• Future Perfect
  • Articles
  • "หมอกฤตไท" จุดประกายภัยฝุ่น PM 2.5 เร่งการเดินหน้าของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

"หมอกฤตไท" จุดประกายภัยฝุ่น PM 2.5 เร่งการเดินหน้าของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

Sustainability

ความยั่งยืน7 ธ.ค. 2566 08:00 น.
  • จากการเสียชีวิตของ "หมอกฤตไท" ซึ่งป่วยมะเร็งปอด จุดประกายภัยฝุ่น PM 2.5 ที่คุณหมอเชื่อว่าอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตัวเองป่วยมะเร็ง
  • คำถามที่คุณหมอทิ้งเอาไว้ว่า "เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆ เหรอ?" ฉุกให้นึกถึง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง

การเสียชีวิตของ คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล นายแพทย์หนุ่มร่างกายแข็งแรง แต่มาตรวจพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม เมื่อช่วงปลายปี 2565 และสร้างเฟซบุ๊กเพจ "สู้ดิวะ" ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวแนวคิดต่างๆ ที่หมอไทได้ตกตะกอนในช่วงที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย ก่อนที่ตัวเองจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากย้อนดูโพสต์ของ คุณหมอกฤตไท จะพบว่า คุณหมอมั่นใจในสุขภาพร่างกายตัวเองมากๆ นะ เข้ายิมสม่ำเสมอ เล่นกีฬา กินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็น้อยมากๆ ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เครียด นอน 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้ามาอ่านหนังสือ ทำวิจัย สอนนักศึกษา ไม่ได้เข้าเวร หรืออดนอนอะไร 

แต่อาการ "ไอ" แบบมีเสมหะบ้าง ไอแห้งบ้าง ตรวจโควิดแล้วก็ไม่เจอ ผ่านไป 2 เดือน แม้จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาการไอก็ไม่หาย จนเริ่มรบกวนการสอน จึงตัดสินใจไปตรวจจริงจัง จนพบว่าตัวเองเป็น "มะเร็งปอดระยะลุกลาม" 

เชื่อ PM 2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุของมะเร็งปอด

ขณะที่สาเหตุของการป่วยนั้นคุณหมอบอกเขียนไว้ว่า

"ผมไม่ได้บอกว่าฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมกลายเป็นมะเร็งปอด เพราะก็มีคนอื่นที่สูดฝุ่นเหมือนกัน การเกิดมะเร็งในปอดผมมันเกิดจากหลายปัจจัยรวมๆ กัน โดยเฉพาะตัวหลักคือกรรมพันธุ์ของครอบครัวผม

แต่กรรมพันธุ์มันก็เหมือนกับลูกโม่ที่อยู่ในปืนแหละครับ ส่วนสิ่งแวดล้อมที่เราเจอมันก็เหมือนคนลั่นไกปืนนั้น เราเปลี่ยนพันธุกรรมและสายเลือดเราไม่ได้ก็จริง แต่เราน่าจะจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้นะครับ

เพราะผมเองก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเรื่องฝุ่นควันนี่แหละที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งปอดครับ"

นอกจากนี้ คุณหมอยังได้ตั้งคำถามถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุณหมอใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และทำงานไว้ด้วยว่า

"คำถามที่ผมมี คือมันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือไม่ ที่ต้องแบกรับค่าหน้ากาก ค่าเครื่องฟอก ประชาชนหลายอาชีพเองก็ไม่ได้สะดวกพอที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นอันตรายนี้ ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะติดตั้งเครื่องมือที่จะเพิ่มคุณภาพอากาศที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปทุกวันนี้

มันน่าเศร้ามากเมื่อมองว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศเรามันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นตั้งแต่พื้นฐานเรื่องของอากาศหายใจที่แสนจะสำคัญต่อชีวิตคน

“เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆ เหรอ?”



ผมไม่ใช่นักการเมือง และผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ ผมเป็นเพียงประชาชนที่เกิดคำถามเชิงโครงสร้างต่อ “การจัดลำดับและให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศที่ประชาชนอย่างเราหายใจกันอยู่ทุกวันนี้”

ผมคิดแบบตรรกะของคนทั่วไปเลย คือเราควรต้องเริ่มแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ตรงจุดก่อนไหมครับ ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ หรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 อย่างจริงจังมากพอ มันจะต้องมีหน่วยงานจริงจังขึ้นมาแล้ว เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ คนเก่งๆ ในประเทศเรามีเยอะแยะ งบประมาณเราก็มี นักการเมืองก็มี นักวิชาการก็มี คนที่ประสบปัญหา คนที่ออกมาเรียกร้องก็มีมากมาย

ประเทศเราติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกกันมาติดต่อกันหลายปี ทำไมเราถึงยังไม่เห็น “ความชัดเจนในการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอากาศ” หรือความชัดเจนในการพยายามหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือปัญหารถติด มันมีหลายสาเหตุแหละครับที่ทำให้มีปัญหาฝุ่น

แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจน และลงลึกถึงสาเหตุ PM 2.5 หลักๆ ในประเทศไทยว่าตกลงอะไรคือสาเหตุหรือแหล่งกำเนิดหลักของ PM 2.5 ในแต่ละภาคส่วนกันแน่

มันถึงจุดที่จะต้องมีการวิเคราะห์ และไปแตะสิ่งที่เป็นรากฐานของปัญหาของฝุ่น PM 2.5 อย่างแท้จริงสิ บ้านเราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืนสักที

จริงไหมครับ?

เราจะแก้ปัญหาฝุ่นควันแบบเป็นปัญหา “เร่งด่วน” ไปทุกปีแบบนี้ไม่ได้นะครับ"

หมอกฤตไท สู่การเร่งเดินหน้า พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ซึ่งการตั้งคำถามทิ้งไว้ของ "คุณหมอกฤตไท" ในวันที่คุณหมอไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วนั้น ทำให้หลายคน รวมถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในห้วงเวลานี้ด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ทำให้ตระหนักถึงปัญหา PM 2.5 ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่าย คนไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา PM 2.5 ไม่ใช่แค่มลพิษ แต่คือปัญหาสุขภาพที่พรากชีวิตคนที่เรารักไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้นจะสู้ให้เต็มที่ ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ (x) แสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณหมอ คุณหมอได้สอนให้เรารู้ว่า "ชีวิต" นั้นสั้นนัก และได้จุดประกายให้สังคมตระหนักถึงภัยฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้คนไทยตายผ่อนส่ง

และว่าอยากให้กันร่วมกันสานปณิธานคุณหมอ ผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด คืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยให้สำเร็จ

พ.ร.บ.อากาศสะอาด คืออะไร

ที่ประชุม ครม. (28 พ.ย. 66) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... เป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่

ตลอดจนการมีเครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ระบุ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นเรื่องหนึ่งที่จะผลักดันเข้าสภาในการเปิดสมัยประชุมนี้ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการในส่วนของรัฐบาลแล้ว แต่ยังต้องดูความเหมาะสมว่าจะมีการเพิ่มจำนวนบุคลากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปหรือไม่

ทั้งนี้ทั้งนั้น "เรา" ซึ่งเป็นหนึ่งในประชากรของประเทศนี้ ก็หวังว่า "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" จะเป็นส่วนช่วยให้เราได้อยู่ในประเทศที่มีอากาศดีปราศจากมลพิษเช่นกัน.

SHARE

Follow us

  • |