รู้จัก "อุทยานวิทยาศาสตร์" มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากห้องแล็บและงานวิจัย ไปสู่นวัตกรรมช่วยมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จุดกำเนิดของอุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ Science Park มีจุดเริ่มต้นมาจากกระบวนการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า Research, Technology & Innovation (RTI) ซึ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสหรัฐฯ ให้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ช่วยสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วน

ขณะเดียวกัน ยังทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการสร้างคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม พร้อมกับภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมีการผลักดันและสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไก การดำเนินงานในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การจัดตั้ง Science Park ขึ้นมา จากนั้นจึงเกิดการกระจายแนวคิดนี้ไปยังหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยเองเราก็มี Science Park ที่เรียกว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ หรือนิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการผสานรวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science & Technology & Innovation : STI) เข้าด้วยกัน โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research Development Innovation : RDI) เป็นแกนหลักในการดำเนินงานซึ่งมีที่มาจากการวิเคราะห์ Model ของต่างประเทศมาอย่างเข้มข้น

โดยเราพบว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศอื่นๆ มักมีขนาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และมีทรัพยากรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศจึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้าง University Science Park ภายในประเทศขึ้นมา โดยนำทรัพยากรจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิจัย เครื่องมือวิจัย องค์ความรู้ และงานวิจัยต่างๆ มาพัฒนาหรือปรับปรุงไปสู่กระบวนการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

...

ทั้งนี้ เพื่อทางเศรษฐกิจ โดยจุดสูงสุดที่มหาวิทยาลัยจะสามารถพัฒนาไปได้ คือ การมีห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และต่อยอดไปสู่โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ซึ่งจำเป็นต้องทดสอบสมมติฐานและตรวจสอบตลาดก่อนว่าผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ หรือที่เรียกว่าการทำ Market Validation นั่นเอง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับอุทยานวิทย์ฯ มช. และบทบาทการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภาคเหนือให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น เราต้องย้อนกลับมาที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ STeP)

นอกจากการทำหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เรายังเป็นฐานให้กับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (Regional Science Park, North : RSP North) ในระดับภูมิภาคอีกด้วย ปัจจุบัน STeP ทำหน้าที่ในการสร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ (Value Chain) ให้มีความเข้มแข็งมากที่สุด

"เราเชื่อว่าถ้าเกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรมขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ตาม เราต้องทำหน้าที่เพิ่มช่องทางและสร้างกำไร ด้วยการขยาย Value Chain ให้ได้ยาวมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดตั้งแต่ซัพพลาย (Supply) ไปจนถึงปลายดีมานด์ (Demand) มากที่สุด จึงจะทำให้สามารถอัปสเกลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจได้อย่างยั่งยืน"

ด้วยสาเหตุนี้ เราจึงได้รับโอกาสในการพัฒนาแผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor :NEC Master Plan) ในการเชื่อมโยงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เพื่อก่อให้เกิดเครือข่ายทางเศรษฐกิจในลักษณะ Corridor ที่พร้อมต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด BCG Economy

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ จำเป็นต้องมีการจัดตั้งรูปแบบองค์กรที่หลากหลาย ทั้งวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจ SMEs และ Startup ที่มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในการผลิตสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่ง STeP มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่มีอยู่แล้ว

พร้อมช่วยพัฒนาและขยายธุรกิจให้เติบโตใหญ่ขึ้น ส่วนธุรกิจที่ยังไม่มี เราจะนำมาบ่มเพาะและพัฒนาให้เป็น Startup Company โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผสานกับการพัฒนาธุรกิจที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง Value Chain ที่แข็งแกร่งต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุทยานฯ ได้เข้าสู่ระยะที่ต้องการขยับขยาย เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของสตาร์ทอัพในเครือข่ายให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงต้องพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ให้สามารถสร้าง New S-Curve ด้วยนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะทำตลาดให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก (Global Market) เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่า จะมีสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจัดเตรียมพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาทดลองและพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยให้สามารถสร้างและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึง 7,000 ล้านคน แทนที่จะจำกัดอยู่เพียง 70 ล้านคน

"หากในวันนี้ไม่มีอุทยานวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่มีตัวเชื่อมโยงทุกภาคส่วน แน่นอนว่า ประเทศชาติของเรายังต้องเหนื่อยอีกมากเพราะไม่ได้ร่วมมือทำงาน ทั้งในการสร้างความทันสมัยและพัฒนาสินค้าที่จะก่อให้เกิด GDP ของประเทศ รวมถึงการต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในอนาคต โดยต้องนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ ประเทศไทยจะขาดการรวมบุคลากรที่มีมุมมองทางการค้าในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดขึ้นได้ยาก เห็นได้ชัดว่า หากเราต้องการทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประเทศของเราจำเป็นต้องมีอุทยานวิทยาศาสตร์ และหากไม่มี GDP ของประเทศจะไม่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้"