วิกฤติหมอกควันมลพิษ คนป่วยเข้า รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ แล้วกว่า 3 หมื่นคน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน ชี้เสี่ยงมะเร็ง-ทารกคลอดก่อนกำหนด แนะประชาชนดูแลสุขภาพขั้นสูงสุด
วันที่ 19 มี.ค. 2567 มีรายงานว่า มีการเผยแพร่สารจาก ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แสดงความห่วงใยสุขภาพประชาชนในภาคเหนือ หลังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานมาแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ คนป่วยจากฝุ่นควันแล้วกว่า 3 หมื่นคน เพิ่มจากปีก่อนเท่าตัว
โดยสารที่เผยแพร่ระบุว่า “จากสถานการณ์วิกฤติหมอกควันมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนาน โดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปางจังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
...
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM 2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ
ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง และในระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกตายในครรภ์ พัฒนาการหลังคลอดไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของระบบการหายใจและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย มีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน และโรคถุงลมโป่งพอง โดยอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น หรือเกิดการกำเริบเฉียบพลัน ขอให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม สังเกตอาการ หากมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีการควบคุมโรคแย่ลง มีอาการกำเริบรุนแรง ขอให้รีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที
บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองไม่เผาทั้งในบ้านและในที่โล่งแจ้ง ติดตามระดับฝุ่น PM 2.5 หากระดับฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใส่อุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน PM 2.5 ชนิด N95 โดยให้อยู่นอกอาคารให้สั้นที่สุด ให้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปิดหน้าต่างและประตูอย่างมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพ.