chew ออกมาสู่สาธารณชนเช่นนี้ย่อมต้องถูกคำถามที่ไม่ถามไม่ได้ นั่นคือ เรื่องของการให้ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานแก่รัฐบาลต่างๆ ที่ร้องขอมา โดยเฉพาะฟากฝั่งของรัฐบาลจีน ซึ่ง Shou Zi Chew รับรู้และทราบดีว่าเขาจะต้องถูกถามคำถามนี้

Shou Zi Chew ให้คำตอบว่า ติ๊กต่อกให้ความสำคัญกับข้อกังวลเหล่านี้อย่างจริงจัง ติ๊กต่อกได้มีการศึกษาข้อกังวลเหล่านี้ อีกทั้งยังได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการด้านการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็แก้ปัญหาได้ด้วยดี

Chew กล่าวต่อไปว่า ในเวลานี้อย่างที่ทุกคนทราบ ติ๊กต่อก ได้ออกโครงการที่มีชื่อว่า Project Texas ซึ่งเป็นการย้ายฐานข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาจากเวอร์จิเนีย และสิงคโปร์ ไปไว้ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์รูปแบบใหม่ที่พัฒนาและดำเนินการโดยบริษัทออราเคิล (Oracle) ซึ่งมีเพียงทีมงานในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้

Shou Zi Chew เสริมว่า งบประมาณสำหรับ Project Texas มีราคาแพงมาก และเป็นเรื่องท้าทายที่ติ๊กต่อกได้ลงมือทำเพื่อขจัดข้อกังวลที่มีมาตลอด

ในส่วนการขอข้อมูลผู้ใช้งานจากรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนปักกิ่ง Chew อธิบายว่า ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลจากต่างประเทศที่ร้องขอข้อมูลผู้ใช้งาน และถ้าหากพวกเขาร้องขอขึ้นมาจริงๆ ติ๊กต่อกมีประโยคเดียวที่จะให้ก็คือคำว่า ไม่

ทางด้านอัลกอริทึมของติ๊กต่อก ซึ่งเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยมีจุดเด่นจากการที่ แนะนำเนื้อหาตามสัญชาตญาณและขอบเขตความสนใจของผู้ใช้งานโดยตรง ทั้งนี้ Chew บอกว่า อัลกอริทึมของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา และผู้ใช้งานในจีนจะมีความแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะกลุ่มของผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน

ต่อมาเป็นเรื่องของการซื้อบริษัทโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ โดย Shou Zi Chew ยอมรับว่า มัสก์เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในระดับสูง แต่ในเรื่องของทวิตเตอร์ยังเร็วเกินไปที่จะบอกตอนนี้ พร้อมกับสำทับไปยังทวิตเตอร์ด้วยว่า ในมุมมองของเขาแพลตฟอร์มควรให้ความสำคัญในเรื่องของความน่าไว้วางใจและความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะตรงข้ามกับการทำงานของมัสก์ในทวิตเตอร์ตอนนี้

Chew กล่าวปิดท้ายว่า จนถึงตอนนี้ติ๊กต่อกยังเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ไม่ยอมรับโฆษณาทางการเมือง รวมถึงการระดมทุนรูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้แพลตฟอร์มเป็นโฆษณาทางการเมืองและการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อีกทั้งคอนเทนต์ทางการเมืองไม่เหมาะกับแนวทางและพันธกิจของติ๊กต่อก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มเชิงความคิดสร้างสรรค์และการสร้างความสุข.

ที่มา : The Verge