พารู้จัก คณะครุศาสตร์ สาขาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใครอยากเข้าเรียนต้องเตรียมตัวอย่างไร จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง
ในช่วงของการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย น้องๆ หลายคนที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นครู โดยเฉพาะ Dek67 ที่กำลังมองหาสาขาที่น่าสนใจกันอยู่ "ไทยรัฐออนไลน์" ขอแนะนำให้รู้จักกับ สาขาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่น่าสนใจ สามารถต่อยอดได้หลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ครูแนะแนว ซึ่งมีหน้าที่ดูแล ให้คำปรึกษา หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน รวมไปถึงส่งเสริมเรื่องการศึกษา, นักจิตวิทยาโรงเรียน สนับสนุนความสามารถในการเรียนของนักเรียนและความสามารถในการสอนของครูในโรงเรียน
รวมไปถึง นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ที่จะต้องสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึก เพื่อให้บุคคลนั้นสามารถเข้าใจปัญหาของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
จุดเริ่มต้นของ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
สำหรับประวัติความเป็นมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2439 มีชื่อว่า "โรงเรียนราชวิทยาลัย" ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูในจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มีชื่อว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก"
จากนั้นใน พ.ศ. 2449 โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก เรียกชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนฝึกอาจารย์ฝั่งตะวันตก" และต่อมาเรียกว่า "โรงเรียนฝึกอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา" และระหว่างปี พ.ศ. 2446-2458 โรงเรียนฝึกอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ยุบกลายเป็น "โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา"
...
กระทั่งในปี พ.ศ. 2484 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ผลิตครูมากขึ้น จึงให้เปิดสอนแผนกฝึกหัดครูมีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" ต่อมาได้ยกฐานะเป็น "วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" และในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "สถาบันราชภัฏ" เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ แทนชื่อวิทยาลัยครู วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" จนกระทั่งใน พ.ศ. 2547 สถาบันได้รับการสถาปนาเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา"
จากการสอบถาม อาจารย์ ดร.ภาวศุทธิ อุ่นใจ อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ในปัจจุบันคณะครุศาสตร์ มีหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (4 ปี) ที่สังกัดคณะครุศาสตร์ จำนวนทั้งสิ้น 8 สาขาวิชา ดังนี้
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประถมศึกษา
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการวัดประเมินและวิจัยทางการศึกษา
สำหรับ สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี เพื่อผลิตบัณฑิตครุศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 คือหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา แบ่งเป็น 2 แขนง คือ จิตวิทยาแนะแนว และสาขาจิตวิทยาประยุกต์ มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยตลอดมา จนกระทั่งปัจจุบัน เปิดสอนในหลักสูตร ครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว (ค.บ.หลักสูตร 4 ปี) โดยมีเป้าประสงค์ในการผลิตบัณฑิตครูทางจิตวิทยาและการแนะแนว
โดยหลักสูตรมีระยะเวลาเรียน 4 ปี เป็นการเรียนรู้ทางวิชาการ ในชั้นปีที่ 1-3 และในชั้นปีที่ 4 จะเป็นการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา เพื่อการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
การฝึกประสบการณ์วิชาชีพในคณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
อาจารย์ ดร.ภาวศุทธิ อุ่นใจ กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรครุศาสตร์ของเรา เน้นในการฝึกให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในโรงเรียนอย่างเข้มข้น
โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จะมีกิจกรรมรอบรู้งานครู เข้าไปสังเกตเรียนรู้การทำงานของครูในโรงเรียน และบริบทต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงการทำงาน บริบทสังคม วัฒนธรรมที่มีความเปลี่ยนแปลง
ในชั้นปีที่ 2 เป็นการฝึกปฏิบัติวิชาชีพครูในสถานศึกษา ในขั้นนี้เป็นขั้นที่นักศึกษาจะต้องเข้ามาสังเกตการณ์สอนของคุณครูพี่เลี้ยงในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งนักศึกษาจะต้องสังเกตและสรุป รวมไปถึงจดบันทึกในหัวข้อและประเด็นต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการทำงานในวิธีการสอน แผนการสอน วิธีการสอนการจัดกิจกรรม หรือการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และนำมาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ชั้นปีที่ 3 การฝึกปฏิบัติวิชาชีพครูในสถานศึกษา หลังจากที่เราได้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระดับชั้นปีที่ 2 ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในตัวแผนการสอนการจัดกิจกรรมบริบทต่างๆ ของโรงเรียนแล้ว ในขั้นนี้นักศึกษาจะต้องลงมือปฏิบัติการสอนเอง โดยนักศึกษาจะต้องส่งแผนการสอนให้ครูพี่เลี้ยงตรวจสอบแผนการสอน รวมทั้งออกแบบกิจกรรมให้มีความสอดคล้องต่อหลักสูตรสถานศึกษา และสอดคล้องต่อหลักสูตรแกนกลาง มีความต่อเนื่องจากการเรียนการสอนของครูพี่เลี้ยง เพื่อให้การสอนมีความลื่นไหล เป็นไปดังหลักสูตรแกนกลาง และหลักสูตรสถานศึกษา
ในขั้นนี้นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ในการสอนอย่างเต็มที่จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยมีครูพี่เลี้ยงคุณครูประจำวิชาและอาจารย์นิเทศคอยให้คำปรึกษาทั้งเทคนิคการสอนและรูปแบบการสอน รวมไปถึงกิจกรรมที่มีความน่าสนใจ สอดคล้องกับความทันสมัยในยุคปัจจุบัน
และในชั้นปีที่ 4 การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายคือ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพเต็มรูปแบบ โดยให้นักศึกษาอยู่ทำการสอนเต็มรูปแบบในสถานศึกษา 1 ปีเต็ม เพื่อให้ได้ประสบการณ์ในการสอนและความรู้ต่างๆ อีกมากมาย เช่น นักศึกษาจะต้องมีไหวพริบปฏิภาณในการสอน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานและภาระงานอื่นที่นอกเหนือจากการสอน ไม่ว่าจะเป็น การยืนเวร การเป็นครูประจำชั้น การดูแลงานที่ได้รับมอบหมายต่างๆ ในหมวดหมู่ที่ทางโรงเรียนได้จัดไว้
ตัวอย่างเช่น ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนฝ่ายวิชาการ งานบุคคล งานอาคารสถานที่และงบประมาณ ที่นักศึกษาจะต้องศึกษาหาความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีความสามารถในการไปเป็นครูผู้ช่วยที่มีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป
กิจกรรมที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?
นายธีรภัทร์ สิงขรรักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า กิจกรรมของนักศึกษามีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย ทั้งกิจกรรมวิชาการและส่งเสริมพัฒนาสังคม อาทิ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมค่ายอาสาเพื่อร่วมกันพัฒนาโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้นักศึกษาจะได้ฝึกกระบวนการทำงาน และยังสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นครู ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
อย่างไรก็ตามในสาขาจิตวิทยาและการแนะแนว ได้มีการจัดกิจกรรมให้กับนักศึกษา อาทิ กิจกรรมกีฬาสีภายในสาขาจิตวิทยาและการแนะแนว กิจกรรมบ่มเพราะอัตลักษณ์ความเป็นครู ซึ่งในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกัน โดยในปี 2566 ได้จัดประกวด เดือน ดาว ดาวเทียมประจำสาขาจิตวิทยาและการแนะแนว รวมไปถึงยังเป็นการจัดกิจกรรมแสดงวัฒนธรรมสี่ภาค เพื่อให้นักศึกษาสาขาจิตยาและการแนะแนว มีความรู้ความเข้าใจในความหลากหลายในภูมิภาค ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการเป็นครูแนะแนวที่ดี ที่จะต้องเข้าใจการเป็นครูและต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่เกี่ยวข้องกันทั้งวัฒนธรรม ความรู้ความเข้าใจ รูปร่างและหน้าตา รวมไปถึงบุคลิกภาพ
ประสบการณ์จริงจากรุ่นพี่
จากการสอบถาม นางสาวภัทรียา ใยมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ตนเองมีความฝันอยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก แต่ยังไม่รู้ว่าอยากเป็นครูสอนอะไร จนได้ดูละครไทยเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนักจิตวิทยาโรงเรียน จึงเล็งเห็นปัญหาของเด็กนักเรียนไทยในปัจจุบันมากขึ้น ประกอบกับช่วง ม.6 มีความสนใจในจิตวิทยา จึงได้ค้นหาข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยใดบ้างที่เปิดสอนเกี่ยวกับครุศาสตร์ เอกแนะแนว จากนั้นจึงตัดสินใจยื่นคะแนนสอบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
"หลังจากเข้ามาเรียนแล้วพบว่า อาจารย์น่ารักเป็นกันเอง คอยให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำกับนักศึกษา รุ่นพี่รุ่นน้องต่างช่วยเหลือกัน ให้เกียรติและเคารพกัน เวลามีกิจกรรมในสาขา ทุกชั้นปีจะร่วมกันจัดกิจกรรม ทำให้ทำงานร่วมกันอยู่ตลอด โดยเฉพาะกีฬาสีสาขาที่ได้สร้างสัมพันธ์ทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ เพื่อนๆ ในสาขา"
สำหรับประสบการณ์ ในช่วงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพเต็มรูปแบบของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์จริง และรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ในปัจจุบันเด็กเป็นโรคซึมเศร้า และสมาธิสั้นกันเยอะมาก อาจต้องให้เด็กได้อยู่กับตนเอง พยายามจัดสภาพแวดล้อมที่รบกวนสำหรับเด็ก อีกเคสหนึ่งที่พบมาก คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เวลาสอนอาจจะต้องมีแผนการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ความสามารถนักเรียนแต่ละคน
จบแล้วสามารถประกอบอาชีพใดได้บ้าง?
นางสาวภัทรียา กล่าวว่า เป้าหมายของหลักของหลักสูตร คือ ครูผู้สอนจิตวิทยาและการแนะแนว แต่ก็สามารถประกอบวิชาชีพอื่นๆ ได้เช่นกัน อาทิ นักวิชาการทางด้านจิตวิทยาและการแนะแนว หรือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐและเอกชนด้านจิตวิทยา
แต่หากถามตนเอง ตอนนี้พอมองเห็นปัญหาของเด็กแล้ว ดังนั้นความฝันที่สามารถเป็นได้จริงมากที่สุดก็คือ อาชีพครูแนะแนว หรืออาจจะทำงานทางด้านจิตวิทยาเด็กไปเลย แต่ตอนนี้มีอีกอาชีพที่กำลังสนใจ คือ นักจิตวิทยาโรงเรียน
ผู้ที่สนใจเรียนสาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ ควรมีเป้าหมายที่แน่ชัดในความตั้งใจประกอบวิชาชีพครู มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู และหากมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำกิจกรรมนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor) จะยิ่งทำให้เห็นว่านักเรียนที่สนใจเรียนในสาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนวนี้ มีทักษะในการสื่อสาร มีความสามารถในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเพื่อน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเบื้องต้น และสำหรับการสอบควรมีการเตรียมการสอบกลุ่มวิชา PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครูด้วย
"สุดท้ายนี้ อยากให้น้องๆ เตรียมตัวในการเป็นครูแนะแนว เพราะหลายคนอาจคิดว่าการเป็นครูแนะแนวสบาย แต่ที่จริงแล้วต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบริการครอบคลุม ได้แก่ อาชีพ การศึกษา บุคคล สังคม และต้องคอยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหากับนักเรียนอีกด้วย"