- เปิดความสำคัญ "วันทะเลโลก" หวังเรียกร้องให้คนทั่วโลกร่วมกัน "อนุรักษ์ทะเล"
- ต้องตระหนักถึงปัญหา "ขยะในทะเล" อย่างจริงจัง พร้อมปลุกจิตสำนึกผ่านกิจกรรมต่างๆ
- 5 วิธี แก้ปัญหาการทิ้ง "ขยะพลาสติก" ลงสู่ท้องทะเล
เมื่อพูดถึง "วันทะเลโลก" หรือ "วันมหาสมุทรโลก" (World Ocean Day) ได้กำหนดขึ้นในคราวการประชุมสุดยอดระดับประเทศผู้นำว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCEN) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 โดยประเทศสมาชิกกว่า 178 ประเทศ รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ส่งต่อไปยังประชาชนทั่วโลกผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกช่วยกันปกป้องและรักษาทะเล จนกระทั่งปี 2551 องค์การสหประชาชาติ จึงกำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันทะเลโลก โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2552 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในการดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งต่อมาทั่วโลกก็ได้กำหนดให้วันที่ 27 กันยายน 2565 เป็นวันทะเลโลกด้วยเช่นกัน
ความสำคัญ "วันทะเลโลก"
ในอนาคตทั่วโลกจะต้องเผชิญผลกระทบจากทะเลอย่างหนัก ซึ่งทาง UN เรียกร้องทั่วโลกให้อนุรักษ์ทะเล และหากมีการใช้ทรัพยากรทางทะเลจนหมด จะทำให้เกิดผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยทางทะเล การตกงานของชาวประมง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หลังพบว่า ขยะในทะเล ส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสร้างความเสียหายให้กับเรือและเครื่องมือประมงตลอดจน ส่งผลต่อจำนวนสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับบาดเจ็บ
จากการกินขยะพลาสติกทำให้ติดบริเวณทางเดินอาหาร ส่งผลให้สัตว์ทะเลต้องตายเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการรณรงค์ และกระตุ้นคนไทยให้หันมาอนุรักษ์ท้องทะเลไทย เนื่องในวันทะเลโลก เพราะจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าปัญหาในท้องทะเลส่วนใหญ่มาจากขยะพลาสติกตามทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ทั้งนี้ จะต้องตระหนักถึงปัญหาขยะในท้องทะเลอย่างจริงจัง และหยุดพฤติกรรมดังกล่าว การปลุกจิตสำนึกผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ประสบความสำเร็จเพราะประชาชนส่วนยังคงใช้ถุงพลาสติกในการใส่อาหาร จึงต้องการให้ทุกคนถือเอาวันทะเลโลก เป็นจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์ หวงแหนท้องทะเลไทย และการแก้ไขปัญหาขยะในท้องทะเลที่ผ่านมา
การศึกษาการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลทางกายภาพ และทรัพยากรทางทะเลทางชีวภาพตลอดจนระบบนิเวศ โดยเป็นการป้องกันและรักษาระบบนิเวศในมหาสมุทรและทะเล ผ่านการจัดการตามแผนเพื่อป้องกันการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ การอนุรักษ์ทางทะเลเป็นผลมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมของเรา เช่น การสูญพันธุ์ การทำลายถิ่นฐานธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การจำกัดความเสียหายของมนุษย์ต่อระบบนิเวศทางทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เสียหาย และรักษาสายพันธุ์ที่อ่อนแอ ตลอดจนระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตทางทะเล การอนุรักษ์ทางทะเลเป็นระเบียบวินัยที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อประเด็นทางชีววิทยา เช่น การสูญพันธุ์ และที่อยู่อาศัยใต้ทะเลที่เปลี่ยนไป
แนวทางแก้ปัญหา การทิ้ง "ขยะพลาสติก" ลงสู่ทะเล
1. การรณรงค์ ร่วมกันเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน เพื่อลดปริมาณขยะลงสู่ทะเล
2. ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้ถ้วย จาน และหลอดกระดาษ ใช้โฟมชานอ้อย หรือใบตองในการห่ออาหาร
3. รีไซเคิล นำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่านำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle และ Reuse)
4. ติดตั้งทุ่นดักขยะ ในบริเวณคลองท่อระบายน้ำโดยใช้ตาข่ายและอวน หรือแห ดักขยะ จากบริเวณปากแม่น้ำหรือปากคูคลองระบายน้ำป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดไหลลงทะเล
5. เผาทำลายอย่างถูกวิธี เผาทำลายเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เตาเผาขยะที่ถูกหลักวิชาการและนำพลังงานมาผลิตกระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม "วันทะเลโลก" นอกจากจัดขึ้นเพื่อให้ชาวโลกได้เห็นถึงความสำคัญ และช่วยกันปกป้องรักษาทะเลแล้ว ยังต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการไม่ทิ้งขยะลงทะเล รวมทั้งไม่ทำลายสัตว์ทะเล เพื่อให้ท้องทะเลคงความสวยงามตลอดไป.