สาวถามโซเชียล หลังเจอแมลงบินเข้ามาในบ้าน เสียงร้องเหมือนจักจั่นแต่ตัวใหญ่กว่ามาก คนแห่แสดงความคิดเห็นให้คำตอบเพียบ

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กPhanida Pupanthong ได้โพสต์ภาพสัตว์ชนิดหนึ่งสอบถามในกลุ่ม งูไทย...อะไรก็ได้ all about Thailand snakes โดยระบุว่า น้องบินมาในบ้าน เสียงร้องเหมือนจักจั่นเลยค่ะ น้องคือตัวอะไรหรอคะ แถวนี้เรียกแมงโตด พอไปค้นในกูเกิล ไม่เจอเลยค่ะ ทำให้ต่อมามีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก 

ขณะเดียวกันยังพบว่า มีคนแชร์โพสต์ดังกล่าวเข้าไปสอบถามในกลุ่ม siamensis.org ซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดคุยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคนเข้ามาตอบว่า เป็นจักจั่นเรไร ทางภาคอีสานเรียกว่า แมงง่วง ร้องเสียงดัง มีขนาดตัวใหญ่กว่าจักจั่นปกติ 3 เท่า

จากการสอบถาม เจ้าของโพสต์ เปิดเผยว่า ตนพบจั๊กจั่นเรไร ที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ช่วงประมาณ 2 ทุ่ม กำลังจะปิดบ้านเข้านอน เห็นแมลงบินมา ตอนแรกนึกว่านก พอมันชนหลังคาแล้วตกลงมา เลยไปจับดู เสียงร้องเหมือนจั๊กจั่น แต่ส่วนตัวเคยเห็นจั๊กจั่น ขนาดตัวไม่ใหญ่ขนาดนี้ เลยลองถามคนพื้นที่ เขาบอกว่า ชื่อ แมงง่วง พอเอาชื่อไปคนในกูเกิ้ลก็ไม่เจอ คนพื้นที่บอกว่า เขาก็เจอบ้าง แต่ไม่เคยเจอตัวใหญ่ขนาดนี้ ตอนแรกจะเลี้ยง แต่ไม่รู้จะหาอะไรให้กิน เลยปล่อยไปตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว

...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า คนทั่วไปอย่างเราๆ คงจะเคยได้ยินคำว่า "หรีดหริ่งเรไร" อยู่ในสำนวนเขียนหรืออยู่ในบทกวี ซึ่งที่มานั้น คำว่า "หรีด" กร่อนมาจากคำว่า จิ้งหรีด หรือ จังหรีด / ขณะที่คำว่า "หริ่ง" หมายถึง เสียงร้องของเรไร

ส่วนคำว่า "เรไร" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยามว่าคือ ชื่อจักจั่นสีนํ้าตาลหลายชนิดในสกุล Pomponia, Tosena และสกุลอื่นๆ ในวงศ์ Cicadidae ส่วนใหญ่ตัวค่อนข้างโต ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษทําให้เกิดเสียงสูงและตํ่ามีกังวานสลับกันไปได้หลายระดับ ชนิดที่โตที่สุดซึ่งพบได้ง่ายในประเทศไทย คือ ชนิด P. intermedia

เลยขอเอาข้อมูลที่อาจารย์ จารุจินต์ นภีตะภัฏ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เคยเขียนอธิบายลักษณะของ "เรไร" และที่มาของชื่อ "แมงง่วง" ไว้ มาให้อ่านกัน ดังนี้ครับ

เรไร (imperial cicada) เป็นแมลงกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์จักจั่น (Cicadidae) เช่นเดียวกับจักจั่นแม่ม่ายลองไน แมลงอี๋ ฯลฯ เป็นแมลงที่มีปากดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ และมีปีกใส มีเส้นปีกเป็นโครงร่างมากมาย ทั้งปีกคู่หน้าและปีกคู่หลัง จึงจัดอยู่ในอันดับโฮมอพเทอรา (Homoptera) 

ส่วนใหญ่จัดอยู่ในสกุล Pomponia ส่วนน้อยที่เหลืออยู่ในสกุล Tosena, Cryptotympana และ Platylomia ชนิดที่พบบ่อยๆ ในประเทศไทย มีชนิด Pomponia intermedia, P. fusca และ P. lactea [เข้าใจว่า ชื่อสกุล Pomponia จะเปลี่ยนเป็นสกุล Megapomponia แล้วในปัจจุบัน - อาจารย์เจษฎ์]

เรไรมีลำตัวยาว 35-65 มิลลิเมตร และปีกทั้งสองแผ่ออกกว้างถึง 80-176 มิลลิเมตร จึงมีลักษณะที่เด่นต่างออกมาจากจักจั่นสกุลอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย 

สีลำตัวส่วนใหญ่ เป็นสีน้ำตาลอมเขียว หัวกว้างไล่เลี่ยกับส่วนอก ตาเดี่ยว (ocelli) อยู่รวมกันเป็นกระจุก 3 ตา ตรงกลางหน้าผาก ด้านหลังของอกปล้องแรก มีขอบด้านข้างแบนยื่นออกไป ส่วนท้องมี 6 ปล้อง ซึ่งส่วนท้องของตัวผู้ยาวกว่าความยาวของหัวรวมส่วนอก เฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่มีอวัยวะสำหรับทำเสียงและมีแผ่นปิดอวัยวะนี้ ลักษณะสั้นและวางตัวตามแนวขวาง ปากดูดเวลาไม่ใช้งานจะสอดเข้าไปใต้ส่วนหัว โดยมีปลายปากยาว เลยโคนขาคู่ที่สามออกไป โคนขาคู่หน้ามักพองโตออกและมีหนามขนาดใหญ่อยู่ข้างใต้

เรไรมีเสียงร้องที่ดังกว่าจักจั่นชนิดอื่นๆ มาก เมื่อฟังดูจะคล้ายกับเสียงเลื่อยวงเดือนกำลังเลื่อยไม้ เสียงดัง ว้าง-ว้าง-ว้าง เป็นจังหวะ ไปเรื่อยๆ นานประมาณ 30-45 วินาทีจึงหยุด ประมาณ 10-20 วินาที จึงเริ่มต้นส่งเสียงอีกครั้งหนึ่ง 

เวลาที่เรไรส่งเสียงคือตอนพลบค่ำเวลา 17.00-18.00 นาฬิกา แต่ต้องไม่มีฝนตกในช่วงเวลานี้ และอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มร้องเวลา 17.30 นาฬิกา จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "แมงง่วง" เพราะได้เวลาเลิกงาน เตรียมตัวกลับบ้านได้แล้ว (อ้างอิงถึง ลิงก์ แต่ปัจจุบันไม่อาจจะกดเข้าไปดูได้แล้ว)

เพิ่มเติมว่า ในเพจ "แมลงใกล้สูญพันธุ์" ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "จักจั่นเรไรเขียว" หรือ Megapomponia intermedia เอาไว้ด้วยดังนี้ครับ

ชื่อแมลง : จักจั่นเรไรเขียว

ชื่อทั่วไป : จักจั่นเรไรเขียว

ชื่อสามัญ : Intermediate Imperial Cicada

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megapomponia intermedia (Distant)

ลักษณะทั่วไป : ลำตัวยาว 55-68 มิลลิเมตร หัวและอกสีเขียวสลับสีน้ำตาล ตาโปนใหญ่ สีเขียว ตาเดี่ยวที่อยู่ด้านหน้า สีแดง อกด้านบนมีแถบสีดำรูปสามง่าม ท้องสีน้ำตาลเคลือบไว้ด้วยฝุ่นแป้งสีขาว ปีกใส เส้นปีกสีเขียว ปลายปีกมีจุดสีดำเรียงกัน ขาสีน้ำตาล หนวดแบบเส้นขน ปากแบบเจาะดูด ปีกแบบ (tegmina) คล้ายแผ่นหนังบางเป็นเนื้อเดียวตลอดปีกเหนียว ไม่เปราะ ปีกคู่หลังเนื้อบางแบบ (membrane) ขาเดิน ตารวม

ถิ่นอาศัย : พบเกาะอยู่บนต้นไม้

ประโยชน์ : เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์