การเปิดตัว iPhone 12 สมาร์ทโฟนรุ่นสำคัญของแอปเปิล (Apple) ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่าย โดยเฉพาะ 5G มีความคึกคักมากขึ้น
แม้ในความเป็นจริงแล้ว iPhone 12 จะไม่ใช่สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย 5G แต่การที่ iPhone 12 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของแอปเปิลที่รองรับ 5G นั้น จะส่งผลอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน เพราะมันเป็นสิ่งที่ยืนยันแล้วว่า โลกของ 4G ใกล้ที่จะถึงจุดสิ้นสุด แล้วเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคถัดไป ซึ่งก็คือ 5G
ที่ผ่านมา มีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นหลายค่ายที่ประกาศรองรับการเชื่อมต่อไร้สาย 5G ซึ่งมีทั้งระดับราคาที่สูงอย่าง Samsung Galaxy Note 20 Ultra 5G, Samsung Galaxy Z Fold 2 กองทัพสมาร์ทโฟนจากประเทศจีน นำโดย Huawei P40 Pro 5G, OPPO Find X2 Pro 5G รวมถึง VIVO V20 Pro เป็นต้น
การเข้ามาจับตลาด 5G ของ iPhone 12 คาดว่าจะมีผู้ใช้งาน iPhone รุ่นก่อนๆ ตัดสินใจเลือกที่จะอัปเกรดเป็น iPhone 12 ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในแง่ของความเป็นสาวกแอปเปิลโดยทุนเดิม โดยซื้อเป็นประจำทุกรุ่นที่ออกใหม่ หรือต้องการใช้งาน 5G บน iPhone 12 เท่านั้น เพราะด้วยความคุ้นชินในระบบปฏิบัติการ iOS เป็นต้น
ทางด้านย่านความถี่ 5G ที่เหมาะกับ iPhone 12 ในประเทศไทย ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทยต่างถือครองคลื่นความถี่เกือบทั้งหมดที่สามารถใช้งาน 5G ได้เกือบทั้งหมด
ตรวจสอบการใช้งาน 5G บน iPhone 12 ในประเทศไทย (คลิก)
ด้วยเหตุผลข้างต้น น่าจะทำให้เกิดผู้ใช้งาน 5G หน้าใหม่มากขึ้น ทั้งนี้ เอไอเอส หนึ่งในสามของผู้บริการเครือข่ายในประเทศไทย ประเมินภาพรวมการใช้งานสมาร์ทโฟน 5G ในประเทศไทย โดยเชื่อว่า การเข้ามาของ iPhone 12 จะช่วยดันยอดใช้งานสมาร์ทโฟน 5G ในประเทศไทยแตะหลัก 1 แสนราย ภายในสิ้นปี 2563
ส่วนความพร้อม 5G ในประเทศไทย ถือว่าเพิ่งเริ่มวิ่งออกจากจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยตัวเลขการตั้งสถานีฐาน 5G ของเอไอเอส ถึงตอนนี้ยังไม่มากอยู่ที่จำนวนหลักพัน โดยมีการตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2563 จะมีสถานีฐานไม่น้อยกว่า 5,000 สถานีฐาน
ในเรื่องของ 5G นั้น ควรเน้นย้ำด้วยว่า ไม่ได้มีความสำคัญในแง่เรื่องความเร็วในการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ การสตรีมภาพยนตร์ เท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การใช้งาน 5G ต้องคำนึงอีกสองเรื่อง ได้แก่ Massive Machine Type Communication ในการนำ 5G มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และ Ultra-Reliable and Low Latency Communication ที่การรับ-ส่งข้อมูลต้องมีความเสถียร
ประเด็นข้างต้นอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เทคโนโลยี 5G นั้น มีมิติที่กว้างกว่าการใช้งานทั่วไป แต่ 5G มีความสำคัญยิ่งในส่วนของผู้ประกอบการระดับโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงขั้นการผ่าตัดของแพทย์ เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว 5G ในตอนนี้ จะยังไม่ใช่ 5G ที่สามารถบรรลุศักยภาพการใช้งานสูงสุดในเร็ววันนี้แน่นอน โดย 5G ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในโครงสร้างพื้นฐานของโรงงานอุตสาหกรรม ราคาของอุปกรณ์ 5G ต้องถูกลง เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้งาน ตลอดจนแอปพลิเคชันที่รองรับกับการใช้งาน 5G ที่ต้องมีมากกว่านี้ ซึ่งในปัจจุบันแอปพลิเคชันสำหรับ 5G ยังมีอย่างจำกัด
ที่น่าสนใจกว่านั้น ถ้าหากเราดูจากมูลค่าในการประมูลคลื่นความถี่ 5G ของผู้ให้บริการทุกเครือข่ายภายในประเทศไทย พบว่า มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นการจะมาลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความเร็วของอินเทอร์เน็ตให้สตรีมภาพยนตร์ได้ไวสุดๆ หรือดูยูทูบได้เร็วมากๆ คงจะไม่ใช่เป้าประสงค์หลักของการลงทุน “เพื่อ 5G” อย่างแน่นอน
เช่นนั้นแล้ว รายได้ที่จะมาจาก 5G จะต้องมาจากภาคองค์กร (Enterprise) เพียงแต่จะเป็นโซลูชันแบบใดนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่จะนำ 5G มาใช้ ไปคิดต่อกันเอง
สำหรับ เอไอเอส มีการประเมินว่า ความครอบคลุมการให้บริการเครือข่าย 5G จะครอบคลุมประชากรไทยไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า