การประกาศลาออกของแจ็ค ดอร์ซีย์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นั่นทำให้บรรดาผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับนั่งควบตำแหน่งซีอีโอ เริ่มทยอยเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน
ในปี 2021 ที่กำลังผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กรของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำก็ว่าได้
หากเราจำกันได้ เจฟฟ์ เบซอส ก็เพิ่งปิดฉากการเป็นซีอีโอของแอมะซอนตลอด 27 ปี ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา นั่นจึงทำให้ในเวลานี้ ผู้นำองค์กรของบริษัทเทคโนโลยี ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคตั้งไข่ และยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์กรจนถึงในเวลานี้ คงเหลือแค่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เพียงคนเดียวเท่านั้น
The Last Man Standing
ก่อนอื่นต้องบอกว่า การที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยังนั่งแท่นเป็นซีอีโออยู่จนถึงปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติใดๆ แม้ว่าจะมีกระแสกดดันให้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยุติการปฏิบัติหน้าที่ภายในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งอยู่เนืองๆ จากประเด็นปัญหาการผูกขาดโซเชียลมีเดีย รวมถึงการถูกกล่าวหาว่าแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กทั้งหมดนั้นเป็นพิษ (Toxic) ก็ตาม
ประการต่อมาเป็นเรื่องของอายุ ปัจจุบัน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เพิ่งมีอายุแค่ 37 ปีเท่านั้น ซึ่งยังถือว่า อายุน้อยมาก และยังเป็นคนหนุ่มที่มีพลังและความสามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของเมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญมากของเขา และนั่นน่าจะเป็นแพสชันที่ทำให้ซัคเคอร์เบิร์ก จะยังคงทำงานบนเก้าอี้ซีอีโอตลอด 365 วันในอีกระยะเวลาหลายปีข้างหน้า
...
เมื่อมองไปที่ ซีอีโอคนอื่นๆ ในบริษัท Big Tech ต่างล้วนมีอายุที่มากกว่าซัคเคอร์เบิร์กทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น เจฟฟ์ เบซอส มีอายุเฉียด 60 ปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า เซอร์เกย์ บริน และ แลร์รี เพจ สองผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล ก็มีอายุ 48 ปี ซึ่งเพิ่งวางมือจากตำแหน่งสูงสุดในอัลฟาเบท เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง
นอกจากนี้แล้ว ด้วยโครงสร้างของบริษัท มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ถือหุ้นเฟซบุ๊กไว้ในมือค่อนข้างสูงราว 16.7 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้สิทธิ์และเสียงของซัคเคอร์เบิร์ก แข็งแกร่งมากๆ สามารถเคลื่อนไหวบริษัทไปในทิศทางที่ต้องการ และนำเสนอวิสัยทัศน์ของตัวเองได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องกังวลกับแรงกดดันจากกลุ่มผู้ถือหุ้นมากนัก ซึ่งต่างจากผู้นำของ Big Tech หลายบริษัท ที่ไม่ได้มีโอกาสนำเสนอวิสัยทัศน์ของตัวเองได้มากนัก เนื่องจากมีโอกาสขัดแย้งกับกลุ่มผู้ถือหุ้น
อย่างไรก็ดี จากการตัดสินใจของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในหลายครั้งก็สะท้อนว่า ผู้นำแบบซัคเคอร์เบิร์ก ตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องหลายต่อหลายครั้ง และส่งผลกระทบในด้านดีของผลิตภัณฑ์ในเครือเฟซบุ๊ก เช่น การเข้าซื้ออินสตาแกรม และวอตส์แอป ตามด้วยการโคลนนิ่งฟีเจอร์ Stories ของสแนปแชตมาไว้ในอินสตาแกรม
ขณะที่ การซื้อกิจการ Oculus เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของเมตาเวิร์ส แม้จนถึงขณะนี้ Oculus ยังไม่เติบโตมากพอที่จะเป็นเครื่องจักรผลิตเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับเมตาได้ก็จริง แต่ถ้าโลกเมตาเวิร์ส “เกิดขึ้น” ได้จริง ไม่แน่ว่า Oculus อาจได้กลายเป็นหัวหอกสำคัญทางธุรกิจของเมตาในเวลาหลังจากนี้
จุดที่น่าสนใจของการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะในตำแหน่งซีอีโอภายในบริษัทเทคโนโลยี สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ในแง่บวกที่มักจะเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ นั่นคือ เรื่องของราคาหุ้น
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เคยรวบรวมการเติบโตของหุ้นที่มาพร้อมกับผู้นำคนใหม่ของสามบริษัท ได้แก่ แอปเปิล, ไมโครซอฟท์ และกูเกิล หรือ อัลฟาเบท
แอปเปิล ภายใต้การนำของทิม คุก ราคาหุ้นเติบโตขึ้นระดับ 10 เท่าตัว จากเดิมที่เคยมีราคาหุ้นเพียง 13.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้นในปี 2011 ขยับขึ้นไปเป็น 175.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ในเดือนธันวาคม 2021
แม้ว่าภายใต้การบริหารของทิม คุก แอปเปิลมักจะถูกค่อนขอดว่า ไม่ค่อยมีนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อเทียบกับยุคของสตีฟ จ็อบส์ เพราะทางฝั่งทิม คุก มีแค่การเปิดตัว Apple Watch และซอฟต์แวร์ต่างๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า ซอฟต์แวร์นี่แหละ ที่ทำให้แอปเปิล มีรายได้เติบโตมหาศาล ขณะเดียวกัน ในยุคของสตีฟ จ็อบส์นั้น เป็นยุคที่เทคโนโลยีกำลังเติบโตถึงขีดสุด เราจึงได้เห็น iMac, iPod, iPhone เรื่อยไปจนถึง iPad
ต่อมาเป็นไมโครซอฟท์ หุ้นของยักษ์ใหญ่จากเรดมอนด์ เติบโตขึ้นกว่า 9 เท่าภายใต้การบริหารของสัตยา นาเดลลา จากเดิมที่เคยมีราคา 36.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ขยับขึ้นมา 333.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ในเดือนธันวาคม 2021
...
ไมโครซอฟท์ ของสัตยา นาเดลลา เปิดกว้างในการพัฒนาแอปพลิเคชันลงในทุกแพลตฟอร์ม จุดเด่นในการทำงานของสัตยา นาเดลลา กล่าวคือ เขารู้ว่า ไมโครซอฟท์ ควรวางตัวเองอย่างไร ในเมื่อธุรกิจที่พวกเขาไม่มีทางชนะ ก็เลือกที่จะไปทำอย่างอื่น ไม่ดื้อดึง พร้อมกันนี้ ยังได้นำซอฟต์แวร์สำคัญๆ เช่น Office Suite ไปอยู่ในรูปแบบของ Subscription ขยายธุรกิจคลาวด์ Azure รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์ม Xbox ให้แข็งแกร่ง สำหรับจับตลาดเกมมิง
อัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิล ก็ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นเช่นกัน จาก 1,294.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ในเดือนธันวาคม 2019 ขึ้นมาเป็น 2,928.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น โตระดับ 130 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่น่าเสียดายในมุมหนึ่งของซุนดาร์ พิชัย คือในช่วงที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรทั้งหมดของทุกองคาพยพของกูเกิล เขาไม่ได้มีเวลาสร้างสรรค์และนำเสนอนวัตกรรมมากนัก เพราะเวลาส่วนใหญ่ที่เขาต้องใช้บริหาร คือ การนำพาองค์กรแล่นเรือผ่านยุคของไวรัสโควิด-19 และการต่อสู้กับข้อกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการผูกขาดการค้า
Time change people change
เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ไม่มีใครอยู่นิ่งๆ ในจุดเดิม เมื่อวัยที่เพิ่มมากขึ้น ขอบเขตความสนใจก็อาจแตกต่างไปจากช่วงที่ยังอายุน้อยกว่าปัจจุบัน
การทยอยถอนตัวของผู้นำ Big Tech ก็เป็นไปตามเหตุผลข้างต้น นั่นคือ ขอบเขตความสนใจของพวกเขาเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างกรณีของเจฟฟ์ เบซอส เป็นที่ชัดเจนว่า การลงจากตำแหน่งซีอีโอแอมะซอน เพื่อที่ตัวเขาจะได้มีเวลามองหาความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องของอากาศยานเชิงพาณิชย์ แข่งกับเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน
...
นอกจากนี้ ยังมีงานองค์กรการกุศลที่มีชื่อว่า Day One Fund เพื่อสร้างเครือข่ายโรงเรียนอนุบาล และยังมีงานช่วยเหลือคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี
กรณีนี้ คล้ายกับบิล เกตส์ ในช่วงที่เขายังทำงานเต็มเวลาให้ไมโครซอฟท์ ภาพลักษณ์ของบิล เกตส์ ก็ไม่ได้เป็นที่รักใคร่มากนัก เท่ากับในเวลานี้ เนื่องจากไมโครซอฟท์ ภายใต้การนำของเกตส์ มีปัญหาเรื่องการผูกขาดตลาด Windows ตลอดจน Internet Explorer ก่อนที่เกตส์ จะค่อยๆ ถอนตัวออกจากไมโครซอฟท์ เดินหน้าทำงานการกุศลเต็มตัว และใช้เวลาที่เหลือไปกับการเป็นหนอนหนังสือ โดยแทบทุกเดือนบิล เกตส์ มักจะมีหนังสือที่น่าสนใจมาแนะนำให้อ่านอยู่เสมอ บนเว็บไซต์ gatesnotes.com
ขณะที่ แจ็ค ดอร์ซีย์ ให้ความสนใจในตัวคริปโตเคอร์เรนซีเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นการตั้งชื่อ Bio บนทวิตเตอร์ตัวเองว่า #Bitcoin ตามด้วยการรีแบรนด์บริษัท Square ของตัวเองไปเป็น Block เพื่อปูทางสู่การสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัล
ผลัดใบสู่ยุคใหม่กับสารพัดปัญหา
การลาออกของบรรดาผู้ก่อตั้งบริษัท เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ ในด้านหนึ่ง เราสามารถบอกได้ว่า เป็นการรีเฟรชเพิ่มความสดชื่นภายในองค์กร พรมแดนในการแสวงหาสิ่งใหม่ และผลักดันให้คนที่เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางขององค์กรในยุคหน้า เข้ามามีบทบาทใหม่
อย่างไรก็ดี ในทิศทางตรงกันข้าม มันมีอีกหนึ่งความหมายด้วยเช่นกันว่า ตัวแทนของผู้ก่อตั้งและซีอีโอคนก่อนหน้า ต้องเผชิญกับปัญหา และสารพัดเรื่องให้ชวนปวดหัว ดังจะเห็นได้จากกรณีของซุนดาร์ พิชัย ที่อธิบายไว้ข้างต้น ซึ่งเขาต้องเผชิญหน้ากับสภาคองเกรสมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
...
แอนดี แจสซี ซีอีโอคนใหม่ของแอมะซอน จะต้องต่อสู้เรื่องของปัญหาการผูกขาดในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการต่อรองกับกลุ่มสหภาพแรงงานภายในองค์กรแอมะซอนเอง
นอกจากนี้ การถอยฉากไปของแจ็ค ดอร์ซีย์ อาจทำให้เขาไม่ต้องขึ้นให้การเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่ปารัก อักราวัล ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวแทน
คงอาจกล่าวได้ว่า เป็นงานยากจริงๆ ที่จะต้องนำเสนอทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาต่างก็ต้องรับมือกับนโยบายและกฎระเบียบของหน่วยงานรัฐ
จาก CEO คนเก่า ผลัดใบสู่ CEO คนใหม่
อ้างอิง: CNBC, Investopedia, Inside Telecom