รู้จัก OBEC Share Together แนวทางลดภาระการประเมินสถานศึกษา ของ สพฐ. หวังแบ่งเบาภาระครู มุ่งสู่องค์กรแห่งความสุข ด้วยกระบวนการ "3L Model"
จากนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2567-2568 ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาทุกมิติอย่างเสมอภาค โดยเน้นให้ผู้เรียน "เรียนดี มีความสุข" ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ประจำปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อ 4 ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา
ตามแนวคิด OBEC Share Together ด้วยกระบวนการ "3L Model" โดยมีการดำเนินการลดภาระในภาพรวม สพฐ. พร้อมกันทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ สำนักส่วนกลาง/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)/สถานศึกษา
L - Load (ภาระงาน) :
- ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลภาระงานของหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอก สพฐ. ที่เป็นภาระการรายงาน/ ประเมินของ สพท./สถานศึกษา
...
L - Lighten (ลดภาระ) :
- กําหนดรูปแบบ/แนวทางการลดภาระการประเมิน ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่
L - Level (หน่วยงานใน สพฐ.) :
ขับเคลื่อนลดภาระการประเมินของสถานศึกษาด้วยกระบวนการ 3L พร้อมกันทั้ง 3 ระดับ (3 Level) คือ สํานักในส่วนกลาง สพท. และสถานศึกษา ดังนี้
- ศึกษา วิเคราะห์ โครงการ/กิจกรรมที่เป็นภาระของสถานศึกษาและครู
- กําหนดแผนการดําเนินงานลดภาระตามแนวทาง ของ สพฐ.
- ส่งเสริม สนับสนุน และกํากับ ติดตามการดําเนินงาน
ทั้งนี้ สพฐ. ได้จัดทำแบบสำรวจ OBEC POLL สำรวจความคิดเห็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศที่มีต่อภาระงานนอกเหนือจากการเรียนการสอน ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. 2566 พบว่าภาระงานครูที่เกิดจากการรายงานประเมิน ประกวดแข่งขัน และภาระงานอื่นๆ จากหน่วยงานภายใน สพฐ. มีจำนวนมากถึง 441 เรื่อง และจากภายนอก สพฐ. มีจำนวน 274 เรื่อง
ซึ่งทาง สพฐ. จัดทำแนวทางในการลดภาระการประเมินสถานศึกษาในระดับ สพฐ. ภายใต้แนวคิด "OBEC Share Together" โดยตั้งเป้าหมายความสำเร็จให้สำนักทุกสำนักใน สพฐ. มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อลดภาระงานตามแนวทาง 6ล ดังนี้
1. ลด/เลิก โครงการ/กิจกรรม/ตัวชี้วัดที่มีความซ้ำซ้อนและมีผลลัพธ์ (outcome) เดียวกัน โดยบูรณาการเรื่องที่มีลักษณะคล้ายกันใช้ข้อมูลร่วมกัน
2. ลด ปริมาณข้อมูลที่จัดเก็บ/ประเด็นที่ประเมิน โดยเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็น
3. ลด/เลิก การเก็บข้อมูลจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/สถานศึกษา ในกรณีที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบหรือข้อมูลสารสนเทศของสำนักในส่วนกลางแล้ว เพื่อลดภาระการกรอกข้อมูลหลายครั้ง กรอกครั้งเดียวแต่สามารถใช้ได้หลายงาน
4. ลด/เลิก การรายงานในรูปแบบกระดาษ/การเขียนด้วยลายมือ และให้รายงานผ่านระบบออนไลน์
5. ลด/เลิก การจัดเตรียมการเพื่อรองรับการติดตามและประเมิน โดยลดการจัดเตรียมเอกสาร จัดสถานที่ การจัดนิทรรศการ การแสดงของนักเรียน ฯลฯ
6. ลด ความซ้ำซ้อน/ความถี่ของการติดตาม ประเมินผล ดังนี้
6.1 ลดการลงพื้นที่เชิงประจักษ์ และ/หรือจัดช่วงเวลาลงไปพร้อมกัน
6.2 ใช้รูปแบบการกำกับ ติดตามด้วยระบบออนไลน์
6.3 ทบทวน ปรับปรุง กระบวนการเก็บข้อมูล การติดตาม ประเมินผลจากส่วนกลางและกำหนดปฏิทินทั้งปีในภาพรวมของ สพฐ. แล้วแจ้งสำนักในส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษาทราบ เพื่อให้ทราบกำหนดการ และมีเวลาในการจัดเตรียมข้อมูลรับการติดตามและประเมินผล
อย่างไรก็ตาม สพฐ. จะมีการกำกับติดตามให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขับเคลื่อนตามแนวทางของ สพฐ. และส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาดำเนินการลดภาระการประเมินตามบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป